แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าบริษัทจำเลยที่ 1 เจ้าของโรงงาน และจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทได้บังอาจระบายน้ำทิ้งลงในแม่น้ำ เป็นการฝ่าฝืนประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2512 มาตรา 39,50 เมื่อจำเลยรับสารภาพจึงลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติซึ่งโจทก์กล่าวมาในฟ้องแล้วได้ แม้โจทก์จะมิได้ระบุมาตรา 50 ทวิมาด้วยก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า บริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานทอและฟอกย้อมผ้าเจริญสวัสดิ์ใยเทียมยืด จำกัด และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัททราบประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแล้วได้บังอาจระบายน้ำทิ้งจากโรงงานดังกล่าวลงในแม่น้ำท่าจีนโดยมิได้ทำให้ค่าของความเป็นกรดด่างระหว่าง 5 ถึง 9 ตามประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขอใหลงโทษตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 39(6), 50 พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2518 มาตรา 15
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงปรับจำเลยที่หนึ่ง 5,000 บาท จำคุกจำเลยที่สอง15 วัน โทษจำคุกเปลี่ยนเป็นกักขังแทน 15 วัน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา และจำเลยที่ 2 ว่าฟ้องโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษตามมาตรา 50 ทวิ เป็นการที่โจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเพียงกรรมการจะลงโทษจำเลยที่ 2 ไม่ได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกาทำนองเดียวกับอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อเท็จจริงโดยผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงชื่อในคำพิพากษา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มาตรา 50 ทวิบัญญัติว่า “ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือนิติบุคคลอื่นกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ กรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการกระทำอันเป็นความผิดนั้นต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การกระทำนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย” พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ตามฟ้องของโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าบริษัทเจริญสวัสดิ์ใยเทียมยืด จำกัด จำเลยที่ 1 โดยนายพิทักษ์ จำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทฯ ผู้เป็นเจ้าของและได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทอและฟอกย้อมผ้าได้กระทำความผิดต่อกฎหมาย โดยระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงานของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวลงแม้น้ำท่าจีนเป็นการฝ่าฝืนประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2518 มาตรา 15 จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ จึงลงโทษจำเลยที่ 2 ตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งโจทก์กล่าวมาในคำฟ้องแล้วได้ แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุมาตรา 50 ทวิ มาในคำฟ้องด้วยก็ตาม ส่วนปัญหาข้อต่อไปที่จำเลยที่ 2 ขอให้รอการลงโทษนั้นเห็นว่าตามพฤติการณ์แห่งคดีและสภาพความผิดยังไม่มีเหตุสมควรที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงดุลพินิจของศาลล่างทั้งสอง
พิพากษายืน