คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 48/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฎีกาจำเลยที่ 2 ที่ว่า กรมการขนส่งทางบกโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3(พ.ศ. 2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ข้อ 1 กำหนดให้เงินภาษีรถประจำปีเป็นเงินของจังหวัด หาใช่เงินของกรมการขนส่งทางบกไม่แม้สำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานีจะยังไม่ได้นำส่งแก่คลังจังหวัดอุบลราชธานี ตามระเบียบของราชการ ก็ถือว่าเป็นเงินรายได้ของจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเจ้าหน้าที่สำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานียักยอกเงินค่าภาษีรถประจำปี จังหวัดอุบลราชธานีจึงเป็นผู้เสียหายไม่ใช่โจทก์นั้น จำเลยที่ 2 มิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นในคำให้การไว้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรที่จะยกขึ้นวินิจฉัยให้ จึงไม่ยกขึ้นวินิจฉัยตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ระเบียบการเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ. 2520 ข้อ 73 และมติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือนว.155/2503 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2503 ที่กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งคณะกรรมการต้องเสนอผลการสอบสวนระบุตัวผู้รับผิดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ เพื่อเรียกให้ผู้รับผิดชดใช้เงินหากผู้ต้องรับผิดไม่ชดใช้ก็ให้ส่งเรื่องแก่พนักงานอัยการดำเนินคดีได้ทันที ไม่ต้องส่งให้กระทรวงหรือกรมเจ้าสังกัดสั่งการนั้นเป็นเรื่องการตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งเท่านั้นส่วนผู้ที่มีอำนาจฟ้องเป็นเรื่องที่กำหนดไว้ในกฎหมายซึ่งผู้เสียหายเท่านั้นที่จะฟ้องได้ ระเบียบดังกล่าวมิได้กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นโจทก์ฟ้องได้ ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งสอบสวนเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานียักยอกเงินค่าภาษีรถประจำปีเสร็จส่งเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีพิจารณาและผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ส่งเรื่องให้อธิบดีของกรมการขนส่งทางบกโจทก์ดำเนินคดีแก่ผู้ต้องรับผิดในทางแพ่งเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2526 และอธิบดีได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2526 ถือว่าโจทก์ได้ทราบตัวผู้ต้องรับผิดในวันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2527 ยังไม่พ้น 1 ปี นับแต่วันรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ยังไม่ขาดอายุความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคแรก จำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้างานการเงิน บัญชีและธุรการสารบรรณทั้งหมด รับผิดชอบในการกำกับ ควบคุมงานการเงินบัญชีและธุรการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชอบงานดังกล่าว และมีหน้าที่เก็บรักษาใบเสร็จรับเงินทั้งหมดด้วย จำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการพ.ศ. 2520 ข้อ 8 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับมอบพัสดุต่าง ๆ จากคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ซึ่งเป็นใบเสร็จรับเงินค่าภาษี 200 เล่มรวมอยู่ด้วย ซึ่งจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ดูแลเก็บรักษาไว้ แต่จำเลยที่ 2 กลับละเว้นปล่อยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บไว้เป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 ทุจริตนำใบเสร็จรับเงินเล่มที่ยังไม่ถึงกำหนดนำออกใช้เอาออกมาใช้รับเงินค่าภาษีรถและไม่ลงบัญชีไม่นำส่งเงินตามระเบียบ ได้เบียดบังเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวจึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า สำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานีเป็นหน่วยงานของโจทก์ จำเลยที่ 1 รับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี 1 สำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการรับและนำส่งเงิน จำเลยที่ 1 มีหน้าที่เก็บรักษาใบเสร็จรับเงินค่าภาษีรถ รับเงินค่าภาษีรถ ลงบัญชีเงินสดให้ถูกต้อง และเป็นกรรมการรับและนำส่งเงิน จำเลยที่ 2 รับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ขนส่ง 4 เป็นหัวหน้างานการเงิน บัญชีและธุรการสารบรรณ มีหน้าที่รับผิดชอบการปฏิบัติราชการในงานนี้ โดยกำกับ ควบคุม ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และมีหน้าที่เก็บรักษา ควบคุมการใช้ การออกใบเสร็จรับเงิน การรับเงินค่าภาษีรถ การลงบัญชี และเป็นกรรมการเก็บรักษาเงินทั้งมีหน้าที่จัดทำทะเบียนคุมใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งมีหน้าที่ตรวจสอบการเงินการบัญชีของสำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานี จำเลยที่ 3 รับราชการในตำแหน่งขนส่งจังหวัดอุบลราชธานี เป็นนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ที่ 2มีหน้าที่ตรวจสอบการเงิน การบัญชีเป็นครั้งคราวและตรวจดูแลข้าราชการและพนักงานในสังกัดให้ปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องตรงต่อความจริงเมื่อระหว่างวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2525 ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2525จำเลยที่ 1 ได้นำเอาใบเสร็จรับเงินค่าภาษีรถที่ยังมิได้จ่ายออกใช้ออกมาใช้รับเงินค่าภาษีรถรวม 39 ฉบับ เป็นเงินทั้งสิ้น95,572 บาท แล้วจำเลยที่ 1 ยักยอกเอาเงินดังกล่าวไปใช้ส่วนตัวทำให้โจทก์เสียหาย เหตุที่จำเลยที่ 1 กระทำดังกล่าวได้เนื่องจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 ประมาทเลินเล่อ คือไม่ควบคุมดูแลเก็บรักษาใบเสร็จรับเงิน ไม่ตรวจสอบการใช้ ไม่จัดทำทะเบียนคุมใบเสร็จรับเงินตามระเบียบ ปล่อยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บรักษาใบเสร็จรับเงินทั้งหมดที่รับมาจากโจทก์แต่ผู้เดียว เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 มีโอกาสลักเอาใบเสร็จรับเงินที่ยังมิได้จ่ายออกใช้นำออกมาใช้ได้ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันใช้เงินจำนวน95,572 บาท แก่โจทก์ ต่อมานายเฉลิม อุทธสิงห์ และนายอานนท์ กรรณสูต เจ้าหน้าที่สำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานีได้ร่วมกันใช้เงินคืนโจทก์แล้วจำนวน 8,636 บาท จึงเหลือเงินที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดอยู่อีก 86,936 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แต่วันฟ้องแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 มีหน้าที่เฉพาะร่วมกันกับกรรมการอื่นรับเงินงบประมาณ นำส่งเงินรายได้แผ่นดินและเงินฝากต่อคลังจังหวัด ตรวจสอบการบัญชีเงินค่าธรรมเนียมและค่าภาษีรถประจำวัน ตรวจสอบตัวเงินที่ได้รับว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่ ไม่ได้มีหน้าที่เก็บรักษา ควบคุมการใช้ การออกใบเสร็จรับเงินซึ่งเป็นหน้าที่ของบุคคลอื่นต่างหาก ในขณะจำเลยที่ 2 เข้ามารับหน้าที่หัวหน้างานการเงินมีการจัดทำทะเบียนคุมใบเสร็จรับเงินแล้ว และยังคงใช้ทะเบียนนั้นมาจนเกิดเหตุ เหตุคดีนี้เกิดขึ้นจากการทุจริตของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว โดยจำเลยที่ 1ถือโอกาสมาปฏิบัติงานในวันหยุด หรือนอกเวลาทำการใช้กุญแจปลอมที่ทำขึ้นเปิดเอาใบเสร็จรับเงินที่ยังไม่ถึงลำดับที่จะนำมาใช้มาใช้ร่วมกับใบเสร็จรับเงินในลำดับที่จะต้องใช้ประจำวันออกเป็นหลักฐานการรับเงินภาษีรถแล้วไม่นำเงินจำนวนนั้นมาส่งหรือลงบัญชีให้จำเลยที่ 2 ตรวจสอบในแต่ละวัน คงส่งเฉพาะเงินและใบเสร็จที่รับจากใบเสร็จรับเงินในลำดับที่ใช้ประจำวันให้จำเลยที่ 2 ตรวจสอบหลักฐานตัวเงินและหลักฐานทางบัญชีจึงถูกต้องตรงกันทุกวัน ดังนั้นแม้โจทก์จะวางระเบียบการปฏิบัติงานไว้รอบคอบรัดกุมเพียงใด ก็ย่อมต้องมีการผิดพลาดและทุจริตขึ้นได้ อันเป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดหมาย หรือเกินวิสัยของผู้บังคับบัญชาเช่นจำเลยที่ 2 จะหาทางป้องกันได้ จำเลยที่ 2 มิได้ประมาทเลินเล่อแต่ได้ใช้ความระมัดระวังพอสมควรแก่กรณีและพฤติการณ์อันพึงคาดหมายได้แล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1และสำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานี เป็นหน่วยงานหนึ่งของโจทก์ในส่วนภูมิภาค ซึ่งโจทก์ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นตัวแทนโจทก์ มีอำนาจควบคุมดูแลหน่วยงานของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของโจทก์ ทั้งมีอำนาจดำเนินคดีฟ้องร้องผู้กระทำผิดทางอาญาหรือตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีได้ตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม2525 คณะกรรมการสอบสวนแล้วมีความเห็นว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดด้วย จึงเสนอผลการสอบสวนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีทราบว่า เห็นควรให้ผู้รับผิดทางแพ่งชดใช้ หรือทำหนังสือรับสภาพหนี้ภายใน 30 วัน และผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเห็นชอบสั่งให้ดำเนินการตามเสนอเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2526 อายุความละเมิดจึงนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2526 อันเป็นวันที่ตัวแทนโจทก์รู้เหตุแห่งละเมิด และรู้ตัวผู้ต้องรับผิดแห่งละเมิด โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 นำใบเสร็จรับเงินล่วงหน้าที่ยังไม่ถึงกำหนดมาใช้ได้อย่างไร เนื่องจากเก็บไว้ในตู้มีกุญแจปิดและจำเลยที่ 2 เป็นคนเก็บรักษาไว้เอง เมื่อจำเลยที่ 3 ทราบเรื่องได้รายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีและอธิบดีของโจทก์ทราบทันที คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน86,936 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ข้อ 1 กำหนดให้เงินภาษีรถประจำปีเป็นเงินของจังหวัด หาใช่เงินของกรมการขนส่งทางบกไม่แม้สำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานีจะยังไม่ได้นำส่งแก่คลังจังหวัดอุบลราชธานี ตามระเบียบของราชการก็ถือว่าเป็นเงินรายได้ของจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานีจึงเป็นผู้เสียหายไม่ใช่โจทก์ เห็นว่าจำเลยที่ 2 มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นในคำให้การไว้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องนั้นวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 จึงถือว่า จำเลยที่ 2 มิได้ยกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่สำหรับคดีนี้ ศาลฎีกาเห็นไม่สมควรที่จะยกขึ้นวินิจฉัยให้ จึงไม่ยกขึ้นวินิจฉัยตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะการฟ้องคดีนี้ต้องถือระเบียบการเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ. 2520 ข้อ 73 และมติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือนว.155/2503 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2503 ระเบียบดังกล่าวกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่ง คณะกรรมการต้องเสนอผลการสอบสวนระบุตัวผู้รับผิดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ เพื่อเรียกให้ผู้รับผิดชดใช้เงินหากผู้ต้องรับผิดไม่ชดใช้ก็ให้ส่งเรื่องแก่พนักงานอัยการดำเนินคดีได้ทันที ไม่ต้องส่งให้กระทรวงหรือกรมเจ้าสังกัดสั่งการเพราะจังหวัดอยู่ในฐานะเดียวกับกระทรวงหรือกรมเจ้าสังกัด คดีนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีได้ทราบตัวผู้ต้องรับผิดในส่วนแพ่งเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2526 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19มิถุนายน 2527 เกิน 1 ปีแล้ว จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่าระเบียบต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 2 อ้างขึ้นเป็นเรื่องการตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งเท่านั้น ส่วนผู้ที่มีอำนาจฟ้องนั้นเป็นเรื่องที่กำหนดไว้ในกฎหมายซึ่งเป็นผู้เสียหายเท่านั้นที่จะฟ้องได้ ระเบียบดังกล่าวมิได้กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ได้ดังที่จำเลยที่ 2 อ้าง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งสอบสวนเสร็จได้ส่งเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีพิจารณาและผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีได้ส่งเรื่องให้อธิบดีของโจทก์ดำเนินคดีแก่ผู้ต้องรับผิดในทางแพ่ง ซึ่งมีจำเลยที่ 2 รวมอยู่ด้วยเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2526 และอธิบดีของโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2526 ถือว่าโจทก์ได้ทราบตัวผู้ต้องรับผิดในวันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่19 มิถุนายน 2527 ยังไม่พ้น 1 ปี นับแต่วันรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องโจทก์ยังไม่ขาดอายุความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ เพราะจำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บรักษาใบเสร็จรับเงินและสมุดทะเบียนคุมใบเสร็จรับเงินมาตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันต่อมาทั้งคำสั่งของจำเลยที่ 3 ที่แต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้างานการเงินไม่ได้มอบหมายให้มีหน้าที่เก็บรักษาใบเสร็จรับเงิน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่าตามคำสั่งที่ 30/2524 ข้อ 5 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ขนส่งจังหวัดอุบลราชธานีได้ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้างานรับผิดชอบการปฏิบัติราชการกำกับควบคุมงานการเงิน บัญชีและธุรการสารบรรณทั้งหมดให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชอบงานดังกล่าวทั้งหมด จะอ้างว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้จำเลยที่ 2 มีหน้าที่เก็บรักษาใบเสร็จรับเงินทั้งหมดหาได้ไม่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งโดยปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บรักษาใบเสร็จรับเงินสมุดทะเบียนคุมใบเสร็จรับเงินเพียงคนเดียว จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานในลักษณะดังกล่าวมาเป็นเวลานานก่อนที่จำเลยที่ 2 จะมารับราชการที่สำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานีถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติหาได้ไม่ และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นจำเลยที่ 2 จะปัดความรับผิดไม่ได้และที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า จำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ได้ตรวจสอบเงินและใบเสร็จรับเงินตรงในลำดับที่ใช้ประจำวันทุกวัน ปรากฎหลักฐานจำนวนเงินและหลักฐานทางบัญชีตรงกัน การที่จำเลยที่ 1 ทุจริตครั้งนี้เป็นเรื่องพ้นวิสัยที่จำเลยที่ 2 จะพึงระมัดระวังได้นั้นเห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ. 2520 ข้อ 8 ตามเอกสารหมาย จ.6(แผ่นที่ 68) ซึ่งข้อ 8 มีข้อความระบุว่า ให้ส่วนราชการจัดทำทะเบียนคุมใบเสร็จรับเงิน… ได้จ่ายใบเสร็จรับเงินเล่มใด หมายเลขใดถึงหมายเลขใดให้…หรือเจ้าหน้าที่ผู้ใด…เมื่อวัน เดือนปีใด ในเรื่องนี้โจทก์ได้นำสืบแล้วว่าจำเลยที่ 2 ได้รับคำสั่งให้เป็นหัวหน้างานการเงิน บัญชี และธุรการสารบรรณทั้งหมดและจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับมอบพัสดุต่าง ๆ จากคณะกรรมการตรวจพัสดุ ที่ส่งโดยทาง ร.ส.พ. ตามคำสั่งที่ 46/2524 เอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 15และเอกสารดังกล่าวแผ่นที่ 16 มีรายการพัสดุต่าง ๆ ที่คณะกรรมการตรวจรับคือลำดับที่ 9 เป็นใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม 200 เล่มลำดับที่ 10 เป็นใบเสร็จรับเงินค่าภาษี 200 เล่ม รวมอยู่ด้วยซึ่งจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ดูแลเก็บรักษาไว้แต่จำเลยที่ 2 กลับละเว้นปล่อยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บไว้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 ทุจริตนำใบเสร็จรับเงินเล่มที่ยังไม่ถึงกำหนดนำออกใช้ เอาออกมาใช้รับเงินค่าภาษีรถและไม่ลงบัญชีไม่นำส่งเงินตามระเบียบ ได้เบียดบังเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว จึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 โดยตรง ไม่ใช่เหตุพ้นวิสัยดังที่จำเลยที่ 2 อ้าง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นไม่จำต้องวินิจฉัยฎีการายละเอียดอื่น ๆ ของจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่เป็นประโยชน์และไม่ทำให้จำเลยที่ 2 พ้นความรับผิดไปได้อีกต่อไป”
พิพากษายืน

Share