คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4349/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ธนาคารโจทก์ร่วมยอมให้มีการโอนเงินไปตามเอกสารใบถอนเงินที่จำเลยกระทำ มิได้ขึ้นอยู่กับข้อความในเอกสารเป็นความจริงหรือความเท็จ แต่เป็นเพราะเอกสารใบถอนเงินที่จำเลยได้รับมอบอำนาจให้กระทำได้มีรายการครบถ้วนและมีลายมือชื่อกับรหัสประจำตัวของจำเลย การอนุมัติให้มีการโอนเงินออกไปจากบัญชีของโจทก์ร่วมจึงมิได้เกิดจากการที่จำเลยหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความในเอกสารอันเป็นเท็จ การที่จำเลยทำเอกสารใบถอนเงิน โดยมีข้อความอันเป็นเท็จแล้วเสนอไปตามขั้นตอนเพื่อให้มีการอนุมัติโอนเงินตามเอกสารนั้น จึงเป็นเพียงวิธีการที่จะทำให้จำเลยเอาเงินของโจทก์ร่วมออกไปจากบัญชีของโจทก์ร่วมโดยทุจริต มิใช่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานลูกจ้างของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)ผู้เสียหายซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและเป็นนายจ้างของจำเลยโดยจำเลยปฏิบัติงานอยู่ที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชา) สาขาสำนักงานพหลโยธิน มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าส่วนทำหน้าที่ธนกรสาขา (พนักงานบัญชี) มีอำนาจหน้าที่ดูแลและควบคุมงานด้านดี-แอล/ซี ซึ่งหมายถึงหนังสือรับรองที่ออกโดยผู้เสียหายจากผู้ซื้อภายในประเทศ ไปถึงผู้ขายภายในประเทศโดยผ่านธนาคารที่ผู้ขายติดต่ออยู่ และควบคุมงานด้านพี/เอ็น ซึ่งหมายถึงการกู้เงินระยะสั้น โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน กับออกเอกสารทุกชนิดที่เกี่ยวกับการรับค่าธรรมเนียมที่เก็บจากลูกค้า และออกเอกสารเบิกเงินของผู้เสียหายเพื่อชำระแทนลูกค้าตามที่ผู้เสียหายได้ค้ำประกันลูกค้าไว้และลงบัญชีเบื้องต้น จำเลยกับพวกที่หลบหนีลักทรัพย์ของนายจ้างโดยอาศัยโอกาสที่จำเลยมีหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้เสียหายจัดทำเอกสารชุดโอนเงินซึ่งประกอบด้วยใบถอนเงินหรือใบเดบิตสลิป ใบนำฝากหรือใบเดบโพสิตสลิปหรือใบเครดิตสลิป ซึ่งจำเลยต้องลงลายมือชื่อในช่องผู้รับมอบอำนาจหรือช่องลายมือชื่อพนักงานของผู้เสียหาย พร้อมแบบสรุปยอดรายการโอนเงินซึ่งจำเลยต้องลงลายมือชื่อในช่องผู้ปฏิบัติ อันเป็นการดำเนินการโอนเงินของผู้เสียหายให้แก่ลูกค้าผู้ขอกู้เงินจากผู้เสียหายเพื่อชำระดอกเบี้ยในเงินทดรองจ่ายของผู้เสียหาย ซึ่งชำระให้แก่คู่สัญญาของลูกค้าผู้เสียหาย เพื่อชำระค่าธรรมเนียมในการทำหนังสือรับรองของผู้เสียหายเพื่อชำระค่าธรรมเนียมตามภาระผูกพันตั๋วแลกเงิน เพื่อชำระดอกเบี้ยจากการรับซื้อลดตั๋วแลกเงินและจ่ายเงินทดรองของผู้เสียหายให้แก่คู่สัญญาของลูกค้าผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายจะเรียกเก็บเงินเหล่านี้จากลูกค้าที่มีสัญญากับผู้เสียหายด้วยการหักทอนบัญชีเพื่อนำเข้าเป็นรายได้ของผู้เสียหายในภายหลัง จำเลยกับพวกดังกล่าวร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างวาระกัน กล่าวคือ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2541 เวลากลางวันจำเลยกับพวกร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหาย โดยอาศัยโอกาสที่จำเลยมีหน้าที่ในฐานะผู้รับมอบอำนาจและพนักงานของผู้เสียหายทำการถอนเงิน 210,200 บาท ของผู้เสียหายไป โดยทำเอกสารเท็จว่าเป็นการชำระตั๋วแลกเงินประกอบ ดี-แอล/ซี ให้แก่ลูกค้าผู้มีชื่อของผู้เสียหายแล้วโอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชี เลขที่ 324-2-28502-3 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำโรง (ศูนย์การค้าปู่เจ้าสมิงพราย) ของพวกจำเลยที่หลบหนีไป แล้วจำเลยกับพวกได้ร่วมกันเบิกถอนเงินดังกล่าวไปเป็นของตนโดยทุจริต เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายโดยอาศัยโอกาสที่จำเลยมีหน้าที่ในฐานะผู้รับมอบอำนาจและพนักงานของผู้เสียหายทำการถอนเงิน 123,327.78 บาท ของผู้เสียหายไป โดยทำเอกสารเท็จว่าเป็นการชำระในการแก้ไขรายการชำระตั๋วแลกเงินที่ครบกำหนดแล้ว แต่ยังมิได้ชำระให้แก่ลูกค้าผู้มีชื่อของธนาคาร 71,799.68 บาท และชำระดอกเบี้ยของตั๋วเงินแลกเงินประกอบ ดี-แอล/ซีที่ค้างชำระ 51,528.10 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย แล้วโอนเงิน 71,799.68 บาท เข้าบัญชีเลขที่ 325-2-28502-3 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำโรง (ศูนย์การค้าปู่เจ้าสมิงพราย) ของพวกจำเลยที่หลบหนี้ไปแล้วจำเลยกับพวกร่วมกันเบิกถอนเงินจำนวน71,799.68 บาท เป็นของตนโดยทุจริต เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2541 เวลากลางวันจำเลยกับพวกร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหาย โดยอาศัยโอกาสที่จำเลยมีหน้าที่ในฐานะผู้รับมอบอำนาจและพนักงานของผู้เสียหายทำการถอนเงิน 90,800 บาท ของผู้เสียหายไปโดยทำเอกสารเท็จว่าเป็นการชำระตั๋วแลกเงินประกอบ ดี-แอล/ซี ให้แก่ลูกค้าผู้มีชื่อของผู้เสียหาย แล้วโอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีเลขที่ 325-2-28502-3 ธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) สาขาสำโรง (ศูนย์การค้าปู่เจ้าสมิงพราย) ของพวกจำเลยที่หลบหนีไปแล้วจำเลยกับพวกร่วมกันเบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นของตนโดยทุจริตและเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2541 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายโดยอาศัยโอกาสที่จำเลยมีหน้าที่ในฐานะผู้รับมอบอำนาจและพนักงานของผู้เสียหายทำการถอนเงิน 192,750 บาท ของผู้เสียหายไป โดยทำเอกสารเท็จว่าเป็นการชำระตั๋วแลกเงินประกอบ ดี-แอล/ซี ให้แก่ลูกค้าผู้มีชื่อของผู้เสียหายแล้วโอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีเลขที่ 325-2-28502-3 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำโรง (ศูนย์การค้าปู่เจ้าสมิงพราย) ของพวกจำเลยที่หลบหนีไป แล้วจำเลยกับพวกร่วมกันเบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นของตนโดยทุจริต รวมเงินของผู้เสียหายที่จำเลยกับพวกร่วมกันลักไปจำนวน 565,549.68 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91, 335 ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 372,799.68 ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายและนับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 10282/2541 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ระหว่างพิจารณา ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(11) วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 4 กระทงจำคุก 16 ปี แถลงรับข้อเท็จจริงของจำเลยในระหว่างพิจารณามีประโยชน์ต่อการพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก8 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 372,799.68 บาท ให้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)โจทก์ร่วม ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 10282/2541 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษา จึงไม่นับโทษต่อให้ ให้ยกคำขอส่วนนี้

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 12 ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าส่วน ทำหน้าที่ธนากรสาขาโดยมีอำนาจหน้าที่ดูและควบคุมงานด้านการออกหนังสือรับรองของโจทก์ร่วมให้แก่ลูกค้าถึงผู้ขายภายในประเทศผ่านทางธนาคารกับควบคุมดูแลงานด้านกู้เงินระยะสั้นโดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินรวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้อาศัยโอกาสในหน้าที่ของจำเลยทำเอกสารใบถอนเงินจากโจทก์ร่วมระบุโดยเงินเข้าบัญชีลูกค้าอันเป็นเท็จแล้วได้โอนเงินของโจทก์ร่วมเข้าบัญชีของนางสุพัตรา นกแก้ว พวกของจำเลยหลังจากนั้นก็ได้ร่วมกับพวกเบิกถอนเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ของตนกับพวก มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่าการกระทำของจำเลยตามพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมาเป็นความผิดฐานฉ้อโกงมิใช่ความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างหรือไม่จำเลยฎีกาว่า เมื่อจำเลยได้ทำเอกสารใบถอนเงินอันเป็นเท็จแล้ว ได้เสนอตามขั้นตอนเพื่อเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของโจทก์ร่วมโอนไปเข้าบัญชีของนางสุพัตรา โดยพนักงานบัญชีของโจทก์ร่วมจะต้องตรวจสอบลายมือชื่อของจำเลยและหมายเลขบัญชีว่าถูกต้องตรงกับเอกสารที่จำเลยจัดทำขึ้นหรือไม่ หลังจากผ่านการตรวจสอบแล้วจึงจะมีการโอนเงินไปเข้าบัญชีตามใบถอนเงินที่จำเลยทำเท็จขึ้น เห็นว่า ในข้อนี้โจทก์และโจทก์ร่วมมีนางโสภาพรรณ กฤษฎาธิวุฒิ ผู้บังคับบัญชาของจำเลย นางสาวจิราพร พักตร์เพียงจันทร์ กับนางวิรัตน์ เดชากุล เจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัญชีและควบคุมภายใน นางจิตสมบูรณ์สมประสงค์ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัญชีและอนุมัติรายการเข้าบัญชี และนายวิชัยวิศิษฐ์จินดา เจ้าหน้าที่ดูแลและควบคุมบัญชีมาเบิกความได้ความสอดคล้องตรงกันว่า ฝ่ายบัญชีมีหน้าที่โอนเงินตามรายการที่จำเลยกระทำขึ้น โดยตรวจสอบเพียงจำนวนเงินเลขที่บัญชี ที่จำเลยระบุให้โอนเงินไป และมีลายมือชื่อของจำเลยในช่องผู้รับมอบอำนาจกับรหัสประจำตัวของจำเลย เมื่อพยานโจทก์และโจทก์ร่วมตรวจสอบเอกสารใบถอนเงินที่จำเลยกระทำมีรายการถูกต้องนางจิตสมบูรณ์จึงอนุมัติให้นายวิชัยโอนเงินไปเข้าบัญชีของผู้รับเงินตามเอกสารที่จำเลยกระทำขึ้น พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมาดังกล่าวจึงฟังได้ว่า การที่พยานโจทก์และโจทก์ร่วมยอมให้มีการโอนเงินไปตามเอกสารใบถอนเงินที่จำเลยกระทำขึ้นนั้น มิได้ขึ้นอยู่กับข้อความในเอกสารดังกล่าวว่าจะเป็นความจริงหรือความเท็จ แต่เป็นการโอนเงินไปเพราะเอกสารใบถอนเงินที่จำเลยได้รับมอบอำนาจให้กระทำได้มีรายการครบถ้วนและมีลายมือชื่อกับรหัสประจำตัวของจำเลย หากจำเลยไม่กระทำด้วยวิธีดังกล่าวย่อมไม่สามารถเอาเงินออกไปจากบัญชีของโจทก์ร่วมได้การอนุมัติให้มีการโอนเงินออกไปจากบัญชีของโจทก์ร่วมจึงมิได้เกิดจากการที่จำเลยหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความในเอกสารอันเป็นเท็จ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ร่วมการที่จำเลยกระทำเอกสารใบถอนเงินโดยมีข้อความอันเป็นเท็จแล้วเสนอไปตามขั้นตอนเพื่อให้มีการอนุมัติโอนเงินตามเอกสารนั้น จึงเป็นเพียงวิธีการที่จะทำให้จำเลยเอาเงินของโจทก์ร่วมออกไปจากบัญชีของโจทก์ร่วมโดยทุจริต การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงดังที่จำเลยฎีกา แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share