แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ซื้อรถพิพาทไปจากจำเลย ชำระราคาบางส่วนและรับมอบรถพิพาทไปครอบครองใช้ประโยชน์แล้ว มีข้อตกลงให้โจทก์ต้องชำระราคาบางส่วนที่เหลือให้หมดภายในกำหนด 2 ปี จำเลยจึงจะโอนทะเบียนรถพิพาทให้เป็นชื่อโจทก์ ตราบใดที่โจทก์ยังชำระเงินส่วนที่เหลือให้จำเลยไม่ครบภายในกำหนด 2 ปี จำเลยก็จะไม่โอนทะเบียนรถให้เป็นชื่อโจทก์ เป็นการเอาเงื่อนไขการชำระหนี้เป็นการหน่วงนิติกรรมการซื้อขายไว้มิให้เป็นผลจนกว่าโจทก์จะชำระหนี้ส่วนที่เหลือให้จำเลยครบถ้วนแล้วกรรมสิทธิ์ในรถพิพาทจึงยังไม่โอนไปยังโจทก์ทันทีที่ตกลงซื้อขายรถพิพาทกัน ข้อตกลงซื้อขายรถพิพาทไม่ใช่เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถพิพาท ให้จำเลยทั้งสองนำสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถพิพาท ไปจดทะเบียนเป็นชื่อโจทก์ แล้วส่งมอบสมุดคู่มือให้โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้กรมการขนส่งทางบกออกสมุดคู่มือให้ใหม่ในชื่อโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ตกลงจะซื้อรถพิพาทจากจำเลย โจทก์วางมัดจำไว้ 150,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระภายใน 2 ปี ไม่ได้ตกลงว่าจะนำสมุดคู่มือจดทะเบียนไปจดใส่ชื่อโจทก์ทันที จำเลยส่งมอบรถพิพาทให้โจทก์ในวันดังกล่าว โจทก์ยังไม่ได้ชำระราคาส่วนที่เหลือให้จำเลยต่อมาจำเลยบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายแก่โจทก์ ริบมัดจำและให้โจทก์ส่งมอบรถพิพาทคืนจำเลย หากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา โจทก์เพิกเฉย ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ส่งมอบรถพิพาทคืนจำเลยทั้งสองในสภาพเรียบร้อย หากไม่สามารถส่งคืนได้ ให้ใช้ราคา 550,000 บาท พร้อมค่าขาดประโยชน์เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (น่าจะเป็นวันฟ้องแย้ง) จนกว่าจะส่งมอบ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่า การซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ไม่ใช่สัญญาจะซื้อจะขาย ในวันทำสัญญาซื้อขายโจทก์ค้างชำระราคาเพียง 250,000 บาท เมื่อเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา โจทก์จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและยกฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ส่งมอบรถพิพาทคืนแก่จำเลยที่ 1 ในสภาพเรียบร้อย หากไม่สามารถส่งคืนได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 250,000 บาท และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 30,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2538 โจทก์ซื้อรถพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยชำระราคาบางส่วนเป็นเช็คจำนวน 150,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เบิกเงินตามเช็คไปแล้ว ส่วนที่เหลือกำหนดชำระภายใน 2 ปี จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถพิพาทให้โจทก์ครอบครองใช้ประโยชน์โดยตกลงว่า เมื่อโจทก์ชำระราคาส่วนที่เหลือครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 จะโอนทะเบียนรถพิพาทให้เป็นชื่อโจทก์ แต่โจทก์ยังไม่ได้ชำระส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยที่ 1
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาซื้อขายรถพิพาทเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดหรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์ซื้อรถพิพาทไปจากจำเลยที่ 1 ชำระราคาบางส่วนและรับมอบรถพิพาทไปครอบครองใช้ประโยชน์แล้ว โดยมีข้อตกลงโจทก์ต้องชำระราคาส่วนที่เหลือให้หมดภายในกำหนด 2 ปี จำเลยที่ 1 จึงจะโอนทะเบียนรถพิพาทให้เป็นชื่อโจทก์ เห็นว่า นิติกรรมซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เห็นได้ชัดว่า จำเลยที่ 1 เพียงมอบรถพิพาทให้โจทก์ครอบครองใช้ประโยชน์เท่านั้น ตราบใดที่โจทก์ยังชำระเงินส่วนที่เหลือให้จำเลยที่ 1 ไม่ครบภายในกำหนด 2 ปี จำเลยที่ 1 ก็จะไม่โอนทะเบียนรถให้เป็นชื่อโจทก์ โดยเอาเงื่อนไขการชำระหนี้ให้ครบถ้วนเป็นการหน่วงนิติกรรมการซื้อขายไว้มิให้เป็นผลจนกว่าโจทก์จะชำระหนี้ส่วนที่เหลือให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว ดังนั้น กรรมสิทธิ์ในรถพิพาทจึงยังไม่โอนไปยังโจทก์ทันทีที่ตกลงซื้อขายรถพิพาทกัน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อตกลงซื้อรถพิพาท ไม่ใช่เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาซื้อขายรถพิพาทแก่โจทก์ชอบแล้วหรือไม่ ได้ความจากจำเลยที่ 2 กรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 เบิกความยืนยันว่า เมื่อโจทก์ไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญา ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาซื้อขายกับจำเลยที่ 1 จึงได้ให้นายชัยฤทธิ์ทนายความของจำเลยทั้งสอง มีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ส่งมอบรถพิพาทคืนพร้อมชำระค่าเสียหาย และค่าขาดประโยชน์ให้จำเลยที่ 1 ตามหนังสือบอกกล่าวและใบตอบรับ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาบอกเลิกสัญญากับโจทก์โดยชอบแล้วโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องคืนรถพิพาทให้จำเลยที่ 1 หากคืนไม่ได้ โจทก์ก็ต้องชดใช้ราคาแทนให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ศาลอุทธรณ์กำหนดจำนวนเงินให้โจทก์ใช้ราคาแทนในกรณีที่คืนรถพิพาทให้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ และจำนวนเงินค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 1 มานั้น เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาทุกข้อของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน