แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้นำเงินสมทบและผลประโยชน์มาวางศาลเพื่อจ่ายให้แก่จำเลย โจทก์จึงเป็นผู้จ่ายเงินดังกล่าวมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตาม ป.รัษฎากร บริษัท ส. เป็นเพียงผู้กระทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนโจทก์เท่านั้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าผู้จ่ายเงินให้แก่จำเลยมิใช่โจทก์ แต่บริษัท ส. เป็นผู้จ่าย บริษัท ส. จึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายและมีอำนาจฟ้องเรียกเงินที่จ่ายเกินไปคืน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์วางเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบต่อศาลแรงงานกลางเกินไปโดยไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ย่อมเป็นที่เข้าใจได้แล้วว่าโจทก์ผู้วางเงินดังกล่าวและมีสิทธิเรียกเอาเงินส่วนที่วางเกินไปคืน ส่วนที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยด้วยว่า บริษัท ส. กระทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนโจทก์ เป็นการวินิจฉัยในรายละเอียด แม้โจทก์จะมิได้บรรยายไว้ในคำฟ้องว่าบริษัท ส. กระทำการแทนโจทก์ คำวินิจฉัยส่วนนี้ก็มิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
จำเลยมีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากโจทก์เพียงเฉพาะส่วนที่เกินจากที่หักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว แม้โจทก์จะหลงลืมหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ก่อนจ่ายเงินทั้งหมดให้แก่จำเลยไป แต่เมื่อโจทก์นำส่งเงินภาษีที่ต้องหักไว้ ณ ที่จ่ายให้แก่กรมสรรพากรแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกเอาเงินส่วนที่โจทก์นำส่งให้แก่กรมสรรพากรไปแล้วจากจำเลยได้ จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงาน เรียกเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจำนวน 1,416,194.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 1,292,196.72 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 1095/2546 หมายเลขแดงที่ 7346/2547 ของศาลแรงงานกลาง ต่อมาวันที่ 27 กันยายน 2547 โจทก์วางเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบต่อศาลแรงงานกลางจำนวน 1,546,755.19 บาท ต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2547 จำเลยมาขอรับเงินจำนวนดังกล่าวไป เนื่องจากโจทก์คำนวณเงินที่จะต้องชำระแก่จำเลยผิดพลาดโดยไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายจำนวน 459,754.89 บาท ทำให้วางเงินเกินไป จำนวน 459,754.89 บาท ซึ่งเป็นเงินภาษีที่จำเลยจะต้องรับผิดชอบ โดยโจทก์มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งกรมสรรพากร โจทก์ทวงถามขอเงินจำนวน 459,754.89 บาท คืนแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 459,754.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่ผู้เสียหายในการหักภาษี ณ ที่จ่าย บริษัทสยามซอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์และเป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง บริษัทสยามซอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายเนื่องจากไม่ใช่ผู้ที่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่จำเลย สำเนาหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 เป็นการหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ถูกต้องสูงกว่าความเป็นจริง เนื่องจากนำรายได้ของจำเลยทั้งหมดที่ได้รับจากบริษัทสยามซอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด และเงินสมทบรวมทั้งผลประโยชน์ของเงินสมทบและดอกเบี้ยมาคำนวณภาษี ทั้งที่เป็นเงินได้จากนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันและเป็นเงินคนละประเภท โจทก์ไม่มีสิทธิหักภาษี ณ ที่จ่ายในเงินที่นำมาวางต่อศาลจำนวน 1,546,755.19 บาท เนื่องจากเป็นเงินที่จ่ายให้จำเลยตามข้อตกลงในการประนีประนอมยอมความ โดยมีข้อตกลงให้จำเลยถอนฟ้องโจทก์และบริษัทอเมริกันอินเตอร์เนชัลแนลแอสชัวรันส์ จำกัด ดังนั้นเมื่อโจทก์ชำระเงินจำนวนดังกล่าวตามข้อตกลงและจำเลยได้รับเงินตามข้อตกลงแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเรียกภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากจำเลยอีก ทั้งตามประมวลรัษฎากรก็มิได้บัญญัติให้อำนาจโจทก์ที่จะฟ้องเรียกภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากจำเลยอีก เพราะล่วงพ้นเวลาที่จะหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้ว โดยมีจำเลยเป็นสมาชิก เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงานกลางเป็นจำเลยที่ 1 บริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 เรียกเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจำนวน 1,416,194.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,292,196.32 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 1095/2546 หมายเลขแดงที่ 7346/2547 ต่อมาวันที่ 27 กันยายน 2547 โจทก์นำเงินจำนวน 1,546,755.19 บาท มาวางต่อศาลเพื่อชำระให้แก่จำเลย โดยมิได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน จำเลยจึงยื่นคำร้องขอถอนฟ้องและขอรับเงินดังกล่าวไปในวันดังกล่าว เงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร โจทก์เป็นผู้นำมาวางต่อศาลเพื่อจ่ายให้แก่จำเลย โจทก์ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินดังกล่าวจึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากรก่อนจ่ายเงินให้แก่จำเลยรับไป บริษัทสยามซอร์ไซด์เซอร์วิส จำกัด ซึ่งระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเอกสารหมาย จ.1 เป็นเพียงผู้กระทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกเงินที่ชำระเกินไปคืนได้ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเอกสารหมาย จ.1 มีข้อความระบุจำนวนภาษีที่หักและนำส่งไว้เป็นเงิน 459,754.89 บาท เมื่อไม่ปรากฏว่ากรมสรรพากรทักท้วงว่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายไม่ถูกต้อง ทั้งจำเลยมิได้นำสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 459,754.89 บาท ที่ได้มีการหักไว้และนำส่งกรมสรรพากรถูกต้อง เมื่อจำเลยได้มาขอรับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจำนวน 1,546,755.19 บาท โดยโจทก์หลงลืมหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้จำนวน 459,754.89 บาท จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ได้รับเกินไปจำนวน 459,754.89 บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยไม่คืน จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และ 224 โจทก์ขอดอกเบี้ยเพียงนับถัดจากวันฟ้อง จึงกำหนดให้ตามขอ พิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 459,754.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถึงจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า จากคำเบิกความพยานโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่จำเลยคือบริษัทสยามซอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด บริษัทสยามซอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด จึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายและเป็นผู้มีอำนาจฟ้องเรียกเงินที่จ่ายเกินไปคืนจากจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้นำเงินสมทบและผลประโยชน์มาวางศาลเพื่อจ่ายให้แก่จำเลย โจทก์จึงเป็นผู้จ่ายเงินดังกล่าวจึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร บริษัทสยามซอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด เป็นเพียงผู้กระทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนโจทก์เท่านั้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าผู้จ่ายเงินให้แก่จำเลยมิใช่โจทก์ แต่บริษัทสยามซอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด เป็นผู้จ่าย บริษัทสยามซอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด จึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายและมีอำนาจฟ้องเรียกเงินที่จ่ายเกินไปคืน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยอุทธรณ์ประการต่อมาว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า บริษัทสยามซอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยเป็นผู้กระทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนโจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า บริษัทสยามซอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด กระทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนโจทก์จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์วางเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบต่อศาลแรงงานกลางเกินไปโดยไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ย่อมเป็นที่เข้าใจได้แล้วว่าโจทก์ผู้วางเงินดังกล่าวและมีสิทธิเรียกเอาเงินส่วนที่วางเกินไปคืน ส่วนที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยด้วยว่า บริษัทสยามซอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด กระทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนโจทก์เป็นการวินิจฉัยในรายละเอียด แม้โจทก์จะมิได้บรรยายไว้ในคำฟ้องว่าบริษัทสยามซอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด กระทำการแทนโจทก์ คำวินิจฉัยส่วนนี้ก็มิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า ประมวลรัษฎากรมิได้มีบทบัญญัติให้อำนาจผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายเรียกเงินที่จ่ายเกินไปเพราะมิได้หักเงินภาษี ณ ที่จ่ายคืน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายคืนจากจำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยมีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากโจทก์เพียงเฉพาะส่วนที่เกินจากที่หักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว แม้โจทก์จะหลงลืมหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ก่อนจ่ายเงินทั้งหมดให้แก่จำเลยไป แต่เมื่อโจทก์นำส่งเงินภาษีที่ต้องหักไว้ ณ ที่จ่ายจำนวน 459,754.89 บาท ให้แก่กรมสรรพากรแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกเอาเงินส่วนที่โจทก์นำส่งให้แก่กรมสรรพากรไปแล้วจากจำเลยได้ จำเลยจำต้องคืนให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน