คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4748/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องแยกข้อหาฉ้อโกงไว้ข้อ ก. ข. และ ง. และข้อหายักยอกไว้ ข้อ ค. เมื่อพิเคราะห์คำฟ้องข้อ ก. ข. และ ง.แล้ว มีความหมายพอเข้าใจได้ว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้งโดยหลอกลวงโจทก์ร่วมในฟ้องข้อ ก.ว่าโจทก์ร่วมต้องเสียภาษีต่อกรมสรรพากรเป็นจำนวน 147,053 บาท และในฟ้องข้อ ข.และ ง. ว่า โจทก์ร่วมต้องเสียภาษีต่อกรมสรรพากรเป็นจำนวน 60,813.58 บาทและ 71,999.20 บาท ซึ่งเป็นความเท็จ ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องตอนต่อมาในข้อ ก.ว่า จำเลยกลับไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีต่อกรมสรรพากรเพียง 122,543.65 บาทและใน ข. และ ง. ว่า จำเลยกลับทำแบบแสดงรายการภาษีโดยไม่ต้องชำระภาษีต่อกรมสรรพากรนั้นเท่ากับโจทก์ได้บรรยายว่า ความจริงแล้วโจทก์ต้องเสียภาษีในฟ้องข้อ ก.เพียงใด หรือไม่ต้องเสียภาษีในฟ้องข้อ ข. และ ง. เลยจนโจทก์ร่วมหลงเชื่อได้จ่ายเงินให้จำเลยไปตามที่จำเลยขอเบิก แล้วจำเลยได้เอาเงินส่วนที่เบิกเกินไปตามข้อ ก. และส่วนที่ไม่ได้ชำระภาษีเลยตามข้อ ข. และ ง.ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวจึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดในข้อหาฉ้อโกงตาม ป.อ.มาตรา341 แล้ว
การบรรยายคำฟ้องในการกระทำผิดข้อหายักยอกนั้น ต้องระบุถึงวันเวลาที่จำเลยเบียดบังเอาทรัพย์ซึ่งเป็นวันกระทำผิดมาในฟ้องด้วย ส่วนวันที่จำเลยครอบครองทรัพย์ไม่ใช่วันกระทำผิดเพราะผู้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นไว้แต่ไม่ได้เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นย่อมไม่มีความผิดข้อหายักยอกตามคำฟ้องข้อ ค. ที่กล่าวแต่เพียงวันที่จำเลยครอบครองทรัพย์ของโจทก์แต่ไม่มีข้อความแสดงว่าจำเลยได้เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนวันเวลาใดจะถือเอาวันที่จำเลยครอบครองทรัพย์เป็นวันที่จำเลยกระทำผิดหาได้ไม่ เพราะไม่มีข้อความตอนใดที่จะให้เข้าใจได้เช่นนั้น จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.อ.มาตรา 158 (5)

Share