คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 43/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บันทึกที่บริษัท ค. ทำกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ผู้ค้ำประกันบริษัทจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นเพียงข้อตกลงที่จะซื้อขายหุ้นกันไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าบริษัท ค. ตกลงรับโอนหนี้ของจำเลยที่ 1 หรือรับจะชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 และปรากฏจากรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญ ผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ก่อนที่จะมีการโอนขายหุ้นกันว่า จำเลยที่ 1 ประสบภาวะการขาดทุนเป็นอย่างมาก บริษัท ค. เพียงแต่จะให้ความร่วมมือทางการเงินเท่านั้น ทั้งเช็คที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 อ้างว่าบริษัท ค.ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ติดต่อกันทุกเดือน ก็ปรากฏว่าเป็นเช็คลงวันที่ก่อนที่จะมีการตกลงโอนหุ้นกันจึงไม่ใช่เช็คที่บริษัท ค. ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 แม้ต่อมาจะมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 จากฝ่ายจำเลยที่ 2 ที่ 3 มาเป็นกรรมการจากกลุ่มของบริษัท ค. ก็เป็นการดำเนินการของจำเลยที่ 1 สิทธิหน้าที่ตลอดจนความผูกพันของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อบุคคลภายนอกรวมทั้งโจทก์มีอยู่อย่างไร ก็คงมีอยู่ต่อไปตามเดิมหาได้เปลี่ยนแปลงไปไม่.ดังนี้ เมื่อบริษัท ค. มิได้ยอมเข้ามาเป็นลูกหนี้รับชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ถือว่ามีการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงยังคงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้กับโจทก์.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรมศุลกากรในการที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติจากกรมศุลกากรให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนเป็นเงิน 1,500,000 บาท จำเลยที่ 2ที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันผูกพันต่อโจทก์โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระเงินค่าภาษีอากรให้กรมศุลกากรได้ขอให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรจำนวน 570,180.56 บาท แทนไปก่อนโจทก์ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้หลายครั้ง แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปีถึงวันฟ้องจำนวน 635,977.77 บาท และให้ชำระดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวของต้นเงิน 570,180.56 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ก่อนชี้สองสถาน โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 เพราะศาลจังหวัดสมุทรสาครพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาด ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า เดิมจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการในบริษัทจำเลยที่ 1 ต่อมาบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทยจำกัด ซื้อหุ้นและรับโอนกิจการของจำเลยที่ 1 ไปโดยรับโอนไปทั้งสิทธิหน้าที่และหนี้สินที่มีอยู่ หนี้สินได้ระงับไปด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันรับผิดใช้หนี้จำนวน 570,180.56 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ15 ต่อปี
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาว่า บริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย จำกัด ได้รับโอนหนี้ของจำเลยที่ 1ไปทั้งหมดโดยโจทก์รู้เห็นยินยอมหนี้เดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ย่อมระงับไป เพราะเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 เมื่อหนี้ประธานระงับบรรดาหนี้อุปกรณ์ก็ย่อมระงับไปด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่าตามบันทึกการทำความเข้าใจระหว่างฝ่ายเตลาน (ฝ่ายจำเลยที่ 2 ที่ 3)ฝ่ายปีเตอร์สและบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย จำกัด เอกสารหมาย ล.3ที่ทำกันเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2522 ซึ่งฝ่ายจำเลยอ้างว่าเป็นบันทึกที่บริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย จำกัด ตกลงจะชำระหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นเพียงข้อตกลงที่จะซื้อขายหุ้นกันในระหว่างสามฝ่ายแต่ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นเลยว่าบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทยจำกัด ตกลงรับโอนหนี้ของจำเลยที่ 1 หรือรับจะชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1นอกจากนี้ปรากฏจากรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2523 ของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.16 ที่กระทำกันเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2523 ก่อนที่จะมีการโอนขายหุ้นกันว่าจำเลยที่ 1 ประสบภาวะการขาดทุนเป็นอย่างมาก บริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทยจำกัด เพียงแต่จะให้ความร่วมมือทางการเงิน ซึ่งก็ไม่มีข้อความใดแสดงว่าบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย จำกัด ตกลงจะชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 เช่นกัน การที่จำเลยที่ 1 ประสบภาวะการขาดทุนเป็นอย่างมาก ยิ่งไม่มีเหตุผลที่บริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย จำกัด ถึงกับจะเสนอตัวรับชำระหนี้แทนด้วย ทั้งบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย จำกัด ก็ได้ยื่นคำให้การเมื่อถูกเรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ว่าไม่เคยตกลงที่จะชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ส่วนที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 อ้างว่าบริษัทค้าสากลซิเมนตืไทย จำกัด ได้ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ติดต่อกันมาทุกเดือน ตามเช็คเอกสารหมาย ล.18 – ล.23 นั้นเช็คดังกล่าวเป็นเช็คลงวันที่ระหว่าง 6 กันยายน 2522 ถึงวันที่ 25ธันวาคม 2522 อันเป็นเวลาก่อนที่จะมีการตกลงโอนหุ้นกัน จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นเช็คที่บริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย จำกัด ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 อนึ่ง แม้ต่อมาจะมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 จากฝ่ายจำเลยที่ 2 ที่ 3 มาเป็นกรรมการจากกลุ่มของบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย จำกัด ก็เป็นการดำเนินการของจำเลยที่ 1อยู่นั่นเอง สิทธิหน้าที่ตลอดจนความผูกพันของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อบุคคลภายนอก รวมทั้งโจทก์มีอยู่อย่างไรก็คงมีอยู่ต่อไปตามเดิมหาได้เปลี่ยนแปลงไปไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า บริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย จำกัด มิได้ยอมเข้ามาเป็นลูกหนี้รับชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด จึงไม่ถือว่ามีการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ดังที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 อ้าง และเมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมให้มีการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้กับโจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาว่า สัญญาค้ำประกันไม่มีข้อความให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 18 ต่อปีนั้น ปรากฏว่าศาลล่างทั้งสองก็ได้กำหนดให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ชำระค่าดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share