แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยผู้นำของเข้ามาในราชอาณาจักร ยื่นคำร้องขออ้างว่ามีความจำเป็นต้องรับของโดยรีบด่วนโดยให้ธนาคารค้ำประกันอากรและรับรองว่าจะปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ถูกต้องครบถ้วนในภายหลัง และพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้กำหนดวงเงินประกันไว้ในคำร้องขอของจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยร้องขอว่ามีความจำเป็นที่จะต้องนำของไปจากอารักขาของศุลกากรโดยรีบด่วน และจำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกัน กับได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมีวงเงินเท่ากับจำนวนเงินประกันภาษีอากรที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์กำหนดไว้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์อนุมัติสัญญาค้ำประกันของจำเลยและรับหนังสือค้ำประกันของธนาคารไว้เป็นหลักประกันจึงเป็นกรณีที่จำเลยวางหนังสือประกันของธนาคารเพื่อเป็นประกันค่าภาษีอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 40 วรรคสอง สัญญาค้ำประกันมีข้อความว่าจำเลยจะปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ถูกต้องครบถ้วนภายใน 30 วัน อันเป็นเงื่อนไขที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดให้จำเลยผู้นำของเข้าปฏิบัติตามมาตรา 40 วรรคสอง เพื่อให้ได้ค่าภาษีอากร สัญญาค้ำประกันและหนังสือค้ำประกันของธนาคารที่จำเลยได้วางต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงเป็นการประกันค่าภาษีอากรที่ต้องชำระ มิใช่สัญญาค้ำประกันการปฏิบัติพิธีการศุลกากร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำเครื่องตรวจสอบความถี่ แผงวงจรและสวิตซ์ เข้ามาในราชอาณาจักรชั่วคราว และได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ขอผ่อนผันรับของไปก่อนปฏิบัติพิธีการศุลกากร โดยยื่นหนังสือค้ำประกันของธนาคารทหารไทยเพื่อค้ำประกันการปฏิบัติพิธีการศุลกากรพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 พิจารณาเห็นว่าสินค้าที่จำเลยนำเข้ามายังไม่มีราคาท้องตลาดเทียบเคียงได้จึงสั่งวางเงินประกันและให้จำเลยรับสินค้าไปก่อนปฏิบัติพิธีการศุลกากร เมื่อครบกำหนด 30 วันแล้วจำเลยมิได้มาปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ถูกต้องครบถ้วนจึงดำเนินการบังคับตามสัญญาค้ำประกัน และเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ได้ประเมินราคาสินค้าและค่าภาษีอากรตามราคาสินค้าที่ได้สำแดงไว้ในหนังสือขอผ่อนผันรับของไปก่อนปฏิบัติพิธีการ เป็นค่าภาษีอากรที่จำเลยจะต้องชำระทั้งสิ้น254,813 บาท เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ได้แจ้งให้จำเลยนำเงินภาษีอากรจำนวนดังกล่าวไปชำระ จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระภายในกำหนดและไม่มีอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภายในกำหนด จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรีเป็นเงิน 35,320 บาท และต้องเสียเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวาเป็นเงิน 199,559 บาท และจำเลยต้องเสียเงินเพิ่มภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ เป็นเงิน 71,103 บาทและต้องเสียเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลเป็นเงิน 7,109 บาทจำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินภาษีอากรและเงินเพิ่มต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 567,904 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินภาษีอากรจำนวน567,904 บาท ให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าเดือนละ1,766.01 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องเสียภาษีอากรตามฟ้องการประเมินภาษีอากรไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะสินค้ารายพิพาทได้รับการยกเว้นภาษีอากร อย่างไรก็ตามโจทก์ได้บังคับตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยได้วางประกันไว้ ถือว่าโจทก์ได้นำเงินประกันดังกล่าวชำระเป็นค่าภาษีอากรเสร็จสิ้นแล้วโดยเงินประกันมีจำนวนมากกว่าค่าภาษี เจ้าพนักงานประเมินจึงไม่มีสิทธิแจ้งการประเมินภาษีอากรและเงินเพิ่มแก่จำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า กรณีที่ผู้นำของเข้าในราชอาณาจักร หากจะนำของไปจากอารักขาของศุลกากรแล้วผู้นำเข้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรจนครบถ้วนเสียก่อน เว้นแต่ได้วางประกันค่าอากรไว้ต่ออธิบดี กรมศุลกากร ตามมาตรา 40 และมาตรา 112แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 โดยเฉพาะมาตรา 40 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ได้บัญญัติไว้สำหรับกรณีที่ผู้นำของเข้าร้องขอว่ามีความจำเป็นที่จะต้องนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากรโดยรีบด่วน หากอธิบดีกรมศุลกากรเห็นชอบตามคำร้องขอก็มีอำนาจให้นำของออกไปจากอารักขาของศุลกากรได้ โดยผู้นำของเข้าต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด และถ้าเป็นของที่ต้องเสียภาษีอากรผู้นำของเข้าต้องวางเงินหรือนำหลักประกันอย่างอื่นมาวางจนเป็นที่พอใจเพื่อประกันภาษีอากรด้วย ซึ่งตามคำร้องขอของจำเลยมีข้อความว่า จำเลยมีความจำเป็นต้องรับของโดยรีบด่วนโดยให้ธนาคารค้ำประกันอากร จำเลยรับรองว่าจะปฏิบัติการศุลกากรให้ถูกต้องครบถ้วนในภายหลัง และนายถวิลย์พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ก็ได้กำหนดวงเงินประกันไว้ในคำร้องขอของจำเลยเป็นจำนวนเงิน350,000 บาท โดยแบ่งเป็นเงินประกันอากรขาเข้า 262,000 บาท เป็นเงินประกันภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล 88,000 บาท จึงเป็นกรณีที่จำเลยร้องขอว่ามีความจำเป็นที่จะต้องนำของไปจากอารักขาของศุลกากรโดยรีบด่วน และจำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกัน กับได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารทหารไทย จำกัด มีวงเงินค้ำประกันจำนวน 350,000 บาทเท่ากับจำนวนเงินประกันภาษีอากรที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1กำหนดไว้เสนอต่อโจทก์ที่ 1 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1อนุมัติสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 1 และรับหนังสือค้ำประกันของธนาคารทหารไทย จำกัด ไว้เป็นหลักประกัน จึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1วางหนังสือประกันของธนาคารไว้แก่โจทก์ที่ 1 เพื่อเป็นประกันค่าภาษีอากรตามมาตรา 40 วรรคสอง
ที่สัญญาค้ำประกันมีข้อความว่า จำเลยจะปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ถูกต้องครบถ้วนภายใน 30 วัน เห็นว่า การปฏิบัติพิธีการศุลกากรดังกล่าว เป็นเงื่อนไขที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นผู้นำของเข้าปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 วรรคสอง เพื่อให้ได้ค่าภาษีอากร สัญญาค้ำประกัน และหนังสือค้ำประกันของธนาคารทหารไทย จำกัด จึงเป็นการประกันค่าภาษีอากรที่ต้องชำระมิใช่สัญญาค้ำประกันการปฏิบัติวิธีการศุลกากรดังที่โจทก์อุทธรณ์ดังนั้นเมื่อจำเลยไม่ได้ปฏิบัติพิธีศุลกากร และธนาคารทหารไทย จำกัด ได้ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันแก่โจทก์ที่ 1จึงเป็นการชำระค่าภาษีอากรแทนจำเลยซึ่งธนาคารได้ค้ำประกันไว้เมื่อจำนวนเงินที่ชำระคุ้มกับค่าภาษีอากรต่าง ๆ ตามที่โจทก์ที่ 1ได้แจ้งการประเมินไปยังจำเลยแล้ว จำเลยจึงไม่มีหนี้ค่าภาษีอากรที่จะต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองอีก
พิพากษายืน