แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนระบุอ้างแต่ ป.อ. มาตรา 340 ตรี ซึ่งเป็นกฎหมายที่ลงโทษผู้กระทำความผิดให้หนักขึ้น โดยมิได้อ้างมาตรา 340 อันเป็นบทบัญญัติองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ไว้ก็ตาม แต่โจทก์ก็ระบุไว้ที่หน้าคำฟ้องในช่องฐานความผิดว่าปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืน และโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป และให้พ้นการจับกุมประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ก็ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามบทบัญญัติมาตรา 340 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ทั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เข้าใจข้อหาได้ดีและไม่หลงต่อสู้ แสดงว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนดังกล่าว และมีผลเท่ากับโจทก์อ้างมาตราในกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) แล้ว เพียงแต่โจทก์ระบุบทมาตราที่ขอให้ลงโทษขาดตกบกพร่องเท่านั้นคำฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 58, 80, 83, 91, 92, 288, 340 ตรี, 357, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 กับให้บวกโทษของจำเลยที่ 4 ซึ่งรอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4394/2542 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยที่ 4 ในคดีนี้
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 340 วรรคสี่ (ที่ถูก มาตรา 340 วรรคสอง และวรรคสี่), 340 ตรี, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ลงโทษฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิงและโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 24 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 26 ปี 12 เดือน จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำคุกคนละ 18 ปี จำเลยที่ 4 จำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก และยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 และที่ให้บวกโทษของจำเลยที่ 4
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า …การที่นำจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไปนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพไม่พร้อมกัน แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพด้วยความสมัครใจ ซึ่งหากไม่เป็นความจริงย่อมเป็นการยากที่พนักงานสอบสวนจะบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชี้และแสดงท่าทางประกอบเช่นนั้นได้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แม้ความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืน คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ระบุอ้างแต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ลงโทษผู้กระทำความผิดให้หนักขึ้น โดยมิได้อ้างมาตรา 340 อันเป็นบทบัญญัติองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ไว้ก็ตาม แต่โจทก์ก็ระบุไว้ที่หน้าคำฟ้องในช่องฐานความผิดว่าปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืน และโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือพาทรัพย์นั้นไปและให้พ้นการจับกุม ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ก็ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามบทบัญญัติมาตรา 340 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ทั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เข้าใจข้อหาได้ดีและไม่หลงต่อสู้ แสดงว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนดังกล่าว และมีผลเท่ากับโจทก์อ้างมาตราในกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) แล้ว เพียงแต่โจทก์ระบุบทมาตราที่ขอให้ลงโทษขาดตกบกพร่องเท่านั้น คำฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ ศาลลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนยิง และโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุมตามที่พิจารณาได้ความได้ ส่วนจำเลยที่ 4 โจทก์มีนางสมควรเป็นพยานเบิกความว่า วันเดือนปีใดซึ่งพยานจำไม่ได้แล้วเวลาประมาณ 15 นาฬิกา พยานเดินทางกลับจากที่ทำงาน ขณะเดินตามทางถนนเพื่อเข้าบ้านจะต้องผ่านบ้านของนายประดิษฐ์ซึ่งเป็นลุงของสามีพยาน เห็นนายประดิษฐ์ยืนคุยอยู่กับนายเพ็ชรเกี่ยวกับเรื่องการซื้อขายรถจักรยานยนต์ป๊อป และเห็นรถจักรยานยนต์ป๊อปจอดอยู่ที่บ้านของนายประดิษฐ์ ต่อมามีเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมตัวนายประดิษฐ์และยึดรถจักรยานยนต์ป๊อปจำนวน 3 คันไป แม้จะไม่ได้เบิกความว่ามีจำเลยที่ 4 ด้วยหรือไม่ แต่พยานให้การในชั้นสอบสวนไว้ด้วยตามบันทึกคำให้การของพยาน ซึ่งมีรายละเอียดว่านายประดิษฐ์เรียกให้พยานเข้าไปช่วยดูรถจักรยานยนต์ป๊อปคันหนึ่งซึ่งจำเลยที่ 4 นำไปขายให้แก่นายประดิษฐ์ในราคา 5,000 บาท พยานบอกว่าราคาไม่ถูกและไม่แพงเกินไป นายประดิษฐ์จึงรับซื้อไว้ ประกอบกับโจทก์มีร้อยตำรวจเอกวีระชีพกับร้อยตำรวจโทสุรพงศ์เป็นพยานเบิกความว่า จากการสืบสวนทราบว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 นำรถจักรยานยนต์ไปขายให้แก่นายประดิษฐ์ พยานจึงขอหมายค้นจากศาลชั้นต้นเพื่อไปตรวจค้นบ้านของจำเลยที่ 4 ผลการตรวจค้นไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย แต่จำเลยที่ 4 รับว่าร่วมกับจำเลยที่ 3 นำรถจักรยานยนต์ทั้งสามคันไปขายให้แก่นายประดิษฐ์ พยานจึงติดตามไปที่บ้านของนายประดิษฐ์ พบนายประดิษฐ์และรถจักรยานยนต์ทั้งสามคัน นายประดิษฐ์รับว่ารับซื้อมาจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 4 ว่ารับของโจร จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุม ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 4 ก็ยังคงให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา การที่จำเลยที่ 4 นำรถจักรยานยนต์ที่ได้มาจากการปล้นทรัพย์ไปขายให้แก่นายประดิษฐ์ดังกล่าว จึงเป็นการช่วยจำหน่ายและรับไว้ซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสี่ที่ว่า จำเลยทั้งสี่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจบังคับขู่เข็ญและหลอกลวงให้รับสารภาพนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ได้โต้แย้งตั้งแต่ชั้นจับกุมหรือชั้นสอบสวน ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่หรือญาติพี่น้องของจำเลยทั้งสี่ได้ร้องเรียนไปยังผู้บังคับบัญชาของเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนหรือหน่วยงานอื่นใดที่มีหน้าที่ตรวจสอบและดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน คงเป็นแต่ข้อกล่าวอ้างลอย ๆ ของจำเลยทั้งสี่ในชั้นพิจารณาเท่านั้น พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสี่ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.