คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4784/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาในเรื่องความเหมือนหรือคล้ายกันของเครื่องหมายการค้าว่าอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมทั้งลักษณะของคำ ตัวอักษร และเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าพิพาท เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยร่วม มีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะที่แตกต่างกัน คือเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีเฉพาะคำภาษาอังกฤษ ส่วนเครื่องหมายของจำเลยร่วมมีทั้งคำภาษาอังกฤษและคำภาษาไทย แม้คำว่า ‘EXTRA’ ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์จะเป็นคำเดียวกับคำว่า ‘EXTRA’ ซึ่งเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งในเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วม แต่คำดังกล่าวเป็นคำธรรมดาที่แปลว่า ‘พิเศษ’ จึงเป็นคำธรรมดา มิใช่คำประดิษฐ์ แต่เหตุที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ายอมให้จำเลยร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ‘EXTRA’ เนื่องจากจำเลยร่วมใช้คำดังกล่าวร่วมกับคำว่า ‘NESCAFE’ จนกลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปและได้ลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ ส่วนโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า ‘EXTRA’ ร่วมกับคำว่า ‘FREEZE’ และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์สละสิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้คำว่า ‘EXTRA’ คำดังกล่าวจึงมิใช่สาระสำคัญในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ สาระสำคัญในเครื่องหมายการค้าของโจทก์อยู่ที่คำว่า ‘FREEZE’ เมื่อพิจารณารูปลักษณะอื่น ๆ ของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และจำเลยร่วมประกอบกันแล้ว เครื่องหมายทั้งสองจึงมีความแตกต่างกัน ไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 แจ้งให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนของโจทก์ตามระเบียบ หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 เพิกเฉยขอถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโซซิเอเต้ เดส์ โปรดุยต์ส เนสท์เล่ เอส.อา. ยื่นคำร้องสอดขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดีอ้างว่าเป็นเจ้าของทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “EXTRA” และ “เอ็กซ์ตร้า” ซึ่งได้คัดค้านคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “FREEZE EXTRA” ของโจทก์ที่พิพาทในคดีนี้ จึงจำต้องเข้ามาในคดีเพื่อยังให้ได้ความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) โจทก์ไม่คัดค้าน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นคู่ความร่วม โดยให้เรียกผู้ร้องว่า จำเลยร่วม
จำเลยร่วมร้องสอดขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้คำร้องสอดขอให้ยกคำร้องสอดของจำเลยร่วม
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า ให้ยกคำร้องสอดของจำเลยร่วม และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คำว่า FREEZE EXTRA (คำขอเลขที่ 286023) ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และจำเลยร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 10 และจำเลยร่วมว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “FREEZE EXTRA” ของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “EXTRA” กับรูปมงกุฎ และเครื่องหมายการค้าคำว่า “เอ็กซ์ตร้า” กับรูปมงกุฎของจำเลยร่วมที่จดทะเบียนไว้ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาในเรื่องความเหมือนหรือคล้ายกันของเครื่องหมายการค้าว่าอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมทั้งลักษณะของคำ ตัวอักษร และเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยร่วมแล้ว มีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะที่แตกต่างกันพอสมควร คือ เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีเฉพาะคำภาษาอังกฤษ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมมีทั้งคำภาษาอังกฤษและคำภาษาไทย แม้คำว่า “EXTRA” ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์จะเป็นคำเดียวกับคำว่า “EXTRA” ซึ่งเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งในเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วม แต่คำว่า “EXTRA” เป็นคำภาษาอังกฤษแปลว่า “พิเศษ เป็นพิเศษ” จึงเป็นคำธรรมดา มิใช่คำประดิษฐ์ ทั้งเครื่องหมายการค้าคำว่า “เอ็กซ์ตร้า” กับรูปมงกุฎของจำเลยร่วม คำว่า “เอ็กซ์ตร้า เป็นสำเนียงอ่านของคำว่า EXTRA แปลว่า พิเศษ ซึ่งเมื่อนำมาใช้กับสินค้ากาแฟจะเป็นคำที่เล็งถึงคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้า คำดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เมื่อพิจารณาต่อไปก็พบว่าสาเหตุที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีความเห็นว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “EXTRA” และรูปมงกุฎ และเครื่องหมายการค้า “เอ็กซ์ตร้า” และรูปมงกุฎของจำเลยร่วมชอบที่จะได้รับการจดทะเบียนตามมาตรา 4 (5) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ถึงแม้ว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวเมื่อนำมาใช้กับสินค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนซึ่งคือวัตถุที่ใช้ทำอาหารเครื่อง เครื่องปรุงอาหารจะเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะของสินค้าโดยตรงก็ตาม เนื่องจากคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาหลักฐานที่จำเลยร่วมนำส่งว่าจำเลยร่วมได้ใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสองร่วมกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “NESCAFE” และเครื่องหมายการค้าคำว่า “เนสกาแฟ” ของจำเลยร่วมจนเป็นที่แพร่หลายแล้ว จึงนับว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ดังนั้น การที่เครื่องหมายการค้าคำว่า “EXTRA” กับรูปมงกุฎ และเครื่องหมายการค้าคำว่า “เอ็กซ์ตร้า” กับรูปมงกุฎ ของจำเลยร่วมเป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะบ่งเฉพาะก็เนื่องมาจากการที่จำเลยร่วมได้ส่งหลักฐานการใช้เครื่องหมายทั้งสองร่วมกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “NESCAFE” และเครื่องหมายการค้าคำว่า “เนสกาแฟ” ของจำเลยร่วมจนเป็นที่แพร่หลายตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้นปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทนูบูน จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิมนำคำว่า “EXTRA” มาเป็นเครื่องหมายการค้าร่วมกับคำว่า “FREEZE” และนายทะเบียนได้มีคำสั่งให้บริษัทนูบูน จำกัด เจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิมสละสิทธิว่าจะไม่ถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้โดยให้สละสิทธิคำว่า “EXTRA” ซึ่งบริษัทนูบูน จำกัด ก็ได้แสดงการปฏิเสธสิทธิโดยไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้อักษรโรมันคำว่า “EXTRA” จึงมิใช่สาระสำคัญในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ สาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์อยู่ที่คำว่า “FREEZE” ซึ่งเมื่อพิจารณาต่อไปถึงรูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็มีลักษณะเป็นตัวอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ธรรมดา ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเป็นอักษรโรมัน คำว่า “EXTRA” ในลักษณะประดิษฐ์ โดยมีรูปลวดลายประดิษฐ์คล้ายมงกุฎวางอยู่ด้านบนของคำว่า “EXTRA” เป็นสาระสำคัญอีกส่วนหนึ่งของเครื่องหมายประกอบอยู่ด้วย และเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเป็นอักษรภาษาไทยคำว่า “เอ็กซ์ตร้า” ในลักษณะประดิษฐ์โดยมีรูปลวดลายประดิษฐ์คล้ายมงกุฎวางอยู่ด้านบนของคำว่า “เอ็กซ์ตร้า” จึงเห็นว่ารูปลักษณะเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยร่วมแตกต่างกันไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ดังนั้น เครื่องหมายการค้าคำว่า “FREEZE EXTRA” ของโจทก์จึงมีลักษณะพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่วินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “FREEZE EXTRA” ของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “EXTRA” และ “เอ็กซ์ตร้า” ของจำเลยร่วมที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว จึงชอบที่จะปฏิเสธการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และให้ยกคำวินิจฉัยของนายทะเบียนและให้นายทะเบียนระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share