คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4747/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 73 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตาม พ.ร.บ. นี้ เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนดห้าปี กระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.นี้อีก ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น” แม้จำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ภายในระยะเวลาที่ศาลรอการกำหนดโทษจำเลยในคดีก่อน การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้ก็ไม่ใช่การกระทำความผิดเมื่อพ้นโทษในคดีก่อนแล้ว จึงไม่อาจจะวางโทษจำเลยในคดีนี้เป็นสองเท่าได้
นอกจากนี้เมื่อมี พ.ร.บ.ภาพยนต์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ออกใช้บังคับแล้ว แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นได้ชัดเจนว่า แผ่นวิดีโอซีดีเพลง (คาราโอเกะ) และแผ่นซีดีรอมเพลง (เอ็มพี 3) รวมทั้งสิ้น 113 แผ่น ตามฟ้องเข้าลักษณะของวัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องตามนิยามของคำว่าภาพยนต์ หรือเข้าลักษณะของวัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น หรือคาราโอเกะที่มีภาพประกอบตามนิยามคำว่าวีดิทัศน์ แม้ในส่วนที่บรรยายฟ้องเกี่ยวกับแผ่นวิดีโอซีดีเพลง (คาราโอเกะ) จำนวน 16 แผ่นนั้น อาจจะเข้านิยามของวีดิทัศน์ในส่วนที่เกี่ยวกับ “คาราโอเกะ” แต่ตามกฎหมายใหม่ก็บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าต้องเป็น “คาราโอเกะที่มีภาพประกอบ” เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ชัดเจนว่า เป็นคาราโอเกะที่มีภาพประกอบหรือไม่ กรณีจึงไม่อาจสันนิษฐานไปเองว่าเป็นคาราโอเกะที่มีภาพประกอบดังนิยามคำว่าวีดิทัศน์ตามกฎหมายใหม่ ดังนั้น การกระทำของจำเลยตามคำบรรยายฟ้องในส่วนที่อ้างว่าประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน และจำหน่ายแผ่นวิดีโอซีดีเพลง (คาราโอเกะ) และแผ่นซีดีรอมเพลง (เอ็มพี 3) ซึ่งบันทึกภาพและเสียงงานดนตรีกรรมต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 113 แผ่น อันเป็นเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงไม่อาจเป็นการประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายใหม่ได้ เมื่อตามกฎหมายใหม่มาตรา 3 (4) ให้ยกเลิกกฎหมายเก่า การกระทำของจำเลยซึ่งเดิมเป็นความผิดตามกฎหมายเก่าจึงถูกยกเลิกความผิดไปทั้งยังไม่เป็นความผิดตามกฎหมายใหม่อีกด้วย จึงต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า หรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 28, 31, 70, 73, 75, 76 พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 4, 6, 34 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 91 และสั่งให้แผ่นวิดีโอซีดีเพลง (คาราโอเกะ) และแผ่นซีดีรอมเพลง (เอ็มพี 3) ของกลางจำนวน 53 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ระวางโทษจำเลยเป็นสองเท่ากำหนดโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.4901/2549 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แล้วบวกเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.5314/2550 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและจ่ายค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้ระวางโทษในคดีนี้เป็นสองเท่า ขอให้นับโทษต่อและขอให้กำหนดโทษแล้วบวกโทษ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง (ที่ถูก ประกอบมาตรา 73 ด้วย) และพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 34 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า จำคุก 6 เดือน ความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่าหรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 วัน รวมโทษทุกกระทงความผิด เป็นจำคุก 6 เดือน 2 วัน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน 1 วัน ให้แผ่นวิดีโอซีดีเพลง (คาราโอเกะ) และแผ่นซีดีรอมเพลง (เอ็มพี 3) ของกลางจำนวน 53 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.5314/2550 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.6098/2550 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “เห็นว่า สำหรับความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า จำเลยเคยกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้หลายครั้ง โดยศาลให้โอกาสจำเลยกลับตัวแต่จำเลยไม่เข็ดหลาบข้ออ้างความจำเป็นเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อครอบครัวไม่เป็นเหตุอันควรที่จะรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ และโทษจำคุกที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงแก่จำเลยเป็นโทษขั้นต่ำตามกฎหมายแล้ว ไม่อาจลงโทษสถานที่เบากว่านี้ได้ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ออกใช้บังคับ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2550 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัตินี้บัญญัติให้ล้างมลทินแก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ เมื่อจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2548 จำนวน 1 คดี และเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2549 จำนวน 2 คดี ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1731/2548, อ.4178/2549 และ อ.4179/2549 ตามลำดับ ในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าทั้งสามคดี โดยให้ลงโทษปรับ 40,000 บาท และ 31,000 บาท ตามลำดับแล้วจำเลยมากระทำความผิดในคดีนี้เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2550 อันเป็นวันที่พ้นโทษปรับในคดีอาญาทั้งสามคดีดังกล่าวของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแล้ว จำเลยจึงเป็นผู้ต้องโทษและได้พ้นโทษในคดีอาญาทั้งสามคดีดังกล่าวไปแล้วก่อนที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ จึงไม่อาจนำผลคดีทั้งสามเรื่องดังกล่าวมาเป็นเหตุระวางโทษจำเลยเป็นสองเท่าในคดีนี้ได้ และที่จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่วันที่ 30 ธันวาคม 2548 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.5557/2548 ในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ให้ลงโทษจำคุก 1 เดือน 15 วัน และปรับ 26,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ซึ่งจะครบกำหนดเวลารอการลงโทษในคดีดังกล่าววันที่ 30 ธันวาคม 2549 จำเลยมากระทำความผิดคดีนี้เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2550 อันเป็นวันที่พ้นกำหนดเวลารอการลงโทษในคดีดังกล่าวและพ้นโทษปรับในคดีเดียวกันนี้แล้วก่อนที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับจึงไม่อาจนำผลคดีดังกล่าวมาเป็นเหตุระวางโทษจำเลยเป็นสองเท่าในคดีนี้ได้เช่นกัน ส่วนที่จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2549 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.4901/2549 ในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าให้รอการกำหนดโทษไว้ 1 ปี แล้วจำเลยมากระทำความผิดในคดีนี้ภายในระยะเวลารอการกำหนดโทษในคดีดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยยังไม่ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาจึงไม่ใช่ผู้ต้องโทษตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 จำเลยย่อมไม่ได้รับประโยชน์ในการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติดังกล่าวสำหรับความผิดที่ได้กระทำไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.4901/2549 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 73 บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนดห้าปี กระทำความผิดต่อพระราชบัญญํตินี้อีกต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น แม้จำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ภายในระยะเวลาที่ศาลรอการกำหนดโทษจำเลยในคดีดังกล่าว การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้ก็ไม่ใช่การกระทำความผิดเมื่อพ้นโทษในคดีก่อนแล้วจึงไม่อาจระวางโทษจำเลยในคดีนี้เป็นสองเท่าได้ นอกจากนี้สำหรับความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่าหรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งโจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดด้วยการประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนและจำหน่ายแผ่นวิดีโอซีดีเพลง (คาราโอเกะ) และแผ่นซีดีรอมเพลง (เอ็มพี 3) ซึ่งบันทึกภาพและเสียงงานดนตรีกรรมต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 113 แผ่น อันเป็นเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 (4) บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ทั้งฉบับไปแล้วและมาตรา 4 ได้ให้นิยามคำว่า “ภาพยนตร์” ไว้ว่าหมายถึง วัสดุที่มีการบันทึกภาพหรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องและนิยามคำว่า “วีดิทัศน์” ไว้ว่าหมายถึง วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่นคาราโอเกะที่มีภาพประกอบหรือลักษณะอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และมาตรา 38 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามผู้ใดประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ส่วนมาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามผู้ใดประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนเว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นได้ชัดเจนว่า แผ่นวิดีโอซีดีเพลง (คาราโอเกะ) และแผ่นซีดีรอมเพลง (เอ็มพี 3) รวมทั้งสิ้น 113 แผ่น ตามฟ้องเข้าลักษณะของวัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องตามนิยามของคำว่า ภาพยนตร์ หรือเข้าลักษณะของวัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น หรือคาราโอเกะที่มีภาพประกอบตามนิยามของคำว่า วีดิทัศน์ แม้ในส่วนที่บรรยายฟ้องเกี่ยวกับแผ่นวิดีโอซีดีเพลง (คาราโอเกะ) จำนวน 16 แผ่นนั้น อาจจะเข้านิยามของวีดิทัศน์ในส่วนที่เกี่ยวกับ “คาราโอเกะ” แต่ตามกฎหมายใหม่ก็บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าต้องเป็น “คาราโอเกะที่มีภาพประกอบ” เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ชัดเจนว่าเป็นคาราโอเกะที่มีภาพประกอบหรือไม่ กรณีจึงไม่อาจสันนิษฐานไปเองว่าเป็นคาราโอเกะที่มีภาพประกอบดังนิยามคำว่า วีดิทัศน์ตามกฎหมายใหม่ การกระทำของจำเลยตามคำบรรยายฟ้องในส่วนที่อ้างว่าประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน และจำหน่ายแผ่นวิดีโอซีดีเพลง (คาราโอเกะ) และแผ่นซีดีรอมเพลง (เอ็มพี 3) ซึ่งบันทึกภาพและเสียงงานดนตรีกรรมต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 113 แผ่น อันเป็นเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จึงไม่อาจเป็นการประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายใหม่ได้ เมื่อตามกฎหมายใหม่มาตรา 3 (4) ให้ยกเลิกกฎหมายเก่า การกระทำของจำเลยซึ่งเดิมเป็นความผิดตามกฎหมายเก่าจึงถูกยกเลิกความผิดไป ทั้งยังไม่เป็นความผิดตามกฎหมายใหม่อีกด้วย จึงต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่าหรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าไม่ต้องระวางโทษจำเลยเป็นสองเท่า ให้จำคุก 3 เดือน เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 1 เดือน 15 วัน ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่าหรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share