แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145(2)บัญญัติข้อยกเว้นไว้ว่าคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใดๆเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าคดีนี้โจทก์นำพยานมาสืบได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทยังไม่ครบ10ปีจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองเมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งจากที่ดินของโจทก์โจทก์จึงเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1308โจทก์พิสูจน์ได้ว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวจึงใช้ยันโจทก์ไม่ได้ คำพิพากษาที่ระบุไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145(2)นั้นมิได้หมายถึงเฉพาะกรณีคำพิพากษาในคดีที่มีคู่ความตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปเท่านั้นดังนั้นคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีไม่มีข้อพิพาทที่สั่งว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ร้องขอในคดีดังกล่าวมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองจึงอยู่ในบังคับบทบัญญัติมาตรา145(2)ด้วย โจทก์มิได้เป็นคู่ความในคดีที่จำเลยร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินกับจำเลยจึงถือว่าโจทก์เป็นบุคคลภายนอกตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145(2)และการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าโจทก์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่4816 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานีซึ่งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาที่ดินแปลงดังกล่าวได้เกิดที่งอกริมตลิ่ง โจทก์จึงขอออกโฉนดที่งอกริมตลิ่งเป็นที่ดินโฉนดเลขที่19640 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานีเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 96 ตารางวา หลังจากนั้นได้เกิดที่งอกริมตลิ่งงอกออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 4816 และ 19640 อีกจำนวนเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่งอกดังกล่าว แต่จำเลยและบริวารได้ปลูกสร้างโรงเรียนอยู่อาศัยในที่งอกริมตลิ่งของโจทก์โดยไม่สุจริต โจทก์แจ้งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและทำที่ดินให้เป็นไปตามเดิมแล้วส่งมอบการครอบครองคืนให้แก่โจทก์หลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในที่งอกริมตลิ่งของโจทก์ได้ถือว่าเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 4816 และ 19640 ตำบลบ้านใหม่อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี และห้ามจำเลยเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่งอกริมตลิ่งดังกล่าว
จำเลยให้การว่า เมื่อ 40 กว่าปีมาแล้ว ที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาของที่ดินโฉนดเลขที่ 4816 ตำบลบ้านใหม่อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี มีที่งอก จำเลยได้ปรับปรุงที่งอกดังกล่าวและปลูกสร้างบ้านเลขที่ 48 หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านใหม่อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี อยู่อาศัยซึ่งจำเลยได้ครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนายึดถือเพื่อตน นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว จำเลยได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่งอกดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 304/2532หมายเลขแดงที่ 298/2532 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ที่งอกของที่ดินโฉนดเลขที่ 4816 ส่วนที่จำเลยครอบครองเนื้อที่ประมาณ 87 ตารางวาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382หลังจากนั้นจำเลยได้นำคำสั่งศาลไปขอรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อกลั่นแกล้งจำเลยที่ไม่ยอมขายที่ดินให้แก่โจทก์จำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 4816 และ 19640 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานีจังหวัดปทุมธานี และห้ามมิให้จำเลยเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่งอกริมตลิ่งดังกล่าว
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 4816 และ 19640ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานีของโจทก์ จำเลยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 304/2532 หมายเลขแดงที่ 298/2532 ของศาลชั้นต้น เอกสารหมายล.3 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นที่งอกริมตลิ่งตั้งแต่เมื่อใด ศาลฎีกาเห็นว่า คำเบิกความของพยานจำเลยขัดกันและไม่มีเหตุผลจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า เมื่อปี 2526 เกิดที่งอกริมตลิ่งจากที่ดินโฉนดเลขที่ 4816 ของโจทก์ โจทก์ได้ขอให้เจ้าพนักงานรังวัดสำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีออกไปรังวัดตรวจสอบเพื่อขอออกโฉนดที่ดินคณะกรรมการได้ไปตรวจสภาพที่ดินแล้วมีความเห็นว่าที่ดินบางส่วนน้ำท่วมถึงต้องตัดออกเหลือที่งอกริมตลิ่งเนื้อที่เพียง1 ไร่ 1 งาน 96 ตารางวา ตามบันทึกการตรวจสภาพที่ดินแผนที่สังเขปและบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.12 และได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 19640 ให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.13หลังจากนั้นได้เกิดที่งอกริมตลิ่งจากที่ดินโฉนดเลขที่ 19640 อีกในปี 2532 โจทก์ได้ขอออกโฉนดที่ดิน คณะกรรมการได้ออกไปตรวจสอบตามบันทึกเอกสารหมาย จ.15 และออกโฉนดที่ดินเลขที่ 25328 ให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.16 ต่อมาปี 2532 เกิดที่งอกริมตลิ่งคือที่ดินพิพาทออกไปอีก ซึ่งในปี 2527 คณะกรรมการแจ้งว่าบริเวณที่จำเลยอยู่อาศัยเป็นที่น้ำท่วมถึง จึงไม่ออกโฉนดที่ดินส่วนที่พิพาทให้โจทก์ นอกจากนี้โจทก์ยังนำนายสมพร เสถียรกับนายสมบัติ ทองมาก นายช่างรังวัดที่ดินซึ่งเป็นผู้ออกไปรังวัดที่ดินโฉนดเลขที่ 19640 และ 25328 ตามลำดับ มาเบิกความว่าขณะไปรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว ที่ดินที่จำเลยครอบครองปลูกบ้านอยู่นั้นเป็นที่ดินที่น้ำท่วมถึง ที่จำเลยฎีกาว่าตามคำเบิกความของโจทก์ประกอบคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินที่งอกริมตลิ่งของโจทก์เอกสารหมาย จ.4 และบันทึกถ้อยคำของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5 สรุปได้ว่าที่ดินที่จำเลยครอบครองน้ำท่วมไม่ถึงจึงถือได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งก่อนปี 2527 นั้นนายสมพรเบิกความว่า ในปี 2527 บริเวณบ้านของจำเลยเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง การเดินเข้าไปรังวัดที่งอกของโจทก์จะต้องลุยน้ำลงไป คณะกรรมการมีความเห็นว่าให้ตัดเนื้อที่ดินส่วนที่น้ำท่วมถึงออก พยานโจทก์มีน้ำหนักในการรับฟังมากกว่าพยานจำเลย น่าเชื่อว่าในปี 2527 ที่ดินพิพาทยังไม่มีสภาพเป็นที่งอกริมตลิ่งจำเลยจึงครอบครองที่ดินพิพาทในขณะมีสภาพเป็นที่งอกริมตลิ่งยังไม่ครบ10 ปี ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง ที่จำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองแล้วตามเอกสารหมาย ล.3 ย่อมใช้ยันโจทก์ได้นั้นเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2) บัญญัติข้อยกเว้นไว้ว่า คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใด ๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า ซึ่งในคดีนี้โจทก์นำพยานมาสืบได้ว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทยังไม่ครบ 10 ปี จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งจากที่ดินของโจทก์โจทก์จึงเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 โจทก์พิสูจน์ได้ว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลย คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวจึงใช้ยันโจทก์ไม่ได้ ที่จำเลยฎีกาว่า คำพิพากษาที่ระบุไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2) นั้นหมายถึงคำพิพากษาในคดีที่มีคู่ความตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปนั้น เห็นว่าตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้ระบุไว้เฉพาะกรณีดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีไม่มีข้อพิพาทที่สั่งว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ร้องขอในคดีดังกล่าวมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองจึงอยู่ในบังคับบทบัญญัติ มาตรา 145(2) ด้วยที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิใช่บุคคลภายนอกที่จะพิสูจน์ได้ว่ามีสิทธิดีกว่าจำเลย เพราะโจทก์เป็นบุคคลมีส่วนได้เสียโดยตรงและอาจอ้างความเป็นเจ้าของแห่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทได้ และการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 298/2532 ของศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า โจทก์มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวกับจำเลยจึงถือว่าโจทก์เป็นบุคคลภายนอกตามบทบัญญัติดังกล่าว และการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าโจทก์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ถือไม่ได้ว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
พิพากษายืน