แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การห้ามฟ้องบุพการีตาม ป.พ.พ.มาตรา 1562 เป็นเหตุเฉพาะตัวระหว่างโจทก์ทั้งสามผู้เป็นบุตรกับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นบิดาเท่านั้น หามีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกด้วยไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ปัญหาเรื่องโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยที่ 2 ไม่อาจยกเรื่องห้ามฟ้องจำเลยที่ 1 มาเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสามได้
จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ห.มีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้เป็นไปตามพินัยกรรมของ ห.ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1719 และจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ ตามมาตรา1722 การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ห.โอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัว โดยจำเลยที่ 1 มิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมของ ห.เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ ห.ต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามมาตรา 1722 จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 113 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะทำนิติกรรม ต้องถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลยกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงเป็นกองมรดกของ ห.อยู่ หาตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวไม่ สำหรับบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นส่วนควบของที่ดิน ย่อมตกได้แก่โจทก์ทั้งสามผู้รับพินัยกรรมด้วย
จำเลยที่ 2 ได้รับซื้อฝากและรับโอนชื่อทางทะเบียนในที่ดินพิพาทพร้อมบ้านไว้จากจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิจะขายฝากได้ย่อมไม่เกิดผลให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิตามนิติกรรมขายฝาก
โจทก์ทั้งสามฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ จะนำอายุความตามมาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้