แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องในทำนองเดียวกับคดีก่อนโดยขอให้จำเลยในฐานะผู้จัดการสำนักงานประปาวังสะพุง และเป็นผู้บังคับบัญชาของ ส. รับผิด เพราะไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอในการตรวจสอบและควบคุมดูแลความถูกต้องของเอกสารจ่ายเงิน เป็นเหตุให้ ส. ทุจริตยักยอกเงินของโจทก์ไปหลายครั้ง และจำเลยได้ทำหนังสือรับสารภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์แล้ว และมีคำขอบังคับให้จำเลยชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยนับจากวันผิดนัด เพียงแต่ในคดีก่อนอ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นการทำละเมิด ส่วนในคดีนี้อ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน คดีก่อนศาลจังหวัดเลยได้พิจารณาเฉพาะประเด็นของมูลละเมิดว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเกิน 1 ปี นับแต่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงพิพากษายกฟ้อง โดยมิได้พิจารณาหรือส่งให้ศาลแรงงานที่มีอำนาจได้พิจารณาในส่วนของมูลแห่งสัญญาจ้างแรงงาน และต่อมาโจทก์ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลจังหวัดเลยต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้มีคำพิพากษายืน และคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้โดยกล่าวอ้างถึงสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งในคดีก่อนมิได้วินิจฉัยถึง จึงมิใช่กรณีคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการสำนักงานประปาวังสะพุง มีหน้าที่บริหารกิจการของโจทก์ให้เป็นไปตามกฎหมาย และตามระเบียบข้อบังคับตามคู่มือปฏิบัติงานบัญชีของสำนักงานประปาส่วนภูมิภาค ที่กำหนดให้จำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบ ในการดูแลการบันทึกและควบคุมการรับเงินและจ่ายเงินของที่ทำการประปาให้เป็นไปโดยถูกต้อง แต่จำเลยละเลยไม่ควบคุมดูแล นางสาคร ทองโชติ ลูกจ้างของโจทก์ซึ่งทำงานในตำแหน่งหัวหน้างานอำนวยการสำนักงานประปาวังสะพุง และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยให้ปฏิบัติตามระเบียบ และคู่มือปฏิบัติงานดังกล่าว กล่าวคือ ไม่ควบคุมการบันทึกการรับเงินและการจ่ายเงินให้ถูกต้องตามระเบียบคู่มือปฏิบัติงานทางบัญชีเรื่องระบบเงินสดรับและเงินสดจ่ายเรื่องระบบเงินสดย่อยและเรื่องระบบบัญชีค่าติดตั้งและวางท่อ จนเป็นเหตุให้นางสาครทุจริตเบียดบังยักยอกเงินของโจทก์ไปในช่วงระหว่างวันที่ 15 มีนาคม 2539 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2539 เป็นเงินจำนวน 546,619.64 บาท จำเลยซึ่งปฏิบัติผิดสัญญาจ้างทำงานจึงต้องรับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 และ 583 ต่อมาจำเลยยอมรับว่าบกพร่องต่อหน้าที่จึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับลงวันที่ 15 ตุลาคม 2540 ยินยอมชดใช้หนี้จำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ตามที่ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือแล้วเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2541 ยังคงเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2541 อันเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดชำระ จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 546,519.64 บาท นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2541 จนถึงวันฟ้อง รวมเป็นเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ถึงวันฟ้องจำนวน 844,068.40 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 844,068.40 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 546,619.64 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 956/2542 คดีหมายเลขแดงที่ 110/2545 ของศาลจังหวัดเลย ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 4 เห็นว่า โจทก์เคยนำมูลหนี้ที่ฟ้องจำเลยคดีนี้ฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดเลย เป็นคดีหมายเลขดำที่ 956/2542 คดีหมายเลขแดงที่ 110/2545 และศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดยืนตามศาลจังหวัดเลยให้ยกฟ้องโจทก์ การที่โจทก์นำมูลหนี้ที่เคยฟ้องจำเลยในคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยคดีนี้ในประเด็นที่ได้วินิจฉัย โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันจึงเป็นฟ้องซ้ำ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 110/2545 ของศาลจังหวัดเลยหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า สภาพแห่งข้อหาของโจทก์คดีนี้คือสัญญาจ้างแรงงาน เหตุแห่งคดีนี้คือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลย ซึ่งไม่กำกับดูแลพนักงานจนเป็นเหตุให้มีการยักยอกทรัพย์สินโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน จึงเป็นคนละประเด็นกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 110/2545 ซึ่งศาลวินิจฉัยเฉพาะประเด็นอายุความละเมิด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ภายในอายุความสัญญาจ้างแรงงานได้นั้น เห็นว่า ตามสำเนาคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 956/2542 ของศาลจังหวัดเลย ซึ่งโจทก์คดีนี้เป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นจำเลย และตามคำฟ้องคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในทำนองเดียวกันโดยขอให้จำเลยในฐานะผู้จัดการสำนักงานประปาวังสะพุง และเป็นผู้บังคับบัญชาของนางสาคร ทองโชติ หัวหน้างานอำนวยการสำนักงานประปาวังสะพุงรับผิด เพราะไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอในการตรวจสอบ และควบคุมดูแลความถูกต้องของเอกสารการจ่ายเงิน เป็นเหตุให้นางสาครทุจริตยักยอกเงินของโจทก์ไปหลายครั้งรวมเป็นเงินจำนวน 546,619.64 บาท และจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์แล้ว และมีคำขอบังคับให้จำเลยชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับจากวันผิดนัดอันเป็นคำขอบังคับลักษณะเช่นเดียวกัน เพียงแต่ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 956/2542 ของศาลจังหวัดเลย โจทก์ในคดีดังกล่าวอ้างว่าการกระทำของจำเลยในคดีดังกล่าวเป็นการทำละเมิด ส่วนในคดีนี้โจทก์อ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่เป็นผลให้เกิดความเสียหายนี้จึงอาจเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองทางคือในมูลละเมิดและในมูลแห่งสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งศาลจะต้องพิจารณาไปด้วยกันว่าการกระทำของจำเลยเป็นละเมิดหรือเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ ซึ่งในคดีเดิมศาลจังหวัดเลยได้พิจารณาเฉพาะประเด็นของมูลละเมิดว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเกิน 1 ปี นับแต่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงพิพากษายกฟ้อง โดยมิได้พิจารณาหรือส่งให้ศาลแรงงานที่มีอำนาจได้พิจารณาในส่วนของมูลแห่งสัญญาจ้างแรงงาน และต่อมาโจทก์ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลจังหวัดเลยต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลจังหวัดเลยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความละเมิดแล้ว และคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้โดยกล่าวอ้างถึงสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งในคดีเดิมมิได้วินิจฉัยถึง จึงมิใช่กรณีคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานภาค 4 วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 110/2545 ของศาลจังหวัดเลยจึงไม่ชอบ”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 4 ให้ศาลแรงงานภาค 4 พิจารณาในประเด็นอื่นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี