แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่1 และที่ 2 ใช้ชื่อบริษัทนครหลวงรถเมล์เล็ก จำกัด ตลอดจนเครื่องหมายของบริษัทและหมายเลขโทรศัพท์ของบริษัทดังกล่าวติดที่ข้างรถจำเลยที่ 2 เท่ากับเป็นการยอมให้รถจำเลยที่ 2 เดินรับส่งคนโดยสารในนามของบริษัทฯ และถือได้ว่า เป็นการยอมรับต่อบุคคลภายนอกว่า รถของจำเลยที่ 2 เป็นรถของบริษัทนั้นเอง เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ แม้บริษัทนครหลวงรถเมล์เล็ก จำกัด ดังกล่าวยังมิได้จดทะเบียน ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลก็ตาม จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เริ่มก่อการบริษัทก็ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติในมาตรา 1113 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.ก.๕๘๓๓ โดยประมาทปาดหน้ารถยนต์ของโจทก์ เป็นเหตุให้ชนรถโจทก์เสียหาย เป็นค่าซ่อมรถ ๗,๐๐๐ บาท และขาดรายได้ ๕,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑๒,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ขับรถในฐานะลูกจ้าและกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๔๒ โดยจำเลยที่ ๒ เป็นผู้เช่าซื้อและครอบครองรถดังกล่าว จำเลยที่ ๒ จึงต้องรับผิดร่วมกันจำเลยที่ ๑ ส่วนบริษัทนครหลวงรถเมล์เล็ก จำกัดรู้แล้วยอมให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันเชิดตัวเองเป็นตัวแทนของบริษัท และยอมให้ใช้ชื่อตลอดจนเครื่องหมายของบริษัทหมายเลขโทรศัพท์ที่ข้างรถที่จำเลยที่ ๑ ขับ บริษัทนครหลวงรถเมล์เล็ก จำกัด จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เสมือนหนึ่งว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นตัวแทนของตน แต่โดยที่บริษัทยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยสมบูรณ์ จำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้เริ่มก่อการของบริษัทดังกล่าว จึงต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวแทนบริษัท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชำระค่าเสียหาย ๑๒,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า รถโจทก์ชนรถจำเลยที่ ๒ เพราะความประมาทของคนขับรถโจทก์ และฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในการซ่อมรถเป็นเงิน ๓,๕๐๐ บาท ขาดรายได้ ๕ วัน วันละ ๑๐๐ บาท รวมค่าเสียหาย ๕,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ได้เริ่มตั้งบริษัทนครหลวงรถเมล์เล็กจริง แต่ไม่สามารถจดทะเบียนได้เพราะกระทรวงคมนาคมไม่อนุญาต บริษัทนครหลวงรถเมล์เล็กจึงไม่เป็นนิติบุคคล และจำเลยที่ ๓ ได้แจ้งให้จำเลยที่ ๒ ลบชื่อของบริษัทออกจากตัวรถของจำเลยที่ ๒ แล้ว ได้แจ้งก่อนเกิดเหตุ กรณีจะเป็นประการใดก็ตาม จำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง เพราะไม่ได้เป็นผู้ทำละเมิดหรือใช้ให้จำเลยที่ ๑ ไปทำละเมิด ค่าซ่อมรถโจทก์อย่างมากไม่เกิน ๔,๐๐๐ บาท ส่วนค่าขาดรายได้ถ้าจากจะมีก็ไม่เกินวันละ ๑๐๐ บาท
โจทก์แก้ฟ้องของจำเลยที่ ๒ ว่า ค่าเสียหายที่จำเลยที่ ๒ เสียไปในการซ่อมรถ ๓,๕๐๐ บาท และขาดรายได้ไป ๕ วัน วันละ ๓๐๐ บาท นั้น เป็นฟ้องเคลือบคลุม และเรียกค่าเสียหายเกิดจากที่ได้รับจริง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ และได้ขับรถในทางการที่จ้างไปกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ส่วนบริษัทนครหลวงรถเมล์เล็ก จำกัด นั้น ยังจดทะเบียนไม่ได้ จึงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล จะทำกิจการใด ๆ หรือเชิดผู้ใดเป็นตัวแทนไม่ได้ จำเลยที่ ๓ เป็นเพียงผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทดังกล่าว แม้จะฟังว่าบริษัทยอมให้จำเลยที่ ๒ ใช้ชื่อบริษัทติดข้างรถของจำเลยที่ ๒ ก็ตาม หาเป็นผลให้จำเลยที่ ๓ ต้องรับผิดไม่ พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๒ และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๓
โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ริเริ่มก่อการตั้งบริษัทนครหลวงรถเมล์เล็ก จำกัด จึงต้องรับผิดร่วมกันเป็นจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพราะผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องรับผิดร่วมกันและโดยไม่จำกัดในบรรดาหนี้และการจ่ายเงินซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ และแม้จะได้อนุมัติก็ยังคงต้องรับผิดอยู่เช่นนั้น จนกว่าจะได้จดทะเบียนบริษัท ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัท จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ ๓ รับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามมาตรา ๑๑๑๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบริษัทจำกัด เป็นบทบัญญัติให้ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องรับผิดในบรรดาเงินที่ได้รับจากผู้เข้าซื้อหุ้นในการจัดตั้งบริษัทนั้น มิได้บัญญัติให้รับผิดในกิจการอื่นนอกเหนือกจากการจัดตั้งบริษัทจำกัดต่อบุคคลภายนอก จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในการที่จำเลยที่ ๑ กระทำการละเมิดต่อโจทก์ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ ๓ เป็นผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทนครหลวงรถเมล์เล็ก จำกัด มีวัตถุประสงค์ขนส่งผู้โดยสารในระหว่างที่การจดทะเบียนบริษัทดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ จำเลยที่ ๓ ยอมให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ใช้ชื่อบริษัทดังกล่าวตลอดจนเครื่องหมายของบริษัทและหมายเลขโทรศัพท์ติดที่ข้างรถจำเลยที่ ๒ ต่อมาวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ จำเลยที่ ๑ ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ได้ขับรถคันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างโดยประมาทเลินเล่อชนรถโจทก์ รถโจทก์ได้รับความเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน ๑๐,๒๐๐ บาท คดีคงมีปัญหาในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ ๓ จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ หรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยที่ ๓ ยอมให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ใช้ชื่อบริษัทนครหลวงรถเมล์เล็ก จำกัด ตลอดจนเครื่องหมายของบริษัทและหมายเลขโทรศัพท์ของบริษัทดังกล่าวติดที่ข้างรถจำเลยที่ ๒ เป็นการยอมให้รถจำเลยที่ ๒ เดินรับส่งคนโดยสารในนามของบริษัทนครหลวงรถเมล์เล็ก จำกัด ถือได้ว่าเป็นการยอมรับต่อบุคคลภายนอกว่า รถจำเลยที่ ๒ เป็นรถของบริษัทนครหลวงรถเมล์เล็ก จำกัด บริษัทดังกล่าวจึงต้องรับผิดต่อโจทก์เมื่อบริษัทดังกล่าวยังมิได้จดทะเบียน ยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล ผู้เริ่มก่อการบริษัทก็ต้องร่วมรับผิดตามความในมาตรา ๑๑๑๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่รถยนต์ซึ่งเดินในนามของบริษัทไปทำให้บุคคลอื่นเสียหาย และบริษัทจะต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายให้นั้น นับว่าเป็นหนี้อย่างหนึ่งตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๑๓ แม้ที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติหนี้ดังกล่าว ผู้เริ่มก่อการก็ต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัด และแม้จะได้รับอนุมัติก็ยังคงต้องรับผิดอยู่เช่นนั้นจนกว่าจะได้จดทะเบียนบริษัท เมื่อได้มีการจดทะเบียนบริษัท ทำให้บริษัทมีสภาพเป็นนิติบุคคลขึ้น ความรับผิดของผู้เริ่มก่อการในฐานส่วนตัวสำหรับหนี้ที่ได้อนุมัตินั้นจึงจะหมดไป ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๔๑/๒๕๐๕ คดีระหว่างนายยิ้ว แซ่ฉิน โจทก์ นายเมือง บุญชะโด กับพวก จำเลย
พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ใช้ค่าเสียหาย ๑๐,๒๐๐ บาทแก่โจทก์