แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ได้มีการประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2532 ซึ่งถือว่าทุกคนไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกรวมทั้งผู้ร้องในคดีนี้ทราบว่าจำเลยที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตั้งแต่วันดังกล่าวแล้วแม้ผู้ร้องจะฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีล้มละลายอีกคดีหนึ่งก่อนวันนั้นจนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 อีกก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นที่ผู้ร้องจะไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดสองเดือนนับแต่วันที่ 7กุมภาพันธ์ 2532 ทั้งไม่อาจถือเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยที่จะขยายระยะเวลาโดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 ได้ และหากผู้ร้องจะยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีนี้ในระหว่างที่ผู้ร้องดำเนินคดีล้มละลายกับจำเลยที่ 1 อีกคดีหนึ่งอยู่ ก็ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้อน เพราะการขอรับชำระหนี้เป็นคนละเรื่องกับการดำเนินคดีล้มละลาย ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้และขอขยายกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2532 ซึ่งพ้นกำหนดสองเดือนนับแต่วันประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ และคำร้องขอขยายกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 ไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 30ธันวาคม 2531 กรมสรรพากร ผู้ร้องได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีอากรจำนวน 531,178.75 บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และยื่นคำร้องขอขยายกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 และคำร้องขอขยายกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องแล้ว เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้จำเลยที่ 1 เกิน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของจำเลยที่ 1 แล้ว ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 และคำร้องขอขยายกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ก็มิได้ยื่นภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 เช่นเดียวกันจึงมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้และคำร้องขอขยายกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องลงวันที่ 26 มิถุนายน 2532 คัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลชั้นต้นว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ชอบ ขอให้มีคำสั่งขยายกำหนดเวลายื่นคำร้องขอรับชำระหนี้และรับคำร้องขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องไว้ดำเนินการต่อไป
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้จำเลยที่ 1 เกินกำหนด 2 เดือน และคำร้องขอขยายกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ก็มิได้ยื่นภายในเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2531เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศโฆษณาคำสั่งดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2532 เมื่อวันที่ 27 มกราคม2532 ผู้ร้องได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้เป็นบุคคลล้มละลายต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2532 ตามคดีล้มละลายหมายเลขแดง ล.102/2532ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 2532 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีล้มละลายหมายเลขแดง ล.102/2532 ออกจากสารบบความ เพราะถือว่าศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 30ธันวาคม 2531 แล้ว ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2532 ผู้ร้องได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีอากรจำนวน 531,178.75 บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งขอขยายกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านด้วย ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านได้มีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้และคำร้องขอขยายกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าว ปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกามีว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านที่ยกคำขอรับชำระหนี้ และคำร้องขอขยายกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องชอบแล้วหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 27บัญญัติไว้ว่า “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วเจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัติ นี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้ว แต่คดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาก็ตาม”และมาตรา 91 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน…”ตามบทกฎหมายดังกล่าวจะเห็นว่า คดีล้มละลายนั้นได้กำหนดวิธีปฏิบัติของเจ้าหนี้เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไว้เป็นพิเศษเช่น กำหนดให้เจ้าหนี้ทั่วไป รวมทั้งเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งไว้ ต้องมายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น และต้องยื่นภายในกำหนดสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จะยกเว้นเฉพาะเจ้าหนี้ที่อยู่นอกราชอาณาจักรที่มีสิทธิจะมาขอขยายกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ออกไปอีกได้แต่ก็ขอขยายกำหนดเวลาได้ไม่เกินสองเดือนเท่านั้นคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ได้มีการประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1เด็ดขาด ในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2532 ซึ่งถือว่าทุกคนไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกรวมทั้งผู้ร้องในคดีนี้ทราบว่าจำเลยที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2532 แล้ว แม้ผู้ร้องจะฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีล้มละลายอีกคดีหนึ่งก่อนวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2532 จนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 อีกก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นที่ผู้ร้องจะไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดสองเดือนนับแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2532 ทั้งไม่อาจถือเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยโดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ได้ และหากผู้ร้องจะยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีนี้ในระหว่างที่ผู้ร้องดำเนินคดีล้มละลายกับจำเลยที่ 1 อีกคดีหนึ่งอยู่ ก็ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้อน ดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในฎีกา เพราะการขอรับชำระหนี้เป็นคนละเรื่องกับการดำเนินคดีล้มละลาย การที่ผู้ร้องเพิ่งมายื่นคำขอรับชำระหนี้และขอขยายกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่1 มิถุนายน 2532 ซึ่งพ้นกำหนดสองเดือนนับแต่วันประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านชอบที่จะสั่งยกคำขอรับชำระหนี้และคำร้องขอขยายกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องได้ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน