คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 479/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26 บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายระยะเวลาได้ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 23 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26 มิได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าจะต้องมีพฤติการณ์พิเศษจึงจะขยายระยะเวลาได้เช่นที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 23 การที่ทนายจำเลยมีหนังสือขอถอนตัวจากการเป็นทนายความส่งให้แก่ผู้จัดการจำเลย และศาลแรงงานภาค 2 อ่านคำพิพากษาในวันที่ 21 ธันวาคม 2547 จำเลยทราบถึงการขอถอนตัวจากการเป็นทนายความตั้งแต่ก่อนศาลแรงงานภาค 2 อ่านคำพิพากษา จำเลยมีเวลาเพียงพอที่จะจัดหาทนายความคนใหม่ได้เสียแต่เนิ่น ๆ การที่จำเลยไม่รีบดำเนินการจึงเป็นความบกพร่องของฝ่ายจำเลยเอง ถือไม่ได้ว่าคดีมีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่ศาลแรงงานภาค 2 จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวน 11,181 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 4,472 บาท ค่าชดเชยจำนวน 178,904 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดจ่ายค่าจ้าง และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทุก 7 วัน นับแต่วันครบกำหนดจ่ายค่าจ้างและจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 41,744 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวน 11,181 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 4,472 บาท ค่าชดเชยจำนวน 178,904 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 194,557 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 42,489.70 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 178,904 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 221,393.70 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 สิงหาคม 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อ้างว่า ทนายจำเลยมีหนังสือขอถอนตัวจากการเป็นทนายความ จำเลยไม่สามารถจัดหาทนายความใหม่ได้ทันภายในกำหนด
ศาลแรงงานภาค 2 มีคำสั่งว่าพฤติการณ์ตามคำร้องมิใช่พฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ทั้งไม่ใช่กรณีจำเป็นและไม่ใช่กรณีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า มีเหตุขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยหรือไม่ โดยจำเลยอ้างเหตุว่าทนายจำเลยได้ขอถอนตัวจากการเป็นทนายความ จำเลยต้องหาทนายความคนใหม่ซึ่งจะต้องศึกษาถ้อยคำสำนวนเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อน และจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ 6 วัน เนื่องจากวันที่ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เป็นวันทำการสุดท้ายของปี 2547 ก่อนวันหยุดเทศกาลปีใหม่ซึ่งหยุดติดต่อกันถึง 4 วัน จึงเป็นเหตุขัดข้องในการจัดหาทนายความช่วงเทศกาล เหตุดังกล่าวเป็นพฤติการณ์พิเศษและมีความจำเป็นนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26 บัญญัติให้ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ศาลแรงงานได้กำหนด ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม อันเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจศาลแรงงานในการย่นหรือขยายระยะเวลาไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ได้ และตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26 ได้วางหลักเกณฑ์ว่าจะกระทำได้เมื่อมีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมหาได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าจะต้องมีพฤติการณ์พิเศษเช่นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ไม่ เมื่อปรากฏว่านายทองเจือ พูลเกิด ทนายจำเลยมีหนังสือขอถอนตัวจากการเป็นทนายความ ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2547 ส่งให้แก่ผู้จัดการจำเลย และศาลแรงงานภาค 2 อ่านคำพิพากษาในวันที่ 21 ธันวาคม 2547 จำเลยทราบถึงการขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของนายทองเจือตั้งแต่ก่อนศาลแรงงานภาค 2 อ่านคำพิพากษา จำเลยมีเวลาเพียงพอที่จะจัดหาทนายความคนใหม่ได้เสียแต่เนิ่น ๆ การที่จำเลยไม่รีบดำเนินการดังกล่าวจึงเป็นความบกพร่องของฝ่ายจำเลยเอง ถือไม่ได้ว่าคดีมีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่ศาลแรงงานภาค 2 จะพึงขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลย คำสั่งศาลแรงงานภาค 2 ชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share