คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11315/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยนำคำว่า “โต๊ะกัง” ซึ่งเป็นชื่อนิติบุคคลโจทก์ที่ 1 และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองไปจดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลจำเลยตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 และยังคงใช้ชื่อดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงวันฟ้อง อันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อเนื่องกันฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เมื่อโจทก์ทั้งสองใช้คำว่า “โต๊ะกัง” และ “ตั้งโต๊ะกัง” ซึ่งเป็นชื่อปู่โจทก์ที่ 2 เป็นชื่อนิติบุคคลและเครื่องหมายการค้ากับการค้าทองมานานกว่า 50 ปี จนมีชื่อเสียงก่อนที่จะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลย โจทก์ที่ 1 แม้เป็นนิติบุคคลย่อมมีสิทธิในการใช้นามว่า “โต๊ะกัง” และ “ตั้งโต๊ะกัง” ตาม ป.พ.พ. มาตรา 67 และมาตรา 18 การที่จำเลยประกอบกิจการค้าทองโดยใช้ชื่อว่า “บริษัทห้างค้าทองโต๊ะกังเยาวราช ดิ โอล์ด สยาม จำกัด” ซึ่งมีคำว่า “โต๊ะกัง” เป็นส่วนสาระสำคัญของชื่อบริษัทจำเลย ย่อมทำให้เกิดความสับสนหลงผิดว่ากิจการค้าของจำเลยเกี่ยวข้องกับการค้าทองของโจทก์ทั้งสอง อันทำให้โจทก์ทั้งสองต้องเสื่อมเสียประโยชน์แม้ว่าชื่อนิติบุคคลจำเลยจะประกอบด้วยคำอื่นนอกเหนือจากคำว่า “โต๊ะกัง” และโจทก์ที่ 1 กับจำเลยจะเป็นนิติบุคคลคนละประเภทก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญที่จะทำให้จำเลยมีสิทธิใช้คำว่า “โต๊ะกัง” เป็นส่วนสาระสำคัญของชื่อบริษัทจำเลย และการที่นายทะเบียนของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครยินยอมจดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลยเป็นนิติบุคคลโดยใช้ชื่อดังกล่าว ก็เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และความเห็นของนายทะเบียน แต่ไม่ได้หมายความว่าการดำเนินการของนายทะเบียนดังกล่าวจะก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะใช้ชื่อบริษัทจำเลยเสมอไป หากการใช้ชื่อบริษัทจำเลยก่อให้เกิดปัญหาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลและนิติบุคคลอื่นที่จะใช้นามอันชอบที่จะใช้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 67 และมีการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอความคุ้มครองแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยระงับความเสียหายและร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยกระทำการดังกล่าวได้ โดยมีอำนาจฟ้องห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อที่มีคำว่า “โต๊ะกัง” รวมอยู่ด้วย และการที่จำเลยนำคำว่า “โต๊ะกัง” ซึ่งเป็นชื่อนิติบุคคลห้างโจทก์ที่ 1 มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยโดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ได้จนเป็นเหตุให้เสื่อมประโยชน์ของโจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 18 จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ห้ามจำเลยใช้ หรือให้เลิกใช้ชื่อนิติบุคคลบริษัทจำเลยโดยมีคำว่า “โต๊ะกัง” ประกอบอยู่ ให้จำเลยไปขอจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจำเลยมิให้มีคำว่า “โต๊ะกัง” หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อ “โต๊ะกัง” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี และยกคำขอของโจทก์ทั้งสองที่ขอให้จำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจำเลยมิให้มีคำว่า “โต๊ะกัง”ประกอบอยู่ในชื่อนิติบุคคลจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้โต้เถียงกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคล ใช้ชื่อว่า “ห้างหุ้นส่วนจำกัดตั้งโต๊ะกัง” มีวัตถุประสงค์ในการประกอบพาณิชยการประเภทการเป็นช่างและค้าเครื่องเงิน ทอง เพชร พลอย นาก โลหะมีค่า และแก้วแหวนเงินทองต่าง ๆ ทั้งที่เป็นรูปพรรณและมิใช่รูปพรรณโดยมีโจทก์ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เดิมกิจการดังกล่าวเป็นของปู่โจทก์ที่ 2 คือนายโต๊ะกัง แซ่ตั้งหรือตั้งโต๊ะกัง ต่อมาจึงตกทอดแก่บุตรนายโต๊ะกังคือนายเต็กกวง แซ่ตั้ง ซึ่งเป็นบิดาโจทก์ที่ 2 ในปี 2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายเต็กกวงเจ้าของยี่ห้อตั้งโต๊ะกังเป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองในพระบรมราชูปถัมภ์พร้อมกับพระราชทานตราตั้งให้เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2468 นายเต็กกวงซึ่งเป็นบิดาโจทก์ที่ 2 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” และ “ตั้งโต๊ะกัง” ใช้กับสินค้าจำพวก 14 ต่อมาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2483 นายเต็กกวงได้จดทะเบียนจัดตั้งห้างโจทก์ที่ 1 เมื่อนายเต็กกวงถึงแก่ความตาย นางเหลือบ ภริยานายเต็กกวงซึ่งเป็นมารดาโจทก์ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างโจทก์ที่ 1 แทน เมื่อนางเหลือบถึงแก่ความตายในปี 2515 โจทก์ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างโจทก์ที่ 1 สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ในการค้าทองโจทก์ที่ 1 ใช้คำว่า “โต๊ะกัง” และ “ตั้งโต๊ะกัง” เป็นชื่อนิติบุคคลและเครื่องหมายการค้าจนมีชื่อเสียง จำเลยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 ใช้ชื่อว่า “บริษัทห้างค้าทองโต๊ะกังเยาวราช ดิ โอล์ด สยาม จำกัด” และมีวัตถุประสงค์ในการค้าทอง นาก เงิน เพชร พลอย และอัญมณีอื่น คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องโดยเอาชื่อและยี่ห้อทางการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” และ “ตั้งโต๊ะกัง” ซึ่งเป็นยี่ห้อเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามพระราชบัญญัติลักษณะเครื่องหมายและยี่ห้อการค้าขาย พ.ศ. 2457 มาเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา เพื่อขอให้ศาลบังคับให้จำเลยระงับการใช้คำว่า “โต๊ะกัง” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลจำเลย โดยมิได้ขอให้บังคับจำเลยในเรื่องเครื่องหมายการค้าแต่อย่างใด ทั้งการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็สิ้นผลบังคับไปนานแล้วตั้งแต่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มีผลใช้บังคับ สิทธิในนาม ชื่อทางการค้า หรือเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” หรือ “ตั้งโต๊ะกัง” ไม่อาจสืบสิทธิ ต่อมาถึงโจทก์ที่ 2 ฟ้องโจทก์ไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะให้จำเลยเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ตั้งสิทธิเอากับจำเลยในเรื่องเครื่องหมายการค้าหรือชื่อนิติบุคคลจำเลย จำเลยไม่สามารถให้การและต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยโดยอ้างเหตุว่า โจทก์ที่ 2 เป็นผู้สืบสิทธิในชื่อนิติบุคคล “โต๊ะกัง” หรือ “ตั้งโต๊ะกัง” ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองด้วย จำเลยมีเจตนาไม่สุจริตได้เลียนแบบทั้งชื่อนิติบุคคลของโจทก์ที่ 1 และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง โดยจำเลยนำคำว่า “โต๊ะกัง” ซึ่งเป็นส่วนสาระสำคัญของชื่อนิติบุคคลโจทก์ที่ 1 และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสอง ทำให้สาธารณชนหลงผิด เป็นการละเมิดต่อสิทธิในนามและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง และเป็นการลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นของโจทก์ทั้งสอง ขอให้ห้ามจำเลยใช้ หรือให้เลิกใช้ชื่อนิติบุคคลบริษัทจำเลยโดยมีคำว่า “โต๊ะกัง” ประกอบอยู่และบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า โจทก์มีสิทธิในการใช้นามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 การกระทำของจำเลยเป็นการเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์ทั้งสอง และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยไม่มีสิทธิใช้คำว่า “โต๊ะกัง” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อจำเลย เพียงพอให้จำเลยเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับ จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 6 วรรคหนึ่ง ซึ่งออกตามความในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ไม่ได้เคลือบคลุมดังที่จำเลยอ้าง อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อต่อมามีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสองรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และพ้น 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 แล้ว เห็นว่า ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองปรากฏว่าจำเลยนำคำว่า “โต๊ะกัง” ซึ่งเป็นชื่อนิติบุคคลโจทก์ที่ 1 และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองไปจดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลจำเลยตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 และยังคงใช้ชื่อดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงวันฟ้อง อันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อเนื่องกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อต่อมามีว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อที่มีคำว่า “โต๊ะกัง” รวมอยู่ด้วยหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัดต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร โดยใช้ชื่อว่า “บริษัทห้างค้าทองโต๊ะกังเยาวราช ดิ โอล์ด สยาม จำกัด” โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการแล้ว ทั้งนายเต็กกวง หรือตั้งโต๊ะกัง ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อตัวและชื่อสกุลเป็นนายเกษม และถึงแก่ความตายเมื่อปี 2487 การที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองในพระบรมราชูปถัมภ์และได้รับพระราชทานตราตั้งซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตัวเป็นอันสิ้นผลไป ซึ่งต่อมาในปี 2550 ได้มีการประกาศเพิกถอนตราตั้งดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาแล้ว นอกจากนี้ เครื่องหมายการค้าและยี่ห้อการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” และ “ตั้งโต๊ะกัง” ที่ได้รับการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติลักษณะเครื่องหมายและยี่ห้อการค้าขาย พ.ศ. 2457 ก็ได้ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฉบับใหม่แล้ว โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิในคำดังกล่าวดีกว่าจำเลยคำดังกล่าวหาได้ตกทอดมายังโจทก์ทั้งสองไม่ โจทก์ที่ 1 และจำเลยเป็นนิติบุคคลคนละประเภทกัน การเรียกขานชื่อโจทก์ที่ 1 กับจำเลยก็แตกต่างกัน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อที่มีคำว่า “โต๊ะกัง” รวมอยู่ด้วย เห็นว่า โจทก์ทั้งสองใช้คำว่า “โต๊ะกัง” และ “ตั้งโต๊ะกัง” ซึ่งเป็นชื่อปู่โจทก์ที่ 2 เป็นชื่อนิติบุคคลและเครื่องหมายการค้ากับการค้าทองมานานกว่า 50 ปี จนมีชื่อเสียงก่อนที่นายไพบูลย์กับพวก จะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 โจทก์ที่ 1 แม้จะเป็นนิติบุคคล ย่อมมีสิทธิในการที่จะใช้นามว่า “โต๊ะกัง” และ “ตั้งโต๊ะกัง” อันชอบที่จะใช้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 67 และมาตรา 18 จำเลยประกอบกิจการค้าทองโดยใช้ชื่อว่า “บริษัทห้างค้าทองโต๊ะกังเยาวราช ดิ โอล์ด สยาม จำกัด” ซึ่งมีคำว่า “โต๊ะกัง” เป็นส่วนสาระสำคัญของชื่อบริษัทจำเลย ย่อมทำให้เกิดความสับสนหลงผิดว่ากิจการค้าของจำเลยเกี่ยวข้องกับการค้าทองของโจทก์ทั้งสอง อันทำให้โจทก์ทั้งสองต้องเสื่อมเสียประโยชน์ แม้ว่าชื่อนิติบุคคลจำเลยจะประกอบด้วยคำอื่นนอกเหนือจากคำว่า “โต๊ะกัง” และโจทก์ที่ 1 กับจำเลยจะเป็นนิติบุคคลคนละประเภทก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญที่จะทำให้จำเลยมีสิทธิใช้คำว่า “โต๊ะกัง” เป็นส่วนสาระสำคัญของชื่อบริษัทจำเลย และการที่นายทะเบียนของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครยินยอมจดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลยเป็นนิติบุคคลโดยใช้ชื่อดังกล่าว ก็เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และความเห็นของนายทะเบียน แต่ไม่ได้หมายความว่าการดำเนินการของนายทะเบียนดังกล่าวจะก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะใช้ชื่อบริษัทจำเลยเสมอไป หากการใช้ชื่อบริษัทจำเลยก่อให้เกิดปัญหาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลและนิติบุคคลอื่นที่จะใช้นามอันชอบที่จะใช้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 และมาตรา 67 และมีการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอความคุ้มครองแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเฉพาะบทบัญญัติในมาตรา 18 และมาตรา 67 ทั้งการที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิที่จะใช้นามอันชอบที่ใช้ได้ซึ่งสืบทอดมาจากนายโต๊ะกัง หรือตั้งโต๊ะกัง ปู่โจทก์ที่ 2 ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความตายของปู่โจทก์ที่ 2 หรือการเพิกถอนตราตั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่นายเต็กกวง บิดาโจทก์ที่ 2 รวมทั้งการเปลี่ยนชื่อตัวและชื่อสกุลของนายเต็กกวง ตลอดจนการที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฉบับเก่าถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฉบับใหม่ดังที่จำเลยอุทธรณ์ เมื่อปรากฏว่าจำเลยนำชื่อของโจทก์ที่ 1 มาใช้เป็นส่วนสาระสำคัญของชื่อจำเลยโดยไม่ได้รับอำนาจให้ใช้ได้ โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิจะเรียกให้จำเลยระงับความเสียหายและร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยกระทำการดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 จึงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อที่มีคำว่า “โต๊ะกัง” รวมอยู่ด้วย อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อสุดท้ายว่า จำเลยต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่เพียงใด เห็นว่า การที่จำเลยนำคำว่า”โต๊ะกัง” ซึ่งเป็นชื่อนิติบุคคลห้างโจทก์ที่ 1 มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยโดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ได้ จนเป็นเหตุให้เสื่อมประโยชน์ของโจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ประกอบมาตรา 18 จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง ในส่วนของค่าเสียหายศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง แต่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินถึง 3,000,000 บาท นับว่าสูงเกินไป สมควรกำหนดให้ 500,000 บาท อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share