คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7010/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งได้รับโอนที่ดินจาก ม.ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะมาเกินกว่า 10 ปี อันมีผลทำให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในฐานะเป็นเจ้าของที่ดินที่รับโอนมาจาก ม.ได้ภาระจำยอมในการใช้ทางพิพาทผ่านเข้าออกระหว่างที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับทางสาธารณะก็ตาม แต่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 นำที่ดินแปลงเดิมที่ได้รับโอนมาจาก ม.ไปแลกเอาที่ดินแปลงใหม่มาจากจำเลยเสียแล้วเมื่อ พ.ศ.2528 ซึ่งระยะเวลาที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงใหม่นับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 6 ปีเศษ และโจทก์ที่ 3เข้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวเมื่อ พ.ศ.2534 นับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเพียง 1 ปีเศษ ดังนั้นแม้จะฟังว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงใหม่ได้ใช้ทางพิพาทผ่านเข้าออกระหว่างที่ดินของตนกับทางสาธารณะตลอดมาถึงวันฟ้องด้วยอำนาจปรปักษ์ ก็มีระยะเวลายังไม่ถึง 10 ปีทางพิพาทจึงยังไม่เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินแปลงใหม่
เจ้ามรดกที่ดินที่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 7 ได้รับโอนมรดกมาได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางผ่านเข้าออกระหว่างที่ดินมรดกกับทางสาธารณะในหมู่บ้านด้วยอำนาจปรปักษ์ต่อเจ้าของทางพิพาทตลอดมาซึ่งเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ครั้นโจทก์ที่ 4ถึงที่ 7 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกสืบต่อมา แม้จะใช้ทางพิพาทผ่านเข้าออกระหว่างที่ดินแปลงดังกล่าวกับทางสาธารณะในหมู่บ้านตลอดมาด้วยอำนาจปรปักษ์ต่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของทางพิพาทมายังไม่ครบ 10 ปีก็ตาม แต่เมื่อนับระยะเวลาที่ ก.เจ้ามรดกได้ใช้ทางพิพาทมาก่อนรวมเข้ากับระยะเวลาที่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 7 ผู้รับมรดกได้ใช้ทางพิพาทต่อมาได้ระยะเวลาครบ 10 ปีแล้ว ที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นภารยทรัพย์ย่อมต้องตกอยู่ในภาระจำยอมในการที่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 7 จะใช้ทางพิพาทเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 7 ซึ่งเป็นสามยทรัพย์โดยอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1385

Share