คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 476/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้สัญญาขายฝากจะมีข้อความว่า เมื่อทรัพย์ที่ขายฝากหลุดเป็นสิทธิของผู้ซื้อฝากแล้ว ถ้าผู้ซื้อฝากขายทรัพย์นั้นได้เงินไม่ครบตามจำนวนที่ขายฝาก ยังขาดอยู่เท่าใด ผู้ขายฝากยอมใช้ให้ผู้ซื้อฝากจนครบก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่คู่กรณีได้ตกลงกันเป็นพิเศษ ไม่ขัดกับกฎหมาย และไม่ทำให้ลักษณะของสัญญาเปลี่ยนแปลงไปเป็นจำนำแต่อย่างใด
การที่ผู้ขายฝากลอบเอารถยนต์ที่ขายฝากไปขายให้แก่บุคคลอื่นอีกนั้น แม้ผู้ซื้อจะได้รับซื้อไว้โดยสุจริตก็ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อใช้ยันผู้รับซื้อฝากได้ในเมื่อต่อมาผู้ขายฝากไม่ไถ่รถยนต์ที่ขายฝากนั้นเสียภายในกำหนดตามสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๐๒ นายเชียง แซ่แต้ ได้ขายฝากรถยนต์ฟอร์ดไว้กับโจทก์ที่ ๑ ราคา ๑๘,๐๐๐ บาท ตกลงไถ่คืนภายใน ๑๒ กันยายน ๒๕๐๒ ได้มอบรถยนต์ ใบทะเบียน กับแบบพิมพ์คำแจ้งความเรื่องโอนและรับโอนยานพาหนะ และแบบเรื่องราวขออนุญาตต่าง ๆ ซึ่งนายเชียง ได้ลงชื่อไว้ในแบบพิมพ์ในช่องผู้โอนและช่องผู้ขออนุญาตให้โจทก์ที่ ๑ ยึดถือไว้เพื่อสะดวกในการไปรับโอนหรือโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ เมื่อนายเชียงขายฝากรถยนต์ไว้แล้ว โจทก์ได้ให้นายเชียงเช่าไปรับจ้างส่งคนโดยสาร ต่อมาต้นเดือนกันยายน ๒๕๐๒ โจทก์ได้เรียกรถยนต์คืนมา เมื่อครบกำหนดไถ่นายเชียงมิได้ไถ่ รถยนต์จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ครั้น ๑๕ กันยายน ๒๕๐๒ โจทก์ที่ ๑ ขายกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้โจทก์ที่ ๒ ในราคา ๒๐,๐๐๐ บาท ชำระราคาและมอบรถยนต์ให้กันแล้ว ต่อมา ๖ ตุลาคม ๒๕๐๒ โจทก์ที่ ๒ นำแบบพิมพ์ต่าง ๆ ที่นายเชียงลงชื่อไว้กับใบทะเบียนรถยนต์ไปให้เจ้าหน้าที่กองทะเบียนกรมตำรวจโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ที่ ๒ นายทะเบียนไม่รับทำให้ โดยปรากฏว่านาเชียงได้แจ้งเท็จต่อนายทะเบียนว่าใบทะเบียนหายขอใบแทนใบใหม่ และโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่จำเลยไปเมื่อ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๐๒ ต่อมาวันที่ ๙ ตุลาคม
๒๕๐๒ เจ้าหน้าที่ยึดรถยนต์ไปจากโจทก์ที่ ๒ จึงขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ ๒
จำเลยให้การว่า โจทก์สมคบกับนายเชียงทำสัญญาขายฝากปลอมขึ้นในภายหลังเมื่อจำเลยนำเจ้าพนักงานไปยึดรถยนต์จากโจทก์ที่ ๒ เพื่อจะฉ้อโกงจำเลย จำเลยรับโอนกรรมสิทธิ์โดยซื้อจากนายเชียงโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเป็นเงิน ๑๒,๕๐๐ บาท ตั้งแต่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๐๒ ได้จดทะเบียนไว้ก่อนโจทก์ที่ ๒ จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นไม่เชื่อว่านายเชียงขายฝากรถยนต์ไว้กับโจทก์ที่ ๑ ทั้งสัญญาก็เป็นลักษณะจำนำ ไม่ใช่ขายฝาก กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไป จำเลยเป็นผู้ซื้อย่อมได้กรรมสิทธิ์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า นายเชียงได้ขายฝากรถยนต์คันพิพาทไว้กับโจทก์ที่ ๑ แล้วเช่ารถนั้นไป เมื่อนายเชียงขายฝากให้โจทก์ที่ ๑ ๆ ย่อมเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์ และนายเชียงไม่ได้ไถ่คืนภายในกำหนด จึงไม่มีสิทธิจะนำไปขายให้กับจำเลยในภายหลังได้อีก โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้ซื้อต่อจากโจทก์ที่ ๑ จึงเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ พิพากษากลับว่า รถยนต์คันพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ ๒ ห้ามไม่ให้จำเลยเกี่ยวข้องหรือขัดขวาง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๐๒ นายเชียงได้ขายฝากรถยนต์ไว้กับโจทก์เป็นเงิน ๑๘,๐๐๐ บาท ได้มอบทะเบียนรถยนต์ แบบพิมพ์คำแจ้งความเรื่องโอนและรับโอนยานพาหนะทางบก กับแบบเรื่องราวขออนุญาตต่าง ๆ ซึ่งนายเชียงได้ลงชื่อในช่องผู้โอนและผู้ขออนุญาต โดยยังมิได้กรอกข้อความใด ๆ ให้โจทก์ที่ ๑ ไว้ พร้อมกันนั้นนายเชียงก็ได้เช่ารถยนต์นี้ไปจากโจทก์ที่ ๑ ครั้นถึงกำหนดไถ่ถอนขายฝากวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๐๒ นายเชียงก็ไม่ไถ่ถอน ในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๐๒ โจทก์ที่ ๑ จึงขายรถยนต์ให้โจทก์ที่ ๒ โดยมอบหลักฐานต่าง ๆ ที่นายเชียงให้ไว้ไปกับโจทก์ที่ ๒ เพื่อไปทำการโอนเอาเอง เห็นได้ว่าโจทก์รับซื้อฝากรถยนต์ไว้จากนายเชียงโดยชอบ ที่จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์กับนายเชียงสมคบทำปลอมสัญญาขายฝากเพื่อฉ้อโกงจำเลยนั้น ไม่มีเหตุผลให้น่าเชื่อ การที่สัญญาขายฝากมีข้อความว่า เมื่อทรัพย์ที่ขายฝากหลุดเป็นสิทธิของผู้ซื้อฝากแล้ว ถ้าผู้ซื้อฝากขายทรัพย์ได้เงินไม่ครบจำนวนที่ขายฝากไว้ ยังขาดเท่าได ผู้ขายฝากยอมใช้ให้ผู้ซื้อฝากจนครบถ้วนนั้น เป็นเรื่องที่คู่กรณีตกลงกันเป็นพิเศษ ไม่ขัดกับกฎหมายและไม่ทำให้ลักษณะของสัญญาเปลี่ยนแปลงไปเป็นจำนำแต่อย่างใด
โจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้รับซื้อฝากไว้ย่อมได้กรรมสิทธิเมื่อนายเชียงไม่ได้ไถ่คืนภายในกำหนด จึงไม่มีสิทธิจะนำไปขายให้แก่จำเลยในภายหลังอีก ข้อที่จำเลยคัดค้านว่าโจทก์ที่ ๑ รับซื้อฝากแล้วก็หาได้นำทะเบียนไปโอนเป็นชื่อโจทก์ ทอดทิ้งไว้หลายเดือนเป็นเหตุให้นายเชียงแจ้งความว่าทะเบียนรถหายขอทะเบียนมาใหม่ เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตนั้น ก็ได้ความว่า เมื่อนายเชียงขายฝากรถยนต์กับโจทก์ที่ ๑ แล้วก็เช่ารถนั้นไป เป็นการครอบครองแทนโจทก์ที่ ๑ การที่นายเชียงไปแจ้งเท็จว่าทะเบียนหายก็เป็นความทุจริตของนายเชียงเอง โดยโจทก์ที่ ๑ หาได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยไม่ ทั้งการซื้อขายรถยนต์นั้น เพียงแต่ผู้ซื้อชำระราคาให้และผู้ขายส่งมอบแก่ผู้ซื้อโดยยังมิได้โอนทะเบียนกัน กรรมสิทธิ์ก็ตกเป็นของผู้ซื้อตามกฎหมายแล้ว แม้จำเลยจะได้รับซื้อไว้โดยสุจริตก็ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อใช้ยันโจทก์ที่ ๑ ได้ โจทก์ที่ ๒ รับซื้อไว้จึงเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์ พิพากษายืน

Share