คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3549/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ มาตรา 6 วรรคสอง ได้บัญญัติให้นายทะเบียนกลางเป็นนายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานคร มีอำนาจและหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวภายในเขตกรุงเทพมหานคร ดังนั้น เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่าโจทก์ได้ทำสัญญานำรถโดยสารขนาดเล็กเข้าร่วมเดินรถโดยสารประจำทางกับ ข.ส.ม.ก. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบการขนส่งผู้โดยสารตามเส้นทางต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์มีอำนาจใด ๆ ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ หรือรับมอบอำนาจจากนายทะเบียนกลางให้ฟ้องหรือดำเนินคดีแก่ผู้ที่กระทำฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ ที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยได้กระทำการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ และ พ.ร.บ.รถยนต์ฯ
การกระทำที่จะเป็นละเมิดและถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลอื่นจะต้องเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยจงใจหรือโดยประมาทเลินเล่อ และจากการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อผู้ถูกกระทำ ดังนั้น แม้จะได้ความว่าจำเลยได้กระทำการตามที่โจทก์กล่าวอ้างจริง แต่โจทก์เป็นเพียงผู้หนึ่งที่ได้รับอนุญาตให้นำรถโดยสารขนาดเล็กเข้าร่วมเดินรถโดยสารกับ ข.ส.ม.ก. เท่านั้น สิทธิในการเดินรถโดยสารในเส้นทางพิพาทยังคงเป็นของ ข.ส.ม.ก. และ ข.ส.ม.ก. มีสิทธิอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดมาร่วมเดินรถโดยสารในเส้นทางพิพาทและยังเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีต่อผู้ล่วงละเมิดสิทธิดังกล่าว แม้การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นละเมิดก็เป็นละเมิดต่อสิทธิของ ข.ส.ม.ก. ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงแก่โจทก์ ส่วนสิทธิที่โจทก์มีอยู่ตามสัญญากับ ข.ส.ม.ก. อย่างไรก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ ข.ส.ม.ก. ต่างหาก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นนิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พุทธศักราช 2519 มีอำนาจจัดรถยนต์โดยสารประจำทางให้บริการแก่ประชาชนตามเส้นทางต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก และมีอำนาจอนุญาตให้เอกชนนำรถยนต์โดยสารเข้าร่วมบริการรับส่งคนโดยสารกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โจทก์ได้รับอนุญาตให้นำรถยนต์โดยสารขนาดเล็กร่วมให้บริการรับจ้างรับส่งคนโดยสารกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพในเส้นทางตั้งแต่สวนลุมพินีถึงท่าพระ จำเลยเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกให้ใช้รถยนต์สี่ล้อเล็กรับส่งคนโดยสารตามถนนในซอยเฉพาะในกรุงเทพมหานครฝั่งพระนครเท่านั้น นับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมาจนถึงวันฟ้อง จำเลยนำรถยนต์สี่ล้อเล็กหรือยอมให้หรือยุยงส่งเสริมให้สมาชิกนำรถยนต์สี่ล้อเล็กที่มีตราของจำเลยวิ่งรับส่งคนโดยสารและเก็บค่าโดยสารบนเส้นทางเดินรถที่โจทก์มีสิทธิใช้ตามสัญญา มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 22 และมาตรา 23 ขอให้บังคับโดยห้ามจำเลยใช้ จ้างวาน ยุยง ส่งเสริม และมิให้นำรถยนต์ที่มีตราของจำเลยวิ่งทับเส้นทางเดินรถของโจทก์ตามแผนที่เส้นทางเดินรถยนต์โดยสารขนาดเล็ก
จำเลยให้การว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นผู้มีอำนาจทำสัญญาหรืออนุญาตให้ผู้ใดนำรถยนต์เข้าร่วมเดินรถขับส่งคนโดยสาร โจทก์เป็นเพียงผู้ได้รับอนุญาตให้นำรถยนต์โดยสารเข้าร่วมบริการเดินรถกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเท่านั้น โจทก์จึงมิใช่เจ้าของเส้นทางเดินรถ จำเลยไม่เคยนำรถยนต์สี่ล้อเล็กหรือยอมให้หรือยุยงส่งเสริมให้สมาชิกนำรถยนต์สี่ล้อเล็กที่มีตราสหกรณ์วิ่งรับส่งคนโดยสารและเก็บค่าโดยสารในเส้นทางตามฟ้อง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องว่าจำเลยนำรถยนต์โดยสารสี่ล้อเล็กที่มีตราสหกรณ์จำเลยคันหมายเลขทะเบียนใดรับส่งคนโดยสารบนเส้นทางที่โจทก์ได้รับอนุญาตและรับส่งคนโดยสารในช่วงวันที่และเวลาใด ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง ได้บัญญัติให้นายทะเบียนกลางเป็นนายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานคร มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวภายในเขตกรุงเทพมหานครดังนั้น เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่า โจทก์ได้ทำสัญญานำรถโดยสารขนาดเล็กเข้าร่วมเดินรถโดยสารประจำทางกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบการขนส่งผู้โดยสารตามเส้นทางต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์มีอำนาจใด ๆ ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก หรือรับมอบอำนาจจากนายทะเบียนกลางให้ฟ้องหรือดำเนินคดีแก่ผู้ที่กระทำฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยได้กระทำการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกและพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดรายได้จากการเดินรถนั้น เห็นว่า การกระทำที่จะเป็นละเมิดและถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลอื่นจะต้องเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยจงใจหรือโดยประมาทเลินเล่อและจากการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อผู้ถูกกระทำ ดังนั้นแม้จะได้ความว่าจำเลยได้กระทำการตามที่โจทก์กล่าวอ้างจริง แต่โจทก์เป็นเพียงผู้หนึ่งที่ได้รับอนุญาตให้นำรถโดยสารขนาดเล็กเข้าร่วมเดินรถโดยสารกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเท่านั้น สิทธิในการเดินรถโดยสารในเส้นทางพิพาทยังคงเป็นขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพย่อมเป็นผู้มีสิทธิอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดมาร่วมเดินรถโดยสารในเส้นทางพิพาทด้วยและเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีต่อผู้ล่วงละเมิดสิทธิดังกล่าว แม้การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นละเมิดก็เป็นละเมิดต่อสิทธิขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงแก่โจทก์ ส่วนสิทธิที่โจทก์มีอยู่ตามสัญญากับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพอย่างไรก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share