คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11481/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นระบุว่า ศาลชั้นต้นได้แจ้งรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติให้จำเลยทราบ จำเลยไม่คัดค้านและลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าว จึงต้องถือว่าศาลชั้นต้นได้แจ้งข้อความตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติทั้งในส่วนที่เป็นผลดีและผลร้ายให้จำเลยทราบแล้ว และต้องถือว่ารายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติถูกต้องตรงกับความจริง ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงมีอำนาจที่จะหยิบยกเอาข้อความตามรายงานการสืบเสาะและพินิจดังกล่าวมาประกอบการใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำเลยได้ เพราะถือได้ว่าศาลได้แจ้งข้อความที่เป็นผลร้ายนั้นให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยไม่คัดค้านตาม พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตาม ป.อ. พ.ศ.2522 มาตรา 13

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 336 ทวิ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 39,936 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) ประกอบมาตรา 336 ทวิ (ที่ถูก มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83) จำคุกคนละ 3 ปี และปรับคนละ 15,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 7,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี คุมความประพฤติของจำเลยทั้งสองไว้ โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 ปี กับให้จำเลยทั้งสองกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยทั้งสองเห็นสมควรเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 39,936 บาท แก่ผู้เสียหาย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับ ไม่รอการลงโทษจำคุกและไม่คุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 นำข้อความตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติส่วนที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 มาประกอบดุลพินิจในการลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นการพิจารณาพิพากษาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้หยิบยกเอาข้อความตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติมาประกอบการใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำเลยที่ 1 ซึ่งตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2551 ระบุว่า ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นได้แจ้งรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่คัดค้านและลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวด้วย จึงต้องถือว่าศาลชั้นต้นได้แจ้งข้อความตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติทั้งในส่วนที่เป็นผลดีและผลร้ายให้จำเลยที่ 1ทราบแล้ว และต้องถือว่ารายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติถูกต้องตรงกับความจริงแล้ว ประกอบกับพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2522 มาตรา 13 บัญญัติว่า “ศาลมีอำนาจที่จะรับฟังรายงานและความเห็นของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา 11 โดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบ แต่ถ้าศาลจะใช้รายงานและความเห็นเช่นว่านั้นเป็นผลร้ายแก่จำเลยให้ศาลแจ้งข้อความที่เป็นผลร้ายนั้นให้จำเลยทราบ เมื่อจำเลยคัดค้านพนักงานคุมประพฤติมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบประกอบรายงานและความเห็นก่อน และจำเลยมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างได้” ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจที่หยิบยกเอาข้อความตามรายงานการสืบเสาะและพินิจดังกล่าวมาประกอบการใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ หาเป็นการพิจารณาพิพากษาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฎีกาแต่อย่างใดไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกลักทรัพย์รวมราคา 39,936 บาท ของผู้เสียหาย โดยใช้รถยนต์กระบะเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นไปโดยไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย และก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว หรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างในฎีกา ก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอจะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ปรากฏจากคำร้องของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 31 ตุลาคม 2551 ว่า จำเลยที่ 1 นำเงินค่าเสียหายจำนวน 10,000 บาท มาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อชดใช้คืนแก่ผู้เสียหาย นับว่าจำเลยที่ 1 รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดของตน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึง 3 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่หนักเกินไป เห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 1 ปี 6 เดือน ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share