คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 458/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยมีข้อความว่า อ.ม.ท. (ชื่อย่อของจำเลย) มีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้ทันที ฯลฯ เว้นแต่ อ.ม.ท. เห็นว่าตัวแทนรวบรวม (รับซื้อ) แร่ได้กระทำหรืองดเว้นการกระทำ โดยไม่จงใจ ตัวแทนรวบรวม (รับซื้อ) แร่ยินยอมให้ อ.ม.ท. ปรับ ตามจำนวนที่ อ.ม.ท. กำหนด แต่ต้องไม่เกินครั้งละ 100,000 บาทต่อการปฏิบัติผิดสัญญาข้อหนึ่ง ๆ โดย อ.ม.ท. มีสิทธิหักเงินค่าปรับจากหลักประกันได้ทันที โดยไม่ต้องเรียกร้องให้ตัวแทนรวบรวม (รับซื้อ) แร่ชำระก่อน ตามข้อสัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใด บ่งบอกว่ายกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคท้ายที่ว่า ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้วจะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อ ได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้น ในเวลารับชำระหนี้ข้อความในสัญญา ระหว่างโจทก์จำเลยมีเพียงว่าจำเลยมีสิทธิหักเงินค่าปรับได้ทันที เท่านั้น ดังนั้นเรื่องอื่น ๆจำเลยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย คือ สงวนสิทธิที่จะเรียกเบี้ยปรับไว้เมื่อจำเลยไม่ได้สงวนสิทธิไว้ จำเลยก็ปรับไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาแต่งตั้งให้โจทก์เป็นตัวแทนรวบรวม(รับซื้อ) แร่จากเรือสูบและแพสูบดำแร่ที่ได้สูบดำแร่ภายในเขตประทานบัตรของจำเลย แร่ที่รวบรวม (รับซื้อ) ได้ทั้งหมด โจทก์จะต้องนำไปขายให้บุคคลที่จำเลยกำหนดและจ่ายค่าตอบแทนในการรวบรวม(รับซื้อ) แร่ตามจำนวนที่รวบรวมได้ในอัตราที่กำหนด ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงเลิกสัญญาแต่งตั้งโจทก์เป็นตัวแทนรวบรวม (รับซื้อ) แร่ จำเลยแจ้งว่าโจทก์ชำระค่าตอบแทนให้จำเลยล่าช้า ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญารวม 24 ครั้ง เรียกค่าปรับครั้งละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน2,400,000 บาท โจทก์ทักท้วงไปว่าจำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับอีกเพราะเมื่อโจทก์ชำระค่าตอบแทนทั้ง 24 ครั้งล่าช้า จำเลยได้รับชำระหนี้โดยมิได้บอกสงวนสิทธิในเวลาที่รับชำระหนี้ว่าจะเรียกค่าปรับอีก แต่จำเลยยังคงยืนยันเรียกค่าปรับจากโจทก์เป็นเงิน 2,400,000บาท และในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2530 ได้คิดหักเอาจากเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาที่โจทก์ให้จำเลยยึดถือไว้และคืนให้โจทก์เพียง4,600,000 บาท โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินส่วนที่ขาดอยู่อีก 2,400,000 บาท ได้ ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 2,400,000 บาทให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระให้โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมีสิทธิเรียกเงินค่าปรับจำนวน 2,400,000บาทจากโจทก์ได้ เพราะเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินเบี้ยปรับที่จำเลยมีสิทธิปรับ โดยหักเอาเงินประกันที่โจทก์ให้จำเลยยึดถือไว้ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกสงวนสิทธิไว้ ในเวลารับชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 วรรคสาม แต่เป็นการใช้สิทธิริบเงินตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทนรวบรวม (รับซื้อ) แร่ขององค์การเหมืองแร่ในทะเลระหว่างโจทก์กับจำเลย เนื่องจากโจทก์ชำระค่าตอบแทนให้จำเลยล่าช้ารวม 24 ครั้ง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,400,000บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่าจำเลยมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากโจทก์ได้ เนื่องจากโจทก์วางเงินไว้กับจำเลยเพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา เมื่อโจทก์ผิดนัดชำระหนี้แต่ละครั้งจำเลยจึงไม่มีหน้าที่ที่ต้องบอกกล่าวสงวนสิทธิการเรียกเบี้ยปรับอีกเพราะจำเลยปรับได้ทันทีอยู่แล้ว จำเลยไม่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 วรรคท้ายนั้น เห็นว่า สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 20 มีข้อความว่า อ.ม.ท. (ชื่อย่อของจำเลย)มีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้ทันที ฯลฯ เว้นแต่ อ.ม.ท. เห็นว่าตัวแทนรวบรวม (รับซื้อ) แร่ ได้กระทำหรืองดเว้นการกระทำ โดยไม่จงใจตัวแทนรวบรวม (รับซื้อ) แร่ ยินยอมให้ อ.ม.ท. ปรับ ตามจำนวนที่อ.ม.ท. กำหนด แต่ต้องไม่เกินครั้งละ 100,000 บาท ต่อการปฏิบัติผิดสัญญาข้อหนึ่ง ๆ โดย อ.ม.ท. มีสิทธิหักเงินค่าปรับจากหลักประกันได้ทันที โดยไม่ต้องเรียกร้องให้ตัวแทนรวบรวม (รับซื้อ) แร่ชำระก่อนตามข้อสัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดบ่งบอกว่า ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 วรรคท้ายที่ว่าถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้ ข้อความในสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยมีเพียงว่าจำเลยมีสิทธิหักเงินค่าปรับได้ทันทีเท่านั้นดังนั้นเรื่องอื่น ๆ จำเลยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย คือสงวนสิทธิที่จะเรียกเบี้ยปรับไว้ เมื่อจำเลยไม่ได้สงวนสิทธิไว้จำเลยก็ปรับไม่ได้ทั้งค่าปรับตามสัญญาก็ไม่ได้ระบุไว้ตายตัวว่าครั้งละ 100,000บาท แต่ระบุว่าครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งเป็นการเน้นให้เห็นชัดยิ่งขึ้นว่าจำเลยจะต้องสงวนสิทธิไว้ เพราะตามสัญญายังไม่แน่นอนว่าค่าปรับเป็นเงินเท่าใด ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share