คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 227/2532

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญายกที่ดินมีโฉนดให้โจทก์ และรับรองว่าจะกระทำการแบ่งแยกให้ในภายหน้า หากไม่แบ่งให้ตามสัญญายอมให้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญา ข้อสัญญาดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะยกที่ดินให้โจทก์โดยการทำนิติกรรมและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หาใช่เป็นกรณีสละการครอบครองไม่ เมื่อการให้รายนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมให้ก็ย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายการที่โจทก์เข้าครอบครองที่พิพาทจึงเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 อันเป็นการยึดถือที่พิพาทแทนจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นการยึดถือในฐานะเป็นเจ้าของ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังจำเลยว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่พิพาทแทนจำเลยต่อไป ลำพังแต่การที่โจทก์ต่อเติมขยายบ้านหลังเดิมให้กว้างขวางขึ้น ปลูกโรงมุงจาก 2 หลัง ทำรั้วกันสัตว์ และใช้ประโยชน์จากที่พิพาทโดยจำเลยไม่ห้ามปรามและไม่เข้ามาเกี่ยวข้องหาใช่เป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือไม่ ดังนั้น แม้โจทก์ครอบครองที่พิพาทติดต่อกันเป็นเวลาเกินสิบปี โจทก์ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ที่ห้ามฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาเป็นบทกฎหมายที่จำกัดสิทธิ ต้องตีความโดยเคร่งครัด จึงห้ามเฉพาะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายฟ้องบุพการีของตนเท่านั้น.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ขายที่ดินให้แก่นายผิน สงฆ์สาวก นายผินจดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์รวม ต่อมานายผินขายเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญายกกรรมสิทธิ์ทางด้านทิศตะวันออก เนื้อที่ 1 ไร่เศษให้แก่โจทก์โดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โจทก์เข้าครอบครองโดยสงบเปิดเผยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ให้โจทก์แต่จำเลยทั้งสามไม่ยอม ขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่เศษที่จำเลยที่ 1 ยกให้โจทก์เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งร่วมกันว่า โจทก์ได้ขายที่ดินและเรือนให้แก่นายผิน นายผินจดทะเบียนให้จำเลยที่ 2และที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์รวม โจทก์ขออาศัยอยู่ในเรือนดังกล่าวต่อมา หลังจากนั้นประมาณ 6 ปี นายผินได้ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนพร้อมเรือนให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์ยังคงอาศัยอยู่ในเรือนเป็นการชั่วคราว ก่อนฟ้องปีเศษ โจทก์พร้อมบุตรปลูกโรงมุงจากหลังเล็กๆ ลงในที่พิพาท จำเลยห้ามปรามโจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง จำเลยทั้งสามไม่ประสงค์ให้โจทก์และบริวารอาศัยอยู่ในเรือนต่อไป ขอให้บังคับโจทก์และบริวารออกจากเรือนที่พิพาทห้ามเข้าเกี่ยวข้อง ให้โจทก์รื้อถอนโรงมุงจากเล็กๆ รวม 2 หลัง ออกจากที่พิพาทด้วย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญายกกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่โจทก์โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์ได้ปลูกโรงเรือนถาวรและเข้าครอบครองอย่างเป็นเจ้าของตลอดมา ไม่ได้อาศัยจำเลยทั้งสาม จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรโจทก์ ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์และบริวารรื้อถอนโรงมุงจาก 2 หลัง ออกไปจากที่พิพาท ห้ามเข้าเกี่ยวข้องกับที่พิพาทอีก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เดิมที่ดินโฉนดที่ 8848 ตำบลบางจาน อำเภอเมืองเพชรบุรี (คลองกระแซง) (บ้านแหลม) จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 9ไร่ 3 งาน 57 วา เป็นกรรมสิทธิ์ของนางพุ่ม ละลุ วันที่ 1 กรกฎาคม 2489 โจทก์รับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าว และในวันเดียวกันนั้นโจทก์ได้จดทะเบียนขายให้แก่นายผิน สงฆ์สาวก นายผินได้จดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ถือกรรมสิทธิ์รวม ต่อมาวันที่ 30มิถุนายน 2496 นายผินได้จดทะเบียนขายเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญายกที่ดินเฉพาะส่วนของตนทางด้านทิศตะวันออกให้แก่โจทก์เป็นเนื้อที่ 1 ไร่ โดยจะจัดการแบ่งแยกให้ในภายหน้าโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินและเรือนซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินส่วนนั้นตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว
‘ปัญหามีว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามมาตรา 525 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า ‘การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่…’ ที่พิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด การโอนกรรมสิทธิ์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 4 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินหนังสือสัญญาให้ตามเอกสารหมาย จ. 6 ข้อ 1 มีความว่า ข้าพเจ้านางบุญ ทิพวรรณ (คือจำเลยที่ 1) ผู้ให้ สัญญายอมแบ่งที่ดินโฉนดที่ 8848 ตำบลบางจาน อำเภอเมืองเพชรบุรี (อำเภอบ้านแหลม) ซึ่งมีเนื้อที่รวม 9 ไร่ 3 งาน 57 วา และมีชื่อข้าพเจ้าถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับเด็กชายพร เด็กชายรำเพย (คือจำเลยที่ 2 และที่ 3) เฉพาะส่วนของข้าพเจ้าทางทิศตะวันออกให้แก่นายเพี้ยน(คือโจทก์) เป็นเนื้อที่ 1 ไร่ (หนึ่งไร่ถ้วน) ไม่มีสิ่งปลูกสร้างและข้าพเจ้ารับรองจะมาจัดการแบ่งแยกให้ในภายหน้า หากข้าพเจ้าไม่แบ่งให้ตามสัญญานี้ ยอมให้นายเพี้ยน ทิพวรรณนำสัญญานี้ขึ้นร้องฟ้องยังโรงศาลให้บังคับตามสัญญานี้ได้จากข้อสัญญาดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะยกที่พิพาทให้แก่โจทก์โดยการทำนิติกรรมและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หาใช่เป็นกรณีเจตนาสละการครอบครองไม่ จึงต้องบังคับตามบทกฎหมายดังกล่าว ฉะนั้น เมื่อการให้รายนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมให้ก็ย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย การที่โจทก์เข้าครอบครองที่พิพาทจึงเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 ตามคำอนุญาตของจำเลยที่ 1 อันเป็นการยึดถือที่พิพาทแทนจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นการยึดถือในฐานะเป็นเจ้าของ ตามทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏต่อมาว่าโจทก์เปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังจำเลยทั้งสามว่า ไม่เจตนาจะยึดถือที่พิพาทแทนจำเลยทั้งสามต่อไป ลำพังแต่การที่โจทก์ต่อเติมขยายบ้านหลังเดิมให้กว้างขวางขึ้น ปลูกโรงมุงจาก 2 หลัง ทำรั้วกันสัตว์ และใช้ประโยชน์จากที่พิพาทโดยจำเลยทั้งสามไม่ห้ามปรามและไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง หาใช่เป็นการบอกกล่าวไปยังจำเลยทั้งสามว่าโจทก์ไม่เจตนาจะยึดถือที่พิพาทแทนจำเลยทั้งสามต่อไปตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381บัญญัติไว้ไม่ ดังนั้น แม้จะฟังว่า โจทก์ครอบครองที่พิพาทติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 10 ปี โจทก์ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ฎีกาโจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์ได้หรือไม่นั้นเห็นว่า บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ที่ห้ามฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาเป็นบทกฎหมายที่จำกัดสิทธิ ต้องตีความโดยเคร่งครัด จึงห้ามเฉพาะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายฟ้องบุพการีของตนเท่านั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็เป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ต่อเมื่อโจทก์จำเลยที่ 1 ได้สมรสกันในภายหลังหรือโจทก์ได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 บัญญัติไว้เท่านั้น เมื่อไม่ได้ปฏิบัติตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังคงเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์จึงฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์ได้ไม่เป็นอุทลุม ฎีกาโจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว’
พิพากษายืน.

Share