คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3376/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีเดิมโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยได้ฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีเดิมศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง โจทก์อุทธรณ์คำสั่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับฟ้องแย้งคดีเดิมและต่อมาโจทก์ถอนอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงซ้อนกับฟ้องแย้งในคดีเดิมต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง แม้ต่อมาจะปรากฏว่าโจทก์ได้ถอนอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้งแล้วก็หาทำให้ฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในขณะยื่นคำฟ้องมาแต่ต้นกลายเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามได้ยกเลิกสัญญาที่ตกลงตั้งโจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวโดยไม่ชอบทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 7,017,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1052/2531 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ จำเลยที่ 1 เลิกสัญญากับโจทก์โดยชอบ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้วคดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาและผลแห่งการนี้ (1) ห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น ฯลฯ” ปรากฏว่าเดิมจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยฐานผิดสัญญาและเรียกค่าสินค้า โจทก์ให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยซึ่งมูลหนี้ตามฟ้องแย้งเป็นมูลหนี้ตามฟ้องคดีนี้ ศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้และต่อมาโจทก์จึงขอถอนอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง เมื่อฟ้องแย้งในคดีเดิมของโจทก์เป็นเรื่องเดียวกันกับคดีนี้และโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเดิมมีฐานะเป็นโจทก์ในส่วนฟ้องแย้งในคดีเดิมด้วย การที่คดีเดิมอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้จึงซ้อนกับฟ้องแย้งในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1052/2531 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แม้ต่อมาจะปรากฏว่าโจทก์ได้ถอนอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้งแล้วก็หาทำให้ฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในขณะยื่นฟ้องมาแต่ต้นกลายเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมา
พิพากษายืน

Share