คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11294/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 กำหนดให้ตราสารที่มิได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือส่วนของตราสารเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้นใช้เฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้นำตราสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานด้วย
การที่ผู้เสียหายฟ้องจำเลยในคดีแพ่งมิได้เป็นการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 8 มีนาคม 2549 เวลากลางวันถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 เวลากลางคืน จำเลยเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน กข 3228 พัทลุง ของผู้เสียหาย จำเลยเบียดบังเอารถยนต์คันดังกล่าวเป็นของตนหรือบุคคลอื่นโดยทุจริต ดังนี้ ฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลและสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีและครบองค์ประกอบความผิดฐานยักยอก โจทก์ไม่จำต้องบรรยายว่าจำเลยกระทำการเบียดบังยักยอกรถยนต์ไปอย่างไร เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อจำเลยชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้เสียหายเพียง 2 งวดแล้วไม่ชำระค่าเช่าซื้ออีกเลย และจำเลยนำรถที่เช่าซื้อไปตีใช้หนี้ให้แก่ผู้อื่นโดยจำเลยทราบอยู่แล้วว่ารถที่เช่าซื้อยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหาย เมื่อ จ. ไปติดตามยึดรถที่เช่าซื้อแต่จำเลยบ่ายเบี่ยงไม่ให้ความร่วมมือ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่อยู่ในครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 856,900 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 (ที่ถูก 352 วรรคแรก) จำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ จำนวน 856,900 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 อนุญาตให้ฎีกาในฎีกาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2545 จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน กข 3228 พัทลุง จากบริษัทกรุงไทย ซี.เอส. จำกัด ผู้เสียหายในราคา 856,900 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 190,000 บาท ที่เหลือผ่อนชำระเดือนละงวด งวดละ 13,893 บาท รวม 48 งวด คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ผู้เสียหายมอบอำนาจให้นายเจษฎา ดำเนินคดีแก่จำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ตามหนังสือมอบอำนาจ ระบุว่านายศุภศักดิ์ ผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัทผู้เสียหายได้มอบอำนาจให้นายเจษฎา ซึ่งเป็นการมอบอำนาจช่วงโดยอ้างถึงหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2543 แต่ตามหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลของผู้เสียหาย ปรากฏว่าไม่มีชื่อนายศุภศักดิ์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ การมอบอำนาจ จึงไม่ถูกต้อง ผู้เสียหายย่อมไม่มีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลย เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2545 ระบุว่านายศุภศักดิ์ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้เสียหายตามหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 16 มิถุนายน 2537 ขอมอบอำนาจช่วงให้นายเจษฎาเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงมีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยจนกว่าคดีถึงที่สุด เห็นได้ว่า นายศุภศักดิ์มอบอำนาจช่วงให้นายเจษฎาร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากกรรมการผู้มีอำนาจของผู้เสียหายโดยอ้างถึงหนังสือมอบอำนาจของผู้เสียหายฉบับลงวันที่ 16 มิถุนายน 2537 มิใช่เป็นการมอบอำนาจในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของผู้เสียหายดังที่จำเลยฎีกา จำเลยก็มิได้โต้แย้งการมีอยู่หรือความถูกต้องของหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 16 มิถุนายน 2537 แต่อย่างใด จึงเห็นว่า ผู้เสียหายได้มอบอำนาจให้นายเจษฎาดำเนินคดีแก่จำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าใบมอบอำนาจติดอากรแสตมป์เพียง 20 บาท มิได้ติดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้จึงเป็นข้อบกพร่องนั้น เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 กำหนดให้ตราสารที่มิได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือส่วนของตราสารเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้นใช้เฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้นำตราสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายฟ้องบังคับจำเลยตามสัญญาเช่าซื้อ ในคดีแพ่งที่ศาลจังหวัดสงขลา เมื่อผู้เสียหายเลือกใช้สิทธิดังกล่าวแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) เห็นว่า การที่ผู้เสียหายฟ้องจำเลยในคดีแพ่งมิได้เป็นการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ของผู้เสียหายได้เบียดบังเอารถยนต์คันดังกล่าวเป็นของตนหรือบุคคลอื่นโดยทุจริต โจทก์มิได้ระบุการกระทำของจำเลยให้ชัดว่าจำเลยได้กระทำการอย่างใดที่พอจะถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอก ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 8 มีนาคม 2549 เวลากลางวันถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2549 เวลากลางคืน จำเลยเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน กข 3228 พัทลุง ของผู้เสียหาย จำเลยเบียดบังเอารถยนต์คันดังกล่าวเป็นของตนหรือบุคคลอื่นโดยทุจริต ดังนี้ ฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลและสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีและครบองค์ประกอบความผิดฐานยักยอก โจทก์ไม่จำต้องบรรยายว่าจำเลยกระทำการเบียดบังยักยอกรถยนต์ไปอย่างไร เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกรถยนต์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายเจษฎา สงขาว เบิกความว่า หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้วจำเลยชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้เสียหายเพียง 2 งวด หลังจากนั้นจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 3 ถึงงวดที่ 8 ปรากฏว่าเช็คดังกล่าวธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ ผู้เสียหายให้พยานไปติดตามยึดรถคืนที่บ้านจำเลย แต่จำเลยบอกว่านำรถที่เช่าซื้อยกใช้หนี้ให้พี่สาวจำเลยซึ่งอยู่ที่จังหวัดนราธิวาสจึงไม่สามารถยึดรถคืนมาได้ พยานบอกจำเลยว่าถ้าเป็นเช่นนั้นให้จำเลยถ่ายรูปรถที่เช่าซื้อมาให้พยานดูเพื่อแสดงยืนยันว่ารถคันดังกล่าวยังมีอยู่จริงแต่จำเลยไม่สามารถไปถ่ายรูปมาได้ หลังจากนั้นพยานไปสอบถามจำเลยอีกหลายครั้ง แต่จำเลยอ้างว่าหารถไม่พบไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ใด และโจทก์มีนายวิกิจ ผู้ค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ของจำเลยและเป็นคู่เขยกับจำเลยเบิกความว่า เมื่อพนักงานสอบสวนเรียกพยานไปสอบปากคำเรื่องรถที่เช่าซื้อหาย พยานจึงไปสอบถามจำเลยได้ความว่าจำเลยนำรถที่เช่าซื้อไปตีใช้หนี้แล้ว เห็นว่า นายเจษฎากับนายวิกิจเบิกความสอดคล้องต้องกันโดยไม่มีข้อพิรุธ พยานทั้งสองไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงเชื่อว่าพยานทั้งสองเบิกความตามความจริงที่ได้รู้เห็นมา หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อจำเลยชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้เสียหายเพียง 2 งวด แล้วไม่ชำระค่าเช่าซื้ออีกเลย และจำเลยนำรถที่เช่าซื้อไปตีใช้หนี้ให้แก่ผู้อื่นโดยจำเลยทราบอยู่แล้วว่ารถที่เช่าซื้อยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหาย เมื่อนายเจษฎาไปติดตามยึดรถที่เช่าซื้อแต่จำเลยบ่ายเบี่ยงไม่ให้ความร่วมมือ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่อยู่ในครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอก ส่วนที่จำเลยอ้างว่า จำเลยนำรถที่เช่าซื้อไปให้น้องสาวจำเลยใช้โดยให้น้องสาวชำระค่าเช่าซื้อแทนจำเลย แต่น้องสาวไม่มีเงินผ่อนชำระ จำเลยจึงนำรถที่เช่าซื้อไปให้นายสุชาติเพื่อนจำเลยใช้และบอกให้นายสุชาติชำระค่าเช่าซื้อแทน หลังจากนั้นจำเลยไม่สามารถติดต่อกับนายสุชาติได้นั้น เห็นว่า จำเลยคงมีแต่ตัวจำเลยที่อ้างตนเองเป็นพยาน จึงเป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยสถานเบาหรือรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า หลังเกิดเหตุจำเลยมิได้พยายามบรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย ทั้งจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดีมาโดยตลอด แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่สำนึกในการกระทำความผิดของตน แม้จำเลยมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยสถานเบาหรือรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share