คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4812/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ข้อตกลงในสัญญาจ้างระบุเงื่อนไขของการสิ้นสุดสัญญาจ้างที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนวันสิ้นสุดสัญญาตามข้อตกลงว่า เนื่องจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งหรือหลายเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ (ก) การตัดทอนรายจ่าย-การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากขาดตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การใช้ทักษะของลูกจ้าง การเลิกจ้างโจทก์ตามข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวจึงต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าการเลิกจ้างนั้นมีเหตุแห่งการเลิกจ้างและเป็นเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์และจำเลยไม่มีตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การใช้ทักษะในการทำงานของโจทก์ด้วย เมื่อจำเลยอ้างเหตุในการเลิกจ้างโจทก์ว่าประสบปัญหาด้านการเงินจึงต้องลดค่าใช้จ่ายและไม่สามารถหาตำแหน่งที่เหมาะสมกับค่าจ้างให้โจทก์ต่อไปได้ ดังนั้น การจะพิจารณาว่าที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงต้องให้ได้ข้อเท็จจริงว่าจำเลยประสบปัญหาด้านการเงินเพียงใด มีความจำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ มีแผนการตัดทอนค่าใช้จ่ายอย่างไร ได้ดำเนินการตามแผนการดังกล่าวหรือไม่อย่างไร และจำเลยขาดตำแหน่งที่เหมาะสมแก่ทักษะการทำงานของโจทก์หรือไม่อีกด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสามมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจร่วมกันเป็นกิจการร่วมค้า ใช้ชื่อในทางการค้าว่า กิจการร่วมค้าไอดีเอสเพื่อประกอบกิจการโครงการก่อสร้างระบบไฟฟ้าสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2545 จำเลยทั้งสามทำสัญญาจ้างโจทก์ทำงานตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายเอกสาร ระยะเวลาทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2548 ได้รับค่าจ้างเงินเดือนงวดสุดท้าย 8,700 ดอลลาร์สหรัฐ ตกลงจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2546 จำเลยทั้งสามมีหนังสือแจ้งเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าเป็นโครงการลดทอนรายจ่ายซึ่งไม่เป็นความจริงและโจทก์ไม่มีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับรายจ่ายของจำเลยทั้งสาม ทั้งงานที่โจทก์ได้รับมอบหมายให้ทำมีความสำคัญสำหรับโครงการก่อสร้างระบบไฟฟ้าและโจทก์ไม่มีความผิด จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดรายได้จากค่าจ้างถึงวันสิ้นสุดสัญญาเป็นเงิน 125,715 ดอลลาร์สหรัฐ คำนวณเป็นเงินบาทเท่ากับ 5,108,554 บาท และเสียค่าใช้จ่ายในการขนสัมภาระกลับประเทศออสเตรเลียจำนวน 695.50 ตอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 28,262.38 บาท ค่าทนายความก่อนฟ้องคดีเป็นเงิน 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 121,908 บาท ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเบิกความและค่าที่พักเป็นเงิน 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 101,590 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 131,910 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 5,360,294.80 บาท ทั้งนี้โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันฟ้อง อัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 40.6360 บาท โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามจำเลยทั้งสามแล้วแต่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 5,360,294.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสามมีหนังสือแจ้งเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2547 เนื่องจากต้องลดค่าใช้จ่ายของโครงการเพื่อความอยู่รอดเพราะประสบปัญหาด้านการเงินและหมดความจำเป็นในการว่าจ้างตามสัญญาจ้างข้อ 10.1 (ก) โจทก์ทราบความจำเป็นดังกล่าวทั้งต่อมาจำเลยทั้งสามไม่ได้จ้างผู้อื่นทำงานแทน โจทก์ได้คำนวณรายการจ่ายเงินค่าตอบแทนการเลิกจ้างและค่าจ้างค้างจ่ายแจ้งแก่จำเลยทั้งสามเพื่อขออนุมัติจ่ายตามความเป็นจริงเป็นเงิน 39,778.31 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 1,616,431 บาท โดยการโอนเงินดังกล่าวเข้าบัญชีโจทก์ไปยังต่างประเทศ โจทก์ทราบและได้รับเงินครบถ้วนแล้ว จำเลยทั้งสามจึงไม่มีหนี้ค้างชำระแก่โจทก์ การเลิกจ้างโจทก์ตามแผนตัดทอนรายจ่ายลดกำลังคน มิใช่เลิกจ้างด้วยสาเหตุอื่น ทั้งไม่มีตำแหน่งอื่นว่างและเหมาะสมกับโจทก์ และไม่ได้มีการว่าจ้างบุคลากรใหม่หรือเพิ่มเติมตำแหน่งอื่น ส่วนปัญหาด้านการเงินก็เป็นเรื่องปกติของธุรกิจที่มีผลประกอบการเป็นกำไรหรือขาดทุน การเลิกจ้างโจทก์ตามสัญญาจึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องจากจำเลยทั้งสาม ส่วนค่าขนส่งสัมภาระจำเลยทั้งสามได้ชำระแล้ว โจทก์ทำงานกับจำเลยทั้งสามถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2546 เท่านั้น จึงไม่มีสิทธิคิดว่าค่าจ้างที่เป็นเงินเดือนรวมผลประโยชน์และวันหยุดพักผ่อนประจำปีถึงวันที่ 15 มกราคม 2547 จำเลยทั้งสามจ่ายเงินตามรายการที่โจทก์คำนวณเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2546 โดยเข้าใจว่าโจทก์ต้องทำงานถึงวันที่ 15 มกราคม 2547 จึงเป็นการจ่ายเงินเกินกว่าสิทธิที่โจทก์จะได้รับเป็นเวลา 1 เดือน และเป็นลาภมิควรได้ จำเลยทั้งสามมีสิทธิเรียกคืนได้ ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินคืนจำนวน 9,218.08 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 374,585.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รับเงินจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยทั้งสาม
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้รับแจ้งโดยวาจาจากผู้จัดการฝ่ายการจัดการ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลจัดการโครงการว่าหากถ่ายโอนงานที่ได้รับมอบหมายหรือรับผิดชอบปังพนักงานของจำเลยทั้งสามเรียบร้อยแล้ว โจทก์สามารถออกจากงานได้ทันทีโดยไม่ต้องรอถึงวันที่ 15 มกราคม 2547 และหลังจากออกจากงานจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2547 ก็ไม่เคยได้รับแจ้งจากจำเลยทั้งสามให้มาทำงาน ทั้งเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2547 โจทก์ออกใบเรียกเก็บเงินงวดสุดท้ายจากผู้จัดการฝ่ายการจัดการเพื่อชำระเงินแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่เห็นด้วยก็ชอบจะปฏิเสธการชำระเงินแก่โจทก์และเรียกเงินคืนตั้งแต่วันที่ทราบว่าโจทก์หยุดงาน โจทก์ได้รับเงินตามรายการที่โจทก์คำนวณแล้ว ขาดเฉพาะค่าขนส่งของใช้ส่วนตัวกลับประเทศออสเตรเลีย ซึ่งโจทก์ก็ไม่เคยตกลงสละสิทธิเรียกร้องใด ๆ รวมทั้งค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องและฟ้องแย้ง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่า การที่จำเลยทั้งสามเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.5 โดยอ้างถึงการแปลความสัญญาจ้างข้อ 10.1 (ก) ว่า หมายถึงหากลูกจ้างมีความสามารถน้อยลง โดยนายจ้างไม่มีตำแหน่งที่เหมาะสมกับความสามารถที่น้อยลงของลูกจ้าง นายจ้างจึงจะเลิกสัญญาจ้างก่อนกำหนดได้ และการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางขัดกับข้อเท็จจริงในสำนวนและขัดต่อกฎหมายเพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ยังมีความสามารถในการทำงานและจำเลยทั้งสามยังให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งอื่นได้ จำเลยทั้งสามไม่เคยมีแผนตัดทอนรายจ่ายโดยการลดกำลังคน กิจการของจำเลยทั้งสามเพียงแต่ขาดสภาพคล่องทางการเงินแต่ไม่ได้ขาดทุน เงินเดือนโจทก์เมื่อเทียบกับสภาพงานที่โจทก์ต้องรบผิดชอบ ความสามารถและประสบการณ์ของโจทก์แล้วไม่ถือว่าสูงเกินไป และเมื่อจำเลยทั้งสามเลิกจ้างโจทก์แล้วได้จ้างบุคคลอื่นมาทำหน้าที่แทนโจทก์และจ้างลูกจ้างเพิ่มในส่วนวิศวกร จึงไม่ได้ตัดทอนรายจ่ายโดยลดลูกจ้างและแสดงว่าตำแหน่งของโจทก์มีความสำคัญจึงต้องมีการจ้างลูกจ้างเพิ่ม เห็นว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสามแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามมีความจำเป็นต้องลดรายจ่ายหรือตัดทอนรายจ่ายลง แม้มิได้เป็นความผิดของโจทก์ แต่เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาจ้าง จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุผลสมควรตามข้อตกลงในสัญญาจ้างถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งตามข้อตกลงในสัญญาจ้างดังกล่าวมีความว่า “ข้อ 10.0 การเลิกสัญญา 10.1 เหตุผลของการเลิกจ้างตามเงื่อนไขที่กำหนดต่อไปนี้ การสิ้นสุดสัญญาจ้างอาจจะเกิดขึ้นได้ก่อนวันสิ้นสุดสัญญาตามข้อตกลงเนื่องจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งหรือหลายเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ (ก.) การตัดทอนรายจ่าย-การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากขาดตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การใช้ทักษะของลูกจ้าง” ดังนั้น ในการเลิกจ้างโจทก์ตามข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวจึงต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่า จำเลยทั้งสามไม่มีตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การใช้ทักษะในการทำงานของโจทก์ อีกทั้งจะต้องปรากฏว่า กรณีการเลิกจ้างดังกล่าวมีเหตุแห่งการเลิกจ้างและเป็นเหตุอันสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างด้วยซึ่งศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามประสบปัญหาด้านการเงินจึงต้องลดค่าใช้จ่ายและไม่สามารถหาตำแหน่งที่เหมาะสมกับค่าจ้างให้โจทก์ต่อไปได้ การที่จำเลยทั้งสามเลิกจ้างโจทก์ จึงมิใช่กรณีที่ขาดตำแหน่งที่เหมาะสมกับทักษะการทำงานของโจทก์ เป็นแต่เพียงขาดตำแหน่งที่เหมาะสมกับค่าจ้างของโจทก์ และการเลิกจ้างโจทก์เพราะจำเลยทั้งสามประสบปัญหาด้านการเงินนั้นก็ยังไม่ปรากฏว่าประสบปัญหาเพียงใด ถึงขนาดมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ และตามหนังสือเลิกจ้างให้เหตุผลในการเลิกจ้างโจทก์คือตามแผนการตัดทอนค่าใช้จ่าย ดังนั้น การจะพิจารณาว่าที่จำเลยทั้งสามเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงต้องให้ได้ข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามประสบปัญหาด้านการเงินเพียงใด มีความจำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ มีแผนการตัดทอนค่าใช้จ่ายอย่างไร ได้ดำเนินการตามแผนการดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร และจำเลยทั้งสามขาดตำแหน่งที่เหมาะสมแก่ทักษะการทำงานของโจทก์หรือไม่ อย่างไร อันเป็นข้อเท็จจริงที่จะใช้วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นควรให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นให้ครบถ้วนเสียก่อน”
จึงให้ย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองหรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี ในชั้นนี้ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความศาลฎีกา

Share