แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหาย ตาม ป.อ. มาตรา 271 หมายถึง ผู้ซื้อของซึ่งหลงเชื่อการขายของโดยหลอกลวง ไม่ใช่เจ้าของรูปรอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้า และตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 39 บัญญัติให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการ… เพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล คำว่า ผู้เสียหาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 3 หมายความว่า ผู้ซื้อหรือได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ ฯลฯ เมื่อโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการและเครื่องหมายการค้า โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 จึงไม่มีสิทธิเข้าเป็นโจทก์ร่วมในความผิดตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และ มาตรา 271 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและไม่มีอำนาจอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 271, 272, 275 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3, 47, 59 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 มาตรา 14
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทเชลล์อินเตอร์เนชั่นแนล ปิโตรเลียม จำกัด ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271, 272 และ 275 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3, 47, 59 ซึ่งผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ก็คือ ผู้ซื้อของซึ่งหลงเชื่อในการขายของโดยหลอกลวง ไม่ใช่เจ้าของรูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใดๆ ในการประกอบการค้า และตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรเข้าดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการหรือข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค… เพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล เห็นได้ว่า ผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคก็คือ ผู้บริโภค ซึ่งตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ให้นิยามคำว่า “ผู้บริโภค” หมายความว่า ผู้ซื้อหรือได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจและหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการด้วย แต่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการและเครื่องหมายการค้าซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ในประเทศไทย โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 จึงไม่มีสิทธิเข้าเป็นโจทก์ร่วมในความผิดตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ เมื่อโจทก์ร่วมไม่มีสิทธิเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47 โจทก์ร่วมจึงไม่มีอำนาจอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในความผิดดังกล่าวได้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในความผิดดังกล่าวมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็ไม่รับวินิจฉัยให้…
พิพากษายืน