คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11742/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2546 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 แถลงรับว่าในชั้นสอบสวนพันตำรวจตรี ธ. เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและเป็นผู้สอบคำให้การจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธและลงลายมือชื่อไว้จริงจึงถือได้ว่ามีการแจ้งข้อหาให้จำเลยที่ 2 ทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุแล้ว แม้จะมิได้มีการแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่จำเลยที่ 2 ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติขึ้นภายหลัง ก็ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป การสอบสวนจึงชอบแล้ว
เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสองฉบับ ชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วม ทั้งยังให้ตัวอย่างลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ว่า เป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คในนามจำเลยที่ 1 แก่ธนาคาร ดังนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าหรือมีหนี้สินใดกับโจทก์ร่วมโดยตรง เมื่อจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ร่วมในฐานะผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าเป็นการลงลายมือชื่อเพื่อเป็นการรับประกันหรือสร้างความน่าเชื่อถือในผลงานในฐานะเป็นวิศวกรโครงการไม่ได้ เมื่อเช็คทั้งสองฉบับเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย และธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะผู้แทนไม่มาศาล
ระหว่างพิจารณา บริษัทอุตสาหกรรมท่อน้ำไทย จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1)ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมสองกระทง กระทงที่ 1 ตามเช็คพิพาทฉบับแรก จำคุก 15 วัน กระทงที่ 2 ตามเช็คพิพาทฉบับที่ 2 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 6 เดือน 15 วัน
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1รับเหมาช่วงงานก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ราชสีมา ส.ซัพพลายก่อสร้าง มีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด ราชสีมา ส.ซัพพลายก่อสร้างเป็นวิศวกรโครงการ จำเลยที่ 1 สั่งซื้อท่อน้ำและอุปกรณ์จากโจทก์ร่วมมาใช้ในการก่อสร้างตามโครงการดังกล่าว และได้สั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 15 ธันวาคม 2540จำนวนเงิน 43,788.39 บาท ฉบับที่สองลงวันที่ 15 มกราคม 2541 จำนวนเงิน 1,047,511.92 บาท โดยเช็คทั้งสองฉบับมีนายพิชัย หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราห้างของจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย ตามเช็คเมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระ โจทก์ร่วมได้นำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าไม่ปรากฏว่ามีการสอบสวนจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ต้องหาโดยการแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดและแจ้งข้อหาให้ทราบ การสอบสวนจึงไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2546 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 แถลงรับว่าในชั้นสอบสวนพันตำรวจตรีธนภัทร เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและเป็นผู้สอบคำให้การจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธและลงลายมือชื่อไว้จริง จึงถือได้ว่ามีการแจ้งข้อหาให้จำเลยที่ 2 ทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุแล้ว แม้จะมิได้มีการแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่จำเลยที่ 2 ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติขึ้นภายหลัง ก็ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป การสอบสวนจึงชอบแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เป็นวิศวกรดูแลโครงการให้นายจ้าง จำเลยที่ 2 มิได้มีหน้าที่สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ร่วม ไม่เคยสั่งซื้อสินค้าหรือมีหนี้สินใดกับโจทก์ร่วม ไม่เคยทราบฐานะทางการเงินของจำเลยที่ 1 พนักงานขายของโจทก์ร่วมให้จำเลยที่ 2 ในฐานะวิศวกรโครงการลงลายมือชื่อในเช็ค เพื่อเป็นการรับรองว่า มีการนำเอาท่อหรือสินค้ามาใช้ในโครงการจริง เป็นการลงลายมือชื่อในเช็คเพื่อให้การดำเนินการก่อสร้างโครงการไม่เกิดปัญหา เพื่อเป็นการรับประกัน หรือสร้างความเชื่อถือในผลงาน มิได้มีเจตนาสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์ร่วม เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสองฉบับ ชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วมทั้งยังให้ตัวอย่างลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ว่า เป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คในนามจำเลยที่ 1 แก่ธนาคาร ดังนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าหรือมีหนี้สินใดกับโจทก์ร่วมโดยตรง เมื่อจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ร่วมในฐานะผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าเป็นการลงลายมือชื่อเพื่อเป็นการรับประกันหรือสร้างความน่าเชื่อถือในผลงานในฐานะเป็นวิศวกรโครงการหาได้ไม่ เมื่อเช็คทั้งสองฉบับเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย และธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share