คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4802/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อมีประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนง เขตยานนาวา เขตปทุมวันเขตบางรัก เขตสัมพันธ์วงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระนครเขตดุสิต เขตบางเขน เขตพญาไท และเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2530 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2530เป็นต้นไปมีกำหนด 5 ปี กำหนดให้อสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ดังกล่าวภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาอยู่ในเขตที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนโดยให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 2เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองได้ทำการสำรวจที่ดินโฉนดเลขที่ 1948 ของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตที่จะเวนคืนและได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้น คณะกรรมการฯ ได้วางหลักเกณฑ์การคิดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะเวนคืนโดยมีมติให้ใช้บัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ. 2535ในการคิดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ได้ทำการสำรวจที่ดินของโจทก์แล้ว ซึ่งเป็นการสำรวจก่อนที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530 จะสิ้นอายุในวันที่ 16 มิถุนายน 2535ต่อมาเมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ ฯลฯ พ.ศ. 2535 กำหนดให้อสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ดังกล่าวภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาอยู่ในเขตที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษระบบรถไฟขนส่งมวลชนประกาศใช้ อันมีผลบังคับใช้ในวันที่29 สิงหาคม 2535 โดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนเช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกาฉบับก่อน ซึ่งเหตุผลในการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนพ.ศ. 2535 ก็เนื่องจากการเวนคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530ยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 จึงเป็นพระราชกฤษฎีกาที่ออกต่อเนื่องในกิจการเดียวกัน ทั้งนี้เมื่อไม่มีการกำหนดแนวเวนคืนเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงแนวเวนคืนเดิม จึงไม่มีเหตุจำเป็นอย่างใดที่จำเลยที่ 2 จะต้องดำเนินการสำรวจที่ดินของโจทก์ใหม่อีก เพราะจำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการไปเรียบร้อยตามอำนาจหน้าที่โดยมีกฎหมายรองรับอยู่โดยชอบแล้วในขณะนั้นแล้วนอกจากนั้นในการคิดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ที่ถูกเวนคืนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนแล้ว ซึ่งคณะกรรมการได้ถือเอาราคาตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ. 2535 มาเป็นราคาเบื้องต้นที่กำหนดสำหรับที่ดินของโจทก์ และจำเลยทั้งสองกำหนดให้ใช้บัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ. 2535 อันเป็นราคาประเมินที่สูงกว่า และจำเลยทั้งสองเห็นว่าเป็นธรรมแก่โจทก์ซึ่งโจทก์ก็ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยตามมาตรา 10แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ดังนั้น ถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์แล้ว สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในเขตที่จะเวนคืน จึงชอบด้วยกฎหมายเพราะหลังจากได้ปฏิบัติตามขั้นตอนมาดังกล่าวแล้วสัญญาซื้อขายนั้นก็ได้กระทำในขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 ใช้บังคับโดยจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน มีอำนาจทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวกับโจทก์ได้ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งถ้าโจทก์เห็นว่าค่าทดแทนตามสัญญาดังกล่าวไม่เป็นธรรม ก็ยังมีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดวิธีแก้ไขให้โจทก์ขอความเป็นธรรมต่อไปได้ โดยยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และถ้ายังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยในกำหนดเวลาโจทก์ก็ยังมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 และ 26 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและไม่ตกเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2530 รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ เขตพระโขนง เขตยานนาวา เขตปทุมวัน เขตบางรักเขตสัมพันธ์วงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระนคร เขตดุสิตเขตบางเขน เขตพญาไท และเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2530 เป็นต้นไปมีกำหนด 5 ปี กำหนดให้อสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ดังกล่าวภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาอยู่ในเขตที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สายพระโขนง-หัวลำโพง-บางซื่อและสายสาธร-ลาดพร้าวโดยให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1948 เนื้อที่ 8 ไร่ 1 งาน52 ตารางวา ของโจทก์ทั้งสองอยู่ในเขตที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวทั้งแปลง เจ้าหน้าที่เวนคืนได้ทำการสำรวจรังวัดและมีการประกาศกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการตกลงทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในเขตจะเวนคืนจนกระทั่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวหมดอายุลงถือว่าการดำเนินการเกี่ยวกับการที่จะเวนคืนซึ่งได้กระทำมาแล้วเป็นอันสิ้นผลไปด้วย หลังจากนั้นอีก 2 เดือนเศษ รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพญาไท เขตพระนครเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตปทุมวัน เขตบางรักเขตสาธร เขตคลองเตย เขตพระโขนง เขตห้วยขวาง และเขตราชเทวีกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 กำหนดให้อสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ดังกล่าวภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาอยู่ในเขตที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษระบบรถไฟขนส่งมวลชนสายบางซื่อ-หัวลำโพง-พระโขนง และสายลาดพร้าว-สาธรโดยให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2535 เป็นต้นไป มีกำหนด 4 ปีที่ดินโฉนดเลขที่ 1948 ของโจทก์ทั้งสองอยู่ในเขตที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ทั้งแปลง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนของอสังหาริมทรัพย์ที่จะเวนคืน แต่คณะกรรมการดังกล่าวยังไม่ได้กำหนดและประกาศจำนวนเงินค่าทดแทนเบื้องต้นสำหรับที่ดินของโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองได้กระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ใช้อำนาจเรียกโจทก์ทั้งสองให้มาตกลงทำสัญญารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โดยอ้างว่าเป็นการดำเนินการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530โจทก์ทั้งสองไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จำเป็นต้องทำสัญญาลงวันที่29 มกราคม 2536 รับเงินค่าทดแทนที่จำเลยทั้งสองจ่ายให้ไปก่อนโดยสงวนสิทธิที่จะอุทธรณ์ค่าทดแทน การที่จำเลยทั้งสองให้โจทก์ทั้งสองทำสัญญารับเงินค่าทดแทนที่ดินโดยอ้างพระราชกฤษฎีกาที่หมดอายุไปแล้ว โดยไม่รอให้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯที่ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 ประกาศราคาเบื้องต้นฯ สำหรับที่ดินของโจทก์ทั้งสองเสียใหม่เป็นการขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองลงวันที่ 29 มกราคม 2536จึงตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ขอให้พิพากษาว่าสัญญาฉบับดังกล่าวเป็นโมฆะ แล้วให้จำเลยทั้งสองดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองใหม่ตามบทบัญญัติของกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การว่า การสำรวจรังวัดและการประกาศราคาเบื้องต้นของที่ดินโจทก์ทั้งสองนั้น ได้ดำเนินการโดยชอบและเสร็จสิ้นแล้วก่อนที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530 จะหมดอายุลง ส่วนการตกลงซื้อขายและการจ่ายเงินค่าทดแทนแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่จะดำเนินการต่อไปตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งแยกต่างหากจากกันการดำเนินการเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในโครงการดังกล่าวยังคงมีที่ดินอีกบางส่วนที่ยังไม่ได้สำรวจรังวัดและประกาศราคาเบื้องต้นแต่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530หมดอายุลงเสียก่อนรัฐบาลจึงได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการสำรวจรังวัดและประกาศราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินที่ยังมิได้ดำเนินการดังกล่าว ซึ่งเป็นการดำเนินการเวนคืนต่อเนื่องจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530ประกอบกับในวันที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในเขตเวนคืนฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2536นั้น อยู่ในระหว่างใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 จำเลยทั้งสองย่อมมีอำนาจทำสัญญากับโจทก์ทั้งสองได้ สัญญาฉบับดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายไม่ตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1948 เนื้อที่ 8 ไร่ 1 งาน 52 ตารางวาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2530 รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนงเขตยานนาวา เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระนคร เขตดุสิต เขตบางเขน เขตพญาไทและเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 กำหนดให้อสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาอยู่ในเขตที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายพระโขนง-หัวลำโพง-บางซื่อ และสายสาธร-ลาดพร้าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2530 เป็นต้นไป มีกำหนด5 ปี โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1948 อยู่ในเขตที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวทั้งแปลงเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2ได้ทำการสำรวจและรังวัดที่ดินของโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว คณะกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามคำสั่งที่ 953/2534 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2534 ได้ลงมติในการประชุมครั้งที่ 6/2535 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2535 ให้ใช้บัญชีราคาประเมินทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินปี 2535 เป็นเกณฑ์กำหนดค่าทดแทนที่ดินวันที่ 30 เมษายน 2535 คณะกรรมการดังกล่าวได้ลงมติในการประชุมครั้งที่ 7/2535 ให้กำหนดค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 1948ตารางวาละ 25,000 บาท เป็นเงิน 83,800,000 บาท กำหนดค่าทดแทนไม้ยืนต้น 8 รายการ เป็นเงิน 12,130 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนทั้งสิ้น 83,812,130 บาท และได้ประกาศราคาเบื้องต้นตามจำนวนเงินค่าทดแทนที่ลงมติไว้ดังกล่าว แต่ยังไม่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในเขตที่จะเวนคืน จนกระทั่งพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530 หมดอายุลงจากนั้นเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 มีหนังสือลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2535 แจ้งให้โจทก์ทั้งสองไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนโดยการทำสัญญา แต่โจทก์ทั้งสองไม่ไปติดต่อภายในเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือดังกล่าว ต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2535รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพญาไทเขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตปทุมวันเขตบางรัก เขตสาธร เขตคลองเตย เขตพระโขนง เขตห้วยขวางและเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2535 เป็นต้นไป มีกำหนด 4 ปี กำหนดให้ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในท้องที่ตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอยู่ในเขตที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายบางซื่อ-หัวลำโพง-พระโขนง และสายลาดพร้าว-สาธรโดยให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 1948 ของโจทก์ทั้งสองก็อยู่ในเขตที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวทั้งแปลงเช่นเดียวกัน ต่อมาเมื่อวันที่29 มกราคม 2536 โจทก์ทั้งสองตกลงทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์โฉนดที่ดินเลขที่ 1948 ซึ่งอยู่ในเขตที่จะเวนคืนในโครงการดังกล่าวกับจำเลยทั้งสอง เพื่อขอรับเงินค่าทดแทนที่ดินและไม้ยืนต้นจำนวน83,812,130 บาท ไปก่อน โดยสงวนสิทธิที่จะอุทธรณ์ค่าทดแทนตามเอกสารหมาย จ.5 หรือ ล.10 เกี่ยวกับเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 มีหนังสือลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์2536 แจ้งให้โจทก์ทั้งสองมารับเงินตามที่ได้ทำสัญญาไว้ โจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินและไม้ยืนต้นจำนวน 83,812,130 บาทจากจำเลยทั้งสองแล้วเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2536 และโจทก์ทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 1948 ให้จำเลยทั้งสองในวันเดียวกันโจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์ค่าทดแทนที่ดินต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2536 แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่ได้วินิจฉัยให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2537 โจทก์ทั้งสองได้รับผลการวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เพิ่มค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองอีก ต่อมาโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยนี้เป็นคดีหมายเลข ปค.185/2538 ขอเรียกค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น แล้วโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองที่ต้องวินิจฉัยเพียงประการเดียวว่า สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในเขตที่จะเวนคืน ฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2536 ตามเอกสารหมาย จ.5หรือ ล.10 ฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ โจทก์ทั้งสองอ้างว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กับโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองมิได้ดำเนินการเวนคืนให้ถูกต้องตามขั้นตอนตามกฎหมาย สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย เห็นว่า เมื่อมีประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530 เจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองได้ทำการสำรวจที่ดินโฉนดเลขที่ 1948 ของโจทก์ทั้งสองซึ่งอยู่ในเขตที่จะเวนคืนและได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้น คณะกรรมการฯ ได้วางหลักเกณฑ์การคิดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะเวนคืนโดยมีมติให้ใช้บัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพ.ศ. 2535 ในการคิดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ได้ทำการสำรวจที่ดินของโจทก์ทั้งสองแล้ว ซึ่งเป็นการสำรวจก่อนที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนพ.ศ. 2530 จะสิ้นอายุในวันที่ 16 มิถุนายน 2535 ต่อมาเมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535ประกาศใช้อันมีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 สิงหาคม 2535 โดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนเช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกาฉบับก่อน ซึ่งเหตุผลในการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 ก็เนื่องจากการเวนคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530ยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 จึงเป็นพระราชกฤษฎีกาที่ออกต่อเนื่องในกิจการเดียวกัน ทั้งนี้จะเห็นว่าไม่มีการกำหนดแนวเวนคืนเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงแนวเวนคืนเดิม จึงไม่มีเหตุจำเป็นอย่างใดที่จำเลยที่ 2 จะต้องดำเนินการสำรวจที่ดินของโจทก์ทั้งสองใหม่อีกเพราะจำเลยได้ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว ตามอำนาจหน้าที่โดยมีกฎหมายรองรับอยู่โดยชอบแล้วในขณะนั้น นอกจากนั้นในการคิดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองที่ถูกเวนคืนก็ได้ความว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนแล้วซึ่งคณะกรรมการได้ถือเอาราคาตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพ.ศ. 2535 มาเป็นราคาเบื้องต้นที่กำหนดสำรับที่ดินของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองกำหนดให้ใช้บัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ. 2535อันเป็นราคาประเมินที่สูงกว่า และจำเลยทั้งสองเห็นว่าเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสอง ซึ่งโจทก์ทั้งสองก็ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.5 หรือ ล.10 กับจำเลยตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ดังนั้นถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองแล้ว สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในเขตที่จะเวนคืนตามเอกสารหมาย จ.5 หรือ ล.10 จึงชอบด้วยกฎหมายเพราะหลังจากได้ปฏิบัติตามขั้นตอนมาดังกล่าวแล้วสัญญาซื้อขายนั้นก็ได้กระทำในขณะที่พระราชกฤษฎีกาเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนพ.ศ. 2535 ใช้บังคับ โดยจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนมีอำนาจทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวกับโจทก์ได้ตามมาตรา 10แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ซึ่งถ้าโจทก์ทั้งสองเห็นว่าค่าทดแทนตามสัญญาดังกล่าวไม่เป็นธรรมก็ยังมีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดวิธีแก้ไขเยียวยาให้โจทก์ทั้งสองขอความเป็นธรรมต่อไปได้อีก โดยยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และถ้ายังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยในกำหนดเวลา โจทก์ทั้งสองก็ยังมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้อีก ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 และ 26แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายไม่ตกเป็นโมฆะตามที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
พิพากษายืน

Share