คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3237/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 137 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่ 8) พ.ศ.2519 มาตรา 4 สามีไม่มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมที่ภรรยาเป็นผู้กระทำไว้ สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมเป็นของภรรยาผู้ได้ทำการแสดงเจตนาโดยวิปริต กฎหมายมิได้กำหนดแบบการบอกล้างโมฆียะกรรมไว้ การที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยทำเอกสารดังกล่าวเพราะถูกกลฉ้อฉลสำคัญผิดในวัตถุแห่งนิติธรรมจึงไม่ผูกพันจำเลยโจทก์ไม่มีอำนาจนำเอกสารดังกล่าวมาฟ้องจำเลย ขอให้ยกฟ้อง คำให้การดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน มารดายกที่พิพาทให้จำเลย เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2523 จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งที่พิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง ต่อมาโจทก์แจ้งให้จำเลยแบ่งที่พิพาทให้โจทก์จำเลยเพิกเฉยขอให้ศาลบังคับจำเลยแบ่งที่พิพาทครึ่งหนึ่งแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า มารดายกที่พิพาทให้จำเลยและสามีจำเลยตั้งแต่ พ.ศ. 2510จำเลยและสามีครอบครองที่พิพาทในฐานะเจ้าของตลอดมา จำเลยได้ขอให้เจ้าพนักงานออก น.ส.3 ก. เมื่อ พ.ศ. 2519 จำเลยลงลายพิมพ์นิ้วมือในสัญญาประนีประนอมยอมความเพราะถูกกลฉ้อฉล สำคัญผิดในวัตถุแห่งนิติกรรมต่อมาสามีจำเลยได้บอกล้างนิติกรรมแล้ว สัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่ผูกพันจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่ถูกกลฉ้อฉล พิพากษาให้จำเลยแบ่งที่พิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาแบ่งที่พิพาทโดยถูกกลฉ้อฉล สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆียะกรรม และสามีจำเลยได้บอกล้างแล้ว พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มารดาโจทก์จำเลยยกที่พิพาทให้จำเลยแล้วจำเลยลงลายพิมพ์นิ้วมือในสัญญาแบ่งที่พิพาทเพราะกลฉ้อฉลของโจทก์กับพวก สัญญาแบ่งที่พิพาทเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 121 เนื่องจากมาตรา 137 วรรคสองถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2519 มาตรา 4 สามีจำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมที่จำเลยเป็นผู้กระทำไว้ สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมจึงเป็นของจำเลยผู้ได้ทำการแสดงเจตนาโดยวิปริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 และการบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นกฎหมายมิได้กำหนดหรือบังคับว่าจะต้องทำตามแบบพิธีอย่างใด เมื่อจำเลยถูกฟ้องคดีนี้จำเลยจึงทราบว่าจำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือในเอกสารหมาย จ.3 หรือ ล.4 เพราะถูกโจทก์กับพวกทำกลฉ้อฉล จำเลยจึงให้การต่อสู้ว่า จำเลยทำเอกสารดังกล่าวเพราะถูกกลฉ้อฉลสำคัญผิดในวัตถุแห่งนิติกรรม จึงไม่ผูกพันจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจนำเอกสารดังกล่าวมาฟ้องจำเลย ขอให้ยกฟ้อง คำให้การของจำเลยดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม หนังสือสัญญาแบ่งที่ดินเอกสารหมาย จ.3หรือ ล.4 จึงเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138โจทก์จะอาศัยเอกสารดังกล่าวมาเป็นมูลฟ้องจำเลยหาได้ไม่

พิพากษายืน

Share