คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5773/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยในคดีนี้เคยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งธนบุรีอ้างว่าจำเลยซื้อบ้านและที่ดินพิพาทจากโจทก์โจทก์ขออาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยไม่ประสงค์ให้อาศัยอีกแจ้งให้ออกขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหาย โจทก์ได้ให้การและฟ้องแย้งว่าสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางโจทก์โอนบ้านและที่ดินพิพาทให้จำเลยเพื่อเป็นการประกันหนี้เงินกู้ขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ ศาลแพ่งธนบุรีเห็นว่าฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งและพิพากษาให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากบ้านและที่ดินพิพาท โจทก์อุทธรณ์ ขณะที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ได้มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยและให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทคืนแก่โจทก์โดยอ้างว่าสัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทเป็นนิติกรรมอำพราง ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง โจทก์ฎีกา คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา การที่โจทก์จะนำคดีเรื่องเดียวกันมาฟ้องจำเลยคนเดียวกันอีกจึงเป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องแย้งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 16192 ต่อมาเมื่อปี 2533โจทก์ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย การซื้อขายดังกล่าวไม่มีการชำระเงินกันและเป็นนิติกรรมอำพราง การที่โจทก์โอนที่ดินให้จำเลยก็เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ ซึ่งโจทก์ได้กู้ยืมมาจากจำเลยจำนวน 2,000,000 บาท โจทก์และจำเลยตกลงกันว่าหากโจทก์ไม่ประสงค์จะกู้เงินแล้ว จำเลยจะโอนที่ดินคืนให้แก่โจทก์ต่อมาโจทก์ได้เสนอจะชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท ให้แก่จำเลยพร้อมทั้งขอให้จำเลยโอนที่ดินคืนให้แก่โจทก์ จำเลยไม่ยินยอมขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยและให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 16192 แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานครคืนให้แก่โจทก์โดยโจทก์พร้อมที่จะชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เดือนกันยายน 2536 เป็นต้นไปให้แก่จำเลย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า จำเลยในคดีนี้เคยฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งธนบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 3819/2536 คดีหมายเลขแดงที่ 638/2537 ซึ่งโจทก์ได้ให้การต่อสู้ในคดีดังกล่าวว่าสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางศาลแพ่งธนบุรีวินิจฉัยว่า ไม่เป็นนิติกรรมอำพรางและพิพากษาขับไล่โจทก์และบริวารออกจากบ้านและที่ดินดังกล่าว โจทก์ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแพ่งธนบุรี ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในปัญหาว่าสัญญาซื้อขายเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่จนกว่าคดีดังกล่าวจะถึงที่สุดแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า เดิมจำเลยในคดีนี้เคยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งธนบุรีตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 3819/2536 คดีหมายเลขแดงที่ 638/2537 ระหว่างนางเนาวรัตน์ จึงสุจริตใจหรือพินิจศักดิ์กุลโจทก์ นายชัยโรจน์ พิบูลย์เจริญสิทธิ์ จำเลย ศาลแพ่งธนบุรีมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2537 ให้โจทก์และบริวารออกจากบ้านและที่ดินพิพาท โจทก์อุทธรณ์ ขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2538 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลแพ่งธนบุรี
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย และวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องแย้งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 638/2537 ของศาลแพ่งธนบุรี ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง (1) พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เดิมจำเลยในคดีนี้เคยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งธนบุรีเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 3819/2536 คดีหมายเลขแดงที่ 638/2537 อ้างว่า จำเลยซื้อบ้านและที่ดินพิพาทจากโจทก์ โจทก์ขออาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยไม่ประสงค์ให้อาศัยอีกแจ้งให้ออก โจทก์เพิกเฉยขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหายโจทก์ได้ให้การและฟ้องแย้งว่า สัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพราง โจทก์โอนบ้านและที่ดินพิพาทให้จำเลยเพื่อเป็นการประกันหนี้เงินกู้ ในวงเงิน 2,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ศาลแพ่งธนบุรี เห็นว่า ฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม มีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง และพิพากษาให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากบ้านและที่ดินพิพาท โจทก์อุทธรณ์ขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ได้มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องแย้ง โจทก์ฎีกา คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องแย้ง ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 638/2537 ของศาลแพ่งธนบุรีหรือไม่ โจทก์ฎีกาอ้างว่าศาลแพ่งธนบุรีสั่งไม่รับฟ้องแย้งของโจทก์เพราะเป็นฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมโจทก์จึงนำคดีมาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนและโจทก์ฎีกาคำสั่งของศาลแพ่งธนบุรีและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แต่ศาลฎีกายังไม่มีคำสั่งอนุญาตให้รับฟ้องแย้งของโจทก์ การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงไม่เป็นการฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสองบัญญัติว่า “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้วคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้ (1) ห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น” คดีนี้กับคดีฟ้องแย้งเป็นเรื่องเดียวกัน แม้ศาลแพ่งธนบุรีจะมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง ก็ถือได้ว่าจำเลยในคดีดังกล่าวมีฐานะเป็นโจทก์ฟ้องแย้งนับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแย้งแล้ว และคดีฟ้องแย้งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์จะนำคดีเรื่องเดียวกันมาฟ้องจำเลยคนเดียวกันอีกไม่ได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องแย้ง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
พิพากษายืน

Share