คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4835/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ ป. จะเรียงคำฟ้องและลงลายมือชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องในขณะที่ขาดจากการเป็นทนายความตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 แล้วก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองก็แต่ง ว. เป็นทนายความคนใหม่เข้ามาดำเนินคดีแทนโจทก์ทั้งสองหลังจากฟ้องเพียง 1 เดือนเศษ และ ว. ได้ดำเนินคดีแทนโจทก์ตลอดมาโดยที่ ป. ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับคดีโจทก์ทั้งสิ้น ป. จึงทำหน้าที่เป็นทนายความให้โจทก์ทั้งสองเพียงร่างคำฟ้องและลงชื่อในคำฟ้องเท่านั้น จำเลยทั้งเก้าก็มีโอกาสต่อสู้คดีตามคำฟ้องได้เต็มที่ เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้แก้ไขคำฟ้องโดยให้โจทก์ทั้งสองทำคำฟ้องขึ้นใหม่และให้โจทก์ทั้งสองลงชื่อในคำฟ้องโดยมีเงื่อนไขให้คำฟ้องใหม่มีข้อความเช่นเดียวกับคำฟ้องเดิม โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้โต้แย้งว่าข้อความในคำฟ้องเดิมไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงตามความประสงค์ของโจทก์ทั้งสอง ซึ่ง พ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2528 มุ่งให้ความ คุ้มครอง คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ก่อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบทางเชิงคดีอันจะทำให้ความยุติธรรมเสื่อมเสียไป เนื่องจากจำเลยทั้งเก้าซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนได้สืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนโจทก์ทั้งสองก็สืบพยานจนเหลือพยานอีกเพียง 2 ปากเท่านั้น คดีก็จะเสร็จสิ้นการพิจารณา ตรงกันข้ามหากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของโจทก์ตั้งแต่ยื่นคำฟ้องอันจะส่งผลให้โจทก์ต้องทำคำฟ้องใหม่ จำเลยทั้งเก้าทำคำให้การใหม่ และสืบพยานกันใหม่ซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่บังคับให้จำเลยทั้งเก้าต้องทำคำให้การและสืบพยานเหมือนเดิม จำเลยทั้งเก้าย่อมมีโอกาสแก้ไขปรับปรุงรูปคดีที่อาจเสียเปรียบให้กลับได้เปรียบได้ อันทำให้จำเลยทั้งเก้าได้เปรียบทางเชิงคดีซึ่งหาชอบด้วยความยุติธรรมไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นชอบด้วยคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่สั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาตามคำร้องของจำเลยที่ 7 และที่ 8 และให้แก้ไขคำฟ้องใหม่ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยความยุติธรรมตามเจตนารมณ์ของ ป.วิ.พ. มาตรา 27 แล้ว
คำสั่งรับคำฟ้องใหม่ของศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งเกี่ยวกับคดีที่เสนอคำฟ้องนั้น และไม่ใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 และมาตรา 228 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งเก้าไม่ได้โต้แย้งคัดค้านไว้ จำเลยทั้งเก้าจึงอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 กรณีนี้จึงเท่ากับว่าฎีกาของจำเลยทั้งเก้าในข้อนี้เป็นข้อที่มิได้ ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินจากนายผุย เฉิดฉาย โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นายผุยส่งมอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน ต่อมาจำเลยทั้งเก้าไปยื่นขอรับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวของนายผุย และจำเลยที่ ๓ กับพวกรวม ๕ คน บุกรุกเข้าไปตัดต้นไม้และถางป่าในที่ดินแปลงดังกล่าว โจทก์ทั้งสองบอกกล่าวให้หยุดการกระทำดังกล่าว แต่จำเลยที่ ๓ กับพวกเพิกเฉย ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำขอโอนมรดกของนายผุย เฉิดฉาย และให้ที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ทั้งสองห้ามจำเลยทั้งเก้าเข้าเกี่ยวข้องด้วย หากจำเลยทั้งเก้าไม่ดำเนินการ โจทก์ทั้งสองขอเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งเก้า
จำเลยทั้งเก้าให้การและฟ้องแย้งว่า ที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าซื้อที่ดินพิพาทจากนายผุย เฉิดฉาย และเข้าครอบครอง ที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนตลอดมานั้นไม่เป็นความจริง ความจริงแล้วก่อนนายผุยถึงแก่ความตาย ได้ให้โจทก์ที่ ๒ ดูแลที่ดินพิพาทไว้แทนนายผุยและทายาทคือจำเลยทั้งเก้า เมื่อนายผุยถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยทั้งเก้าก็ตกลงให้โจทก์ที่ ๒ ครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลยทั้งเก้ามาตลอด หลังจากนายผุยถึงแก่ความตายไปแล้ว จำเลยทั้งเก้าได้บอกกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองเพื่อขายที่ดินที่ฝากให้ดูแลนี้บางส่วนให้แก่นายสนิท วิชัยโย ซึ่งโจทก์ทั้งสองก็ไม่คัดค้าน ส่วนที่ดินที่เหลือจำเลยทั้งเก้าให้โจทก์ที่ ๒ ดูแลแทนตลอดมา จำเลยทั้งเก้าจึงไม่ประสงค์ให้โจทก์ทั้งสองดูแลที่ดินพิพาทอีกต่อไปจึงยื่นคำร้องขอรับมรดกต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การที่จำเลยเข้าไปถางป่า ปลูกกระท่อมและปลูกพืชผักนั้นไม่ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย เพราะที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งเก้า และจำเลยทั้งเก้าได้เรียกคืนการครอบครองแล้ว การกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยทั้งเก้า กับสั่งห้ามไม่ให้โจทก์ทั้งสองเข้าเกี่ยวข้อง
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินจากนายผุย เฉิดฉาย เฉพาะส่วนที่โจทก์ทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่เท่านั้น ไม่ได้ซื้อหมดทั้งแปลง และนายผุยส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองครอบครองมาเกินกว่า ๑๐ ปี โดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โจทก์ทั้งสองมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนผู้ใด ที่ดินส่วนที่จำเลยทั้งเก้าขายให้นายสนิท วิชัยโย นั้น โจทก์ไม่เกี่ยวข้อง จึงไม่จำต้องคัดค้านการซื้อขายดังกล่าว จนถึงวันฟ้องแย้งนี้ จำเลยที่ ๓ กับพวกยังบุกรุกเข้าไปตัดต้นไม้และถางพืชพันธุ์ในที่ดินพิพาท ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งเก้า
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามใบจอง (น.ส.๒) เลขที่ ๑๐๗ เล่ม ๑๗ หน้า ๗๒ ตำบลแจนแลน อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เฉพาะส่วนจำนวนเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่ มีอาณาเขตทิศเหนือจดที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๔๓๙ ตำบลแจนแลน อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ (เดิมเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๔๐๐/๓๑๑) ของโจทก์ที่ ๒ ทิศใต้จดที่ดินของนายสุข ศรีโพนทอง ทิศตะวันตกจดถนนสาธารณประโยชน์ และทิศตะวันออกจดที่ดินของนายสนิท วิชัยโย ตามแผนที่สังเขปที่ดินพิพาทและที่ดินข้างเคียงเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑ และตามที่ดินบริเวณ (ค) และ (ง) ตามแผนที่สังเขปที่พิพาทเอกสารท้ายคำให้การและฟ้องแย้งหมายเลข ๑ (แผนที่สังเขปที่พิพาทเอกสารหมาย ล.๑) กับห้ามจำเลยทั้งเก้าห้ามเกี่ยวข้องให้เพิกถอนคำขอของจำเลยทั้งเก้าที่ขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ และให้จำเลยทั้งเก้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ ๑๕,๐๐๐ บาท ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งเก้า
จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งเก้าใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๕,๐๐๐ บาท แทนโจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งเก้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ที่ ๒ กับนายผุย เฉิดฉาย บิดาจำเลยทั้งเก้าเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ที่ดินพิพาทและที่ดินตามแผนที่สังเขปที่พิพาทเอกสารหมาย ล. ๑ ส่วน (ก) และ (ข) คือที่ดินแปลงใบจอง (น.ส.๒) เลขที่ ๑๐๗ ตำบลแจนแลน อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งเก้าในประการแรกมีว่า คำฟ้องโจทก์ทั้งสองที่นายประมาณลงชื่อเป็นโจทก์ตามลำพังในขณะที่นายประมาณไม่มีฐานะเป็นทนายความ แล้วต่อมาศาลชั้นต้นสั่งให้แก้ไขโดยให้โจทก์ทั้งสองทำคำฟ้องขึ้นใหม่ มีข้อความเช่นเดียวกับคำฟ้องเดิม จะมีผลทำให้คำฟ้องโจทก์ทั้งสองชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้นายประมาณจะเรียงคำฟ้องและลงลายมือชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องในขณะที่ขาดจากการเป็นทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. ๒๕๒๘ แล้วก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองก็แต่งตั้งนายวิชชุกร สงวนชาติ เป็นทนายความคนใหม่เข้ามาดำเนินคดีแทนโจทก์ทั้งสองหลังจากฟ้องเพียง ๑ เดือนเศษ และนายวิชชุกรดำเนินคดีแทนโจทก์ตลอดมาโดยที่นายประมาณไม่ได้เข้ายุ่งเกี่ยวกับคดีโจทก์ทั้งสิ้น นายประมาณจึงทำหน้าที่เป็นทนายความให้โจทก์ทั้งสองเพียงร่างคำฟ้องและลงชื่อในคำฟ้องเท่านั้น จำเลยทั้งเก้าก็มีโอกาสต่อสู้คดีตามคำฟ้องได้เต็มที่ เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้แก้ไขคำฟ้องโดยให้โจทก์ทั้งสองทำคำฟ้องขึ้นใหม่และให้โจทก์ทั้งสองลงชื่อในคำฟ้องโดยมีเงื่อนไขให้คำฟ้องใหม่มีข้อความเช่นเดียวกับคำฟ้องเดิม โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้โต้แย้งว่าข้อความในคำฟ้องเดิมไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงตามความประสงค์ของโจทก์ทั้งสองซึ่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. ๒๕๒๘ มุ่งให้ความคุ้มครอง คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ก่อให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบทางเชิงคดีอันจะทำให้ความยุติธรรมเสื่อมเสียไป เนื่องจากจำเลยทั้งเก้าซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนได้สืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนโจทก์ทั้งสองก็สืบพยานโจทก์ทั้งสองจนเหลือพยานโจทก์ทั้งสองอีกเพียง ๒ ปากเท่านั้น คดีก็จะเสร็จสิ้นการพิจารณา ตรงกันข้าม หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของโจทก์ตั้งแต่การยื่นคำฟ้องอันจะส่งผลให้โจทก์ต้องทำคำฟ้องใหม่ จำเลยทั้งเก้าทำคำให้การใหม่ และสืบพยานกันใหม่ซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่บังคับให้จำเลยทั้งเก้าต้องทำคำให้การและสืบพยานเหมือนเดิม จำเลยทั้งเก้าย่อมมีโอกาสแก้ไขปรับปรุงรูปคดีที่อาจเสียเปรียบให้กลับได้เปรียบได้ อันจะทำให้จำเลยทั้งเก้าได้เปรียบทางเชิงคดี ซึ่งหาชอบด้วยความยุติธรรมไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ เห็นชอบด้วยคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่สั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาตามคำร้องของจำเลยที่ ๗ และที่ ๘ และให้แก้ไขคำฟ้องใหม่ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยความยุติธรรมตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗ แล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งเก้าในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งเก้าในประการที่สองมีว่า คำฟ้องใหม่ของโจทก์ทั้งสองไม่ได้แนบแผนที่สังเขปที่พิพาทเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑ ตามคำบรรยายฟ้อง ศาลชั้นต้นสั่งรับคำฟ้องดังกล่าวไว้ คำสั่งรับฟ้องของศาลชั้นต้นชอบหรือไม่ เห็นว่า คำสั่งรับคำฟ้องใหม่ของศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งเกี่ยวกับคดีที่เสนอคำฟ้องนั้นและไม่ใช่ คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๗ และมาตรา ๒๒๘ จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งเก้าไม่ได้โต้แย้งคัดค้านไว้ จำเลยทั้งเก้าจึงอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖ กรณีนี้จึงเท่ากับว่าฎีกาของจำเลยทั้งเก้าในข้อนี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งเก้าใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๕,๐๐๐ บาท แทนโจทก์ทั้งสอง.

Share