คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1897/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ลูกหนี้ (จำเลย) ในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. ซึ่งเป็นสามีมิได้จดทะเบียนสมรสกันมอบอำนาจให้ ส. ขายที่ดินและบ้านพิพาททั้งส่วนที่เป็นมรดกของ พ. และส่วนที่เป็นของตนให้แก่ผู้คัดค้านขณะที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้(จำเลย) แล้ว สัญญาซื้อขายระหว่างลูกหนี้ (จำเลย) กับผู้คัดค้านเฉพาะที่เกี่ยวกับทรัพย์พิพาทอันเป็นส่วนของลูกหนี้ (จำเลย) ย่อมเป็นนิติกรรมอันฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 22, 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขอให้ศาลเพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาทอันเป็นส่วนของลูกหนี้ (จำเลย) เสียได้ และเมื่อนิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะแล้ว คู่สัญญาคือลูกหนี้ (จำเลย) ผู้ขายและผู้คัดค้านผู้ซื้อย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยผลแห่งกฎหมายไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสั่งให้มีการชดใช้เงินในกรณีที่ไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมอีกและถึงแม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ขอให้เพิกถอนการโอนโดยอ้าง มาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาด้วย และผู้คัดค้านอ้างว่าได้รับโอนทรัพย์พิพาทมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน เมื่อได้ความว่าลูกหนี้ (จำเลย) โอนทรัพย์ให้ผู้คัดค้านหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดแล้วก็ต้องปรับตามมาตรา 24 เพราะคำว่า การโอนทรัพย์สินหรือกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น หมายถึงการโอนที่กระทำกันก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หาใช่การโอนที่กระทำกันหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ (จำเลย) ไม่

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์เฉพาะส่วนของลูกหนี้ (จำเลย) ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๒๒, ๒๔ และ ๑๑๔ และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมหากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านใช้ราคาเป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ได้รับโอนทรัพย์พิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ลูกหนี้ (จำเลย) เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทร่วมกับนายเพทายซึ่งเป็นสามีมิได้จดทะเบียนสมรสกัน การที่ลูกหนี้ (จำเลย) ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเพทายมอบอำนาจให้นางสาวสุชาดาขายที่ดินและบ้านพิพาททั้งส่วนที่เป็นมรดกของนายเพทายและส่วนที่เป็นของตนให้แก่ผู้คัดค้านขณะที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) แล้ว สัญญาซื้อขายระหว่างลูกหนี้ (จำเลย) กับผู้คัดค้านเฉพาะที่เกี่ยวกับทรัพย์พิพาทอันเป็นส่วนของลูกหนี้ (จำเลย) ย่อมเป็นนิติกรรมอันฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา ๒๒, ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขอให้ศาลเพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาทอันเป็นส่วนของลูกหนี้ (จำเลย) เสียได้และเมื่อนิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะแล้วคู่สัญญาคือลูกหนี้ (จำเลย) ผู้ขายและผู้คัดค้าน ผู้ซื้อย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยผลแห่งกฎหมาย ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสั่งให้มีการชดใช้เงินในกรณีที่ไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมอีก และถึงแม้ว่าผู้ร้องได้ขอให้เพิกถอนการโอนโดยอ้างมาตรา ๑๑๔ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาด้วย และผู้คัดค้านแก้ฎีกาอ้างว่าได้รับโอนทรัพย์พิพาทมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าลูกหนี้ (จำเลย) โอนทรัพย์ให้ผู้คัดค้านเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๒ หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดแล้วก็ต้องปรับบทตามมาตรา ๒๔ เพราะคำว่า ‘การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น’ หมายถึงการโอนที่กระทำกันก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ หาใช่การโอนที่กระทำกันหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ (จำเลย) ไม่ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในปัญหาว่าผู้คัดค้านซื้อทรัพย์พิพาทมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่ต่อไป
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๔๖๐ ตำบลบางลำภูล่าง (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ ๘๘๐/๕๓ – ๕๔ เฉพาะส่วนของลูกหนี้ (จำเลย) ระหว่างนางสุภาภรณ์ โชตินุชิต ลูกหนี้ (จำเลย) ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเพทาย โชตินุชิต ผู้ขายกับผู้คัดค้าน ผู้ซื้อ และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม คำขอให้ชดใช้เงินในกรณีที่ไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมให้ยก

Share