คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10227/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้นำหนี้พร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์ ซึ่งเป็นมูลหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมายมาเป็นต้นเงินทำสัญญากันใหม่ ย่อมถือว่าโจทก์ได้ส่งมอบเงินที่กู้ยืมตามสัญญาให้จำเลยที่ 1 โดยชอบแล้ว สัญญากู้ยืมเงินจึงสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย
การนำสืบการชำระหนี้โดยการนำเงินฝากเข้าบัญชีให้โจทก์ และการที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเป็นผู้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์แทนโจทก์ เป็นการนำสืบการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง กรณีมิใช่การนำสืบการใช้เงินโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์มาแสดง ซึ่งต้องห้ามมิให้นำสืบตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง จำเลยทั้งสองจึงชอบที่จะนำสืบได้
เมื่อการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่พอชำระหนี้โจทก์ทั้งหมด และไม่มีการตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น การชำระหนี้จึงต้องชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันชำระหนี้ หากมีเงินเหลือจากการชำระดอกเบี้ยจึงนำไปชำระต้นเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2542 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 320,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่ 30 กันยายน 2543 โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ หลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ คิดดอกเบี้ยนับแต่วันกู้ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 ปี 50 วัน เป็นดอกเบี้ย 102,575.34 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 422,575.34 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 422,575.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 320,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องไม่มีมูลหนี้และไม่สมบูรณ์จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินกู้ยืมจำนวน 320,000 บาท ตามสัญญาจากโจทก์ โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันมอบให้โจทก์ยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับอื่นของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน รวมกับเงินที่กู้ยืมเดิมเป็นต้นเงินตามสัญญาดังกล่าว เดิมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำขึ้นเป็นประกันไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ โจทก์กรอกดอกเบี้ยลงในสัญญาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี ในภายหลัง จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่กู้ยืมให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมคืนสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันตามฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 422,575.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 320,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 สิงหาคม 2544) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า สัญญากู้ยืมเงินสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์จำเลยทั้งสองนำสืบโต้แย้งกันว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโดยโจทก์มอบเงินกู้ยืมจำนวน 320,000 บาท ตามสัญญาให้จำเลยที่ 1 หรือโจทก์นำหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระซึ่งโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือนมาให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินจากโจทก์ เห็นว่า โจทก์เบิกความอ้างว่า โจทก์นำเงินที่โจทก์มอบให้พี่สาวของโจทก์นำไปลงทุนค้าขายมาให้จำเลยที่ 1 กู้ โดยโจทก์ได้รับเงินจากพี่สาวก่อนให้จำเลยที่ 1 กู้ ประมาณ 1 สัปดาห์ และนางสาวเกศราพยานโจทก์ซึ่งเป็นพยานในสัญญาเบิกความว่า พยานทราบจากโจทก์ว่า โจทก์นำเงินที่ได้รับจากพี่สาวของโจทก์ไปฝากธนาคารไว้แล้วจึงเบิกมาให้จำเลยที่ 1 กู้ ตามคำเบิกความของโจทก์และนางสาวเกศราดังกล่าว โจทก์สามารถจะนำพี่สาวของโจทก์พร้อมหลักฐานที่มาของเงินที่นำมาให้จำเลยที่ 1 กู้มานำสืบให้เห็นว่าโจทก์มอบเงินกู้ยืมให้จำเลยที่ 1 จริงได้โดยไม่ยาก แต่โจทก์คงมีเพียงตัวโจทก์และนางสาวเกศราเบิกความกล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุน ทั้งที่จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินตามสัญญาที่โจทก์นำมาฟ้อง คำเบิกความกล่าวอ้างของโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนจำเลยทั้งสองมีพยานเอกสารที่แสดงว่าหลังจากทำสัญญากู้ยืมเงินแล้วก่อนจะถึงกำหนดชำระเงินคืน จำเลยที่ 1 นำเงินฝากเข้าบัญชีธนาคารให้โจทก์หลายครั้งตามหลักฐานเอกสารหมาย ล.1 และจำเลยที่ 1 ยังตกลงชำระหนี้ที่โจทก์กู้ยืมเงินจากชมรมชาวสรรพากรสุราษฎร์ธานีจำนวน 40,000 บาท แทนโจทก์ ตามสัญญาชำระหนี้แทนเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองรับว่า จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 จริง และไม่ปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญาชำระหนี้แทนโจทก์ ตามเอกสารหมาย ล.2 แต่อ้างว่าหลักฐานทั้งหมดดังกล่าวเป็นการชำระหนี้กู้ยืมรายอื่นให้แก่โจทก์ คำเบิกความของโจทก์จึงขัดแย้งกับที่โจทก์เบิกความว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้กู้ยืมครั้งก่อนๆ ให้โจทก์เสร็จสิ้นไปก่อนทำสัญญากู้ยืมเงินจึงเป็นข้อพิรุธ คำเบิกความของจำเลยทั้งสองสอดคล้องกับหลักฐานตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งแสดงว่าหลังจากทำสัญญากู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 ได้นำเงินฝากเข้าบัญชีธนาคารชำระหนี้ให้โจทก์หลายครั้งก่อนที่จะถึงกำหนดชำระเงินคืนโดยต่อเนื่องมาจากการชำระหนี้ก่อนการทำสัญญา พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองสมเหตุสมผลมีน้ำหนักให้รับฟังยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า โจทก์นำหนี้กู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระมาเป็นต้นเงินในสัญญากู้ยืมเงิน แต่ที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน รวมอยู่ในต้นเงินจำนวน 320,000 บาท ตามสัญญาดังกล่าวนั้น คงมีเพียงคำเบิกความกล่าวอ้างของจำเลยทั้งสองโดยมิได้มีเอกสารหลักฐานอย่างใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราดังกล่าว เพียงแต่การที่สัญญากู้ยืมเงินแสดงว่ามีการกรอกดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 15 ต่อปี ลงในสัญญาด้วยปากกาสีหมึกและลายมือเขียนต่างจากข้อความเดิม ไม่เพียงพอให้รับฟังว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยในเงินกู้ยืมเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเพราะโจทก์อาจกรอกดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันได้ และไม่เป็นเหตุให้สัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันเสียไปแต่อย่างใด อีกทั้งจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าการนำดอกเบี้ยที่ค้างชำระมาเป็นต้นเงินเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีจึงไม่มีประเด็นว่าสัญญากู้ยืมเงินไม่สมบูรณ์เพราะเหตุดังกล่าว แม้ข้อที่โจทก์เบิกความว่าได้ส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 ในวันทำสัญญาจะรับฟังไม่ได้ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อสาระสำคัญ เพราะเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้นำหนี้พร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์ซึ่งเป็นมูลหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมายมาเป็นต้นเงินทำสัญญากันใหม่ย่อมถือว่าโจทก์ได้ส่งมอบเงินที่กู้ยืมตามสัญญาให้จำเลยที่ 1 โดยชอบแล้ว สัญญากู้ยืมเงินจึงสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์เพียงใด โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 นำเงินฝากเข้าบัญชีให้โจทก์เป็นการชำระหนี้ให้โจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 และจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้ชมรมชาวสรรพากรจังหวัดสุราษฎร์ธานีแทนโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.2 รวมเป็นเงินที่จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์แล้วทั้งสิ้นประมาณ 200,000 บาท เห็นว่าการนำสืบการชำระหนี้โดยการนำเงินฝากเข้าบัญชีให้โจทก์ และการที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเป็นผู้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์แทนโจทก์ เป็นการนำสืบการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคหนึ่ง กรณีมิใช่การนำสืบการใช้เงินโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์มาแสดง ซึ่งต้องห้ามมิให้นำสืบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง จำเลยทั้งสองจึงชอบที่จะนำสืบได้ สำหรับเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งโจทก์เบิกความรับว่าจำเลยที่ 1 นำเงินฝากเข้าบัญชีชำระหนี้แก่โจทก์นั้นมีทั้งการนำเงินเข้าบัญชีก่อนและหลังทำสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันนำหนี้กู้ยืมที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระอยู่มาทำสัญญากันใหม่เป็นสัญญากู้ยืมเงิน ดังนั้น จึงฟังได้ว่าจำนวนเงินที่ตกลงในสัญญากู้ยืมเงินมีการนำเงินส่วนที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีก่อนหน้านั้นไปหักทอนหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ก่อนจะเป็นยอดเงินตามสัญญาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 คงมีสิทธินำเงินตามหลักฐานเอกสารหมาย ล.1 มาหักหนี้ได้เฉพาะส่วนที่มีการนำฝากเข้าบัญชีหลังวันที่ทำสัญญากู้ยืมเงินซึ่งฟังได้ว่าเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว ส่วนที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาชำระหนี้แทนโจทก์ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นการชำระหนี้รายอื่น เท่ากับโจทก์รับว่าโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์แทนโจทก์จริง เมื่อสัญญาชำระหนี้แทนระบุชัดแจ้งว่าเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 320,000 บาท ซึ่งฟังได้ว่าคือสัญญากู้ยืมเงิน จึงเป็นการยอมรับการชำระอย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ถือได้ว่าหนี้ส่วนที่ชำระด้วยการทำสัญญาชำระหนี้แทนระงับสิ้นไปตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาชำระหนี้แทน จำเลยจึงมีสิทธินำเงินจำนวน 40,000 บาท ที่ทำสัญญาชำระหนี้แทนมาหักหนี้ที่โจทก์ฟ้องได้ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำเงินฝากเข้าบัญชีธนาคารผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 ดังนี้ คือวันที่ 5 สิงหาคม 2542 จำนวนเงิน 12,032 บาท วันที่ 13 สิงหาคม 2542 จำนวนเงิน 4,030 บาท วันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 จำนวนเงิน 5,000 บาท วันที่ 24 พฤศจิกายน 2542 จำนวนเงิน 2,030 บาท วันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 จำนวนเงิน 1,830 บาท วันที่ 9 ธันวาคม 2542 จำนวนเงิน 7,800 บาท วันที่ 4 มกราคม 2543 จำนวนเงิน 14,000 บาท วันที่ 7 มกราคม 2543 จำนวนเงิน 5,030 บาท วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2543 จำนวนเงิน 5,030 บาท วันที่ 6 มีนาคม 2543 จำนวนเงิน 8,030 บาท วันที่ 9 มีนาคม 2543 จำนวนเงิน 3,880 บาท วันที่ 11 พฤษภาคม 2543 จำนวนเงิน 5,030 บาท วันที่ 13 มิถุนายน 2543 จำนวนเงิน 10,000 บาท วันที่ 5 สิงหาคม 2543 จำนวนเงิน 36,500 บาท และวันที่ 30 สิงหาคม 2543 จำนวนเงิน 24,400 บาท และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาชำระหนี้แทนโจทก์ วันที่ 14 กรกฎาคม 2543 จำนวนเงิน 40,000 บาท ซึ่งการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แต่ละครั้งดังกล่าวไม่พอชำระหนี้โจทก์ทั้งหมด เมื่อไม่มีการตกลงเป็นอย่างอื่นการชำระหนี้ดังกล่าวทุกครั้งจึงต้องชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันชำระ หากมีเงินเหลือจากการชำระดอกเบี้ยจึงนำไปชำระต้นเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระหนี้เต็มสัญญาโดยไม่หักเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 320,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2542 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้หักเงินที่จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระให้โจทก์หลังจากทำสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องตามเอกสารหมาย ล.1 และที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.2 ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระคำนวณถึงวันชำระแต่ละครั้ง มีเงินเหลือเท่าใดให้ชำระต้นเงินแล้วคำนวณดอกเบี้ยของต้นเงินที่ค้างชำระไปจนถึงวันที่ชำระหนี้ครั้งถัดไปตามนัยที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าขึ้นศาลชั้นต้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share