คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5538/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินที่อยู่ติดต่อกับที่ดินโจทก์ จำเลยที่ 3 เป็นบิดาจำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างอาคารตึก3 ชั้น ลงในที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เพื่อขายแก่บุคคลภายนอกโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร มีจำเลยที่ 4 ที่ 5เป็นผู้ตอกเสาเข็ม แม้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือจัดการตอกเสาเข็ม อำนาจในการควบคุมการตอกเสาเข็มการวางแผน วิธีการในการตอกเสาเข็ม การออกคำสั่ง การควบคุมคนงานในการตอกเสาเข็ม การกระทำต่าง ๆ เหล่านี้ตกอยู่ภายใต้อำนาจและการควบคุมของจำเลยที่ 4 ที่ 5 ทั้งสิ้นก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3ก็อาจต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำสั่งที่ให้ไว้ตามข้อยกเว้นของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 ได้ ซึ่งระหว่างการตอกเสาเข็มรายนี้ โจทก์ที่ 1 ได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการเขตดุสิตขอให้ระงับการตอกเสาเข็มและหาวิธีการมิให้เกิดความเสียหายขึ้นอีกผู้อำนวยการเขตเรียกทั้งสองฝ่ายไปเจรจากัน จำเลยที่ 1 และที่ 3รับว่าจะควบคุมการตอกเสาเข็มมิให้ผู้อื่นเดือดร้อนเสียหายค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วหรืออาจมีขึ้นอีกก็ยินดีชดใช้ให้อันเป็นการยอมรับผิดในผลที่เกิดจากคำสั่งที่จำเลยทั้งสองนี้ให้ไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 จำเลยที่ 1 และที่ 3จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 อย่างลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์โดยรับผิดเต็มจำนวนความเสียหาย ส่วนความรับผิดระหว่างจำเลยด้วยกันเป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 15904, 15905 โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของอาคาร 2 ชั้นเลขที่ 260/1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยินยอมอนุญาตให้จำเลยที่ 1กับที่ 3 เข้าทำการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยบนที่ดินของจำเลยที่ 1ที่ 2 ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินและอาคารตึก 2 ชั้น ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ผู้ทำการก่อสร้างและเป็นตัวการหรือผู้รับประโยชน์ของจำเลยที่ 4 และที่ 5 โดยจำเลยที่ 4ที่ 5 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์ กล่าวคือ จำเลยที่ 4 ที่ 5 ทำการตอกเสาเข็มลงบนที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเหตุให้อาคาร 2 ชั้น ของโจทก์ที่ 2ที่ปลูกสร้างอยู่ติดต่อกับที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ได้รับความเสียหายตัวอาคารแตกร้าวทรุดโทรม ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้เงิน 470,000 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ร่วมกันใช้ค่าขาดประโยชน์เดือนละ 14,400 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะซ่อมแซมอาคารเสร็จสามารถให้เช่าได้
จำเลยทั้งห้าให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร จำเลยที่ 4 ที่ 5 ไม่ได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 4 ที่ 5 ผู้มีอาชีพรับจ้างตอกเสาเข็มทำการตอกเสาเข็มเพื่อทำการปลูกสร้างอาคาร จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 4 ที่ 5 ในการตอกเสาเข็ม รอยแตกร้าวและความเสียหายเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ทำการตอกเสาเข็มขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4และที่ 5 ร่วมกันใช้เงิน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 จะยกข้อต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะจำเลยทั้งสองนี้ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือจัดการตอกเสาเข็มดังกล่าวนี้แต่ประการใดเลย อำนาจในการควบคุมการตอกเสาเข็มก็ดี วิธีการในการตอกเสาเข็มก็ดี การวางแผนงานในการตอกเสาเข็มก็ดี การออกคำสั่งให้คนงานตอกเสาเข็มก็ดี หรือการควบคุมคนงานในการตอกเสาเข็มก็ดีการกระทำต่าง ๆ เหล่านี้ตกอยู่ภายใต้อำนาจและการควบคุมของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ทั้งสิ้น การควบคุมคนงานในการตอกเสาเข็มในการก่อสร้างคนงานนั้นก็ไม่ใช่คนงานของจำเลยที่ 1 และที่ 3ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 อาจต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำสั่งที่ให้ไว้ตามข้อยกเว้นของมาตรา 428 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ได้ ซึ่งระหว่างการตอกเสาเข็มรายนี้ โจทก์ที่ 1 ได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการเขตดุสิตขอให้ระงับการตอกเสาเข็มและหาวิธีการมิให้เกิดความเสียหายขึ้นอีก ผู้อำนวยการเขตดุสิตเรียกทั้งสองฝ่ายไปเจรจากัน จำเลยที่ 1 และที่ 3 รับรองว่าจะควบคุมการตอกเสาเข็มมิให้ผู้อื่นเดือดร้อนเสียหาย ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วหรืออาจมีขึ้นอีกก็ยินดีชดใช้ให้ อันเป็นการยอมรับผิดในผลที่เกิดจากคำสั่งที่จำเลยทั้งสองให้ไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 428 จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นความรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1และที่ 3 จึงต้องรับผิดโดยเต็มจำนวน ส่วนความรับผิดระหว่างจำเลยด้วยกันเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องว่ากล่าวกันเอง
พิพากษายืน

Share