คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4839/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยต่างเป็นผู้รับประกันด้วยอาวัลผู้สั่งจ่ายเช็คต้องร่วมรับผิดต่อว.ผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา989ประกอบมาตรา967วรรคแรกโจทก์และจำเลยจึงเป็นลูกหนี้ร่วมกันเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับจำเลยในอันจะต้องใช้หนี้มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้ได้เข้าใช้หนี้นั้นแก่ว.แล้วโจทก์ย่อมได้รับช่วงสิทธิว. มาเรียกร้องจากจำเลยได้ครึ่งหนึ่งของเงินที่ได้ชำระไปตามมาตรา229

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับนางนิตยา พรหมกล่ำ เคยนำเช็คธนาคารกสิกรไทยมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อมาเมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2533 นางนิตยาสั่งจ่ายเช็คผู้ถือของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาประตูช้างเผือกลงวันที่ 20 มีนาคม 2534 จำนวนเงิน 700,000 บาท มีจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้อาวัลสั่งจ่าย มอบให้โจทก์เพื่อแลกเช็คฉบับเดิมคืนไป ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2534 โจทก์โอนเช็คฉบับดังกล่าวให้นายวรพล ตามูลเพื่อชำระหนี้ค่าที่ดิน เมื่อวันที่ 12มิถุนายน 2534 ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน วันที่ 15กรกฎาคม 2534 โจทก์ถูกนายวรพลฟ้องให้รับผิดตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2219/2534 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยร่วมกันชำระเงินจำนวน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายวรพล และให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนนายวรพล โดยกำหนดค่าทนายความ 1,800 บาท วันที่ 21 กุมภาพันธ์2535 โจทก์ชำระเงินตามคำพิพากษาให้กับนายวรพลเป็นเงินทั้งสิ้น755,483 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิจากนายวรพลเรียกให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 377,741.50 บาท และดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนวนดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่21 กุมภาพันธ์ 2535 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,319.50 บาท รวมกับต้นเงินแล้วเป็นเงิน 379,061 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 379,061 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน379,061 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าโจทก์และจำเลยต่างผูกพันเป็นผู้รับอาวัลนางนิตยาผู้สั่งจ่ายเช็คจึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเป็นอย่างเดียวกันกับนางนิตยาโจทก์ไม่มีสิทธิไล่เบี้ยจำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 377,741.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์2535 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่เงินต้นและดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่เกินจำนวน 379,061 บาท ตามที่โจทก์ขอมา คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2534 นายวรพล ตามูลได้เป็นโจทก์ฟ้องนางนิตยา พรหมกล่ำ จำเลยและโจทก์เป็นจำเลยให้ชำระหนี้ตามเช็คผู้ถือจำนวน 700,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี ต่อศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกัน (อาวัล) ร่วมกันชำระเงินจำนวน 700,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2219/2534 ของศาลชั้นต้นคู่ความมิได้อุทธรณ์ คดีถึงที่สุดแล้ว
ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้อที่ว่า โจทก์ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่นายวรพล ตามูล โจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2219/2534 ของศาลชั้นต้นจำนวน 755,483 บาทแล้วหรือไม่ก่อน โจทก์เบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์2535 นายวรพลได้แจ้งให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษารวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 755,483 บาท โจทก์ตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้องจึงตกลงชำระหนี้ให้นายวรพล วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 โจทก์จึงได้ชำระหนี้ด้วยเช็คธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนศรีดอนชัย รวม2 ฉบับ ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 จำนวน 350,000 บาท และลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 จำนวน 405,483 บาท ให้แก่นายวรพลตามบันทึกข้อตกลงและหนังสือรับชำระหนี้เอกสารหมาย จ.1 จำเลยคงนำสืบถึงแต่เรื่องมูลหนี้ตามเช็คที่นายวรพลนำมาฟ้องเท่านั้นแต่ไม่ได้นำสืบปฏิเสธในเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 โจทก์ได้ชำระหนี้จำนวน 755,483 บาท ให้แก่นายวรพลแล้ว
จำเลยฎีกาว่า โจทก์จำเลยต่างเป็นผู้รับอาวัลไม่สามารถแบ่งส่วนแห่งความรับผิดไล่เบี้ยเอาแก่กันได้เอง ทั้งโจทก์จำเลยยังไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 967วรรคแรก บัญญัติว่า “ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้น บรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดี รับรองก็ดี สลักหลังก็ดี หรือรับประกันด้วยอาวัลก็ดี ย่อมต้องร่วมรับผิดต่อผู้ทรง” เมื่อโจทก์และจำเลยต่างเป็นผู้รับประกันด้วยอาวัลเช็คด้วยกันจึงต้องร่วมรับผิดต่อนายวรพลผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 989 ประกอบมาตรา967 วรรคแรก โจทก์และจำเลยจึงเป็นลูกหนี้ร่วมกันตามบทมาตราดังกล่าวข้างต้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับจำเลยในอันจะต้องใช้หนี้ มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้ได้เข้าใช้หนี้นั้นแล้ว โจทก์ย่อมได้รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share