แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ล้มละลายฯ เป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนมีผลในทางตัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าได้ความจริงจึงจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือจำเลยนำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ศาลต้องพิพากษายกฟ้องดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 แม้ในชั้นพิจารณาของศาลล้มละลายกลางไม่มีผู้ใดยกปัญหาอำนาจฟ้องของโจทก์ขึ้นมาต่อสู้ จำเลยที่ 2 ก็มีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้
ก่อนถูกโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 2 ถูกศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ทั้งได้รับการปลดจากล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 81/1 ซึ่งมีผลให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาก่อนวันที่ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นหนี้ที่โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีดังกล่าว ทั้งเป็นหนี้ที่ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 77 (1) และ (2) โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ล้มละลาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “…พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 เป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลในทางตัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายจึงจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือจำเลยนำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ศาลต้องพิพากษายกฟ้องดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 แม้ในชั้นพิจารณาของศาลล้มละลายกลางไม่มีผู้ใดยกปัญหาอำนาจฟ้องของโจทก์ขึ้นมาต่อสู้ จำเลยที่ 2 ก็มีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้ ซึ่งจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องลงวันที่ 3 มิถุนายน 2552 มีข้อเท็จจริงตอนหนึ่งว่าศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2543 ตามสำเนาคำสั่งคดีหมายเลขแดงที่ ล.102/2543 ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีประกาศลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 ว่า ตามที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2544 นั้น บัดนี้ ครบกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ศาลพิพากษาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ได้รับการปลดจากล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 81/1 นับถัดจากวันที่ 20 สิงหาคม 2547 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวันที่ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายตรงกับสำเนาคำสั่งและสำเนาคำพิพากษาที่ศาลแพ่งส่งมาให้ศาลฎีกาพิจารณา ประกอบกับโจทก์แก้อุทธรณ์ในประเด็นอื่น ไม่ได้โต้แย้งเรื่องคำสั่งและคำพิพากษาศาลแพ่งดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ก่อนถูกโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 2 ถูกศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2543 และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2544 จำเลยที่ 2 ได้รับการปลดจากล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 81/1 นับถัดจากวันที่ 20 สิงหาคม 2547 ซึ่งมีผลให้จำลเยที่ 2 หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่วันที่ 26 สิงหาคม 2540 ก่อนวันที่ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นหนี้ที่โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีที่ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ทั้งเป็นหนี้ที่ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 77 (1) และ (2) โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ล้มละลาย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ