แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะหรือไม่นั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานนอกข้อต่อสู้ในคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ ไม่เกี่ยวกับที่คู่ความจะต้องนำสืบหรือมีกฎหมายบังคับให้ต้องแสดง ศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยไม่ได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 ที่ศาลล่างนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา แม้คดีนี้จะขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะในส่วนฟ้องแย้ง และคดีตามฟ้องเดิมของโจทก์จะต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่การที่ศาลล่างวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานนอกข้อต่อสู้ในคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้อันเป็นประเด็นข้อสำคัญในคดีตามฟ้องเดิม ซึ่งมีผลทำให้การวินิจฉัยคดีในส่วนฟ้องแย้งที่ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง จึงเป็นกรณีที่ศาลล่างมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่จะมุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาแต่เมื่อความปรากฏแก่ศาลฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยและเห็นสมควรที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ถูกต้องในส่วนของฟ้องเดิมและฟ้องแย้งเสียทั้งหมดแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 เพราะข้อเท็จจริงตามฟ้องเดิมและฟ้องแย้งเป็นเรื่องเดียวกัน
ย่อยาว
คดีทั้งสิบสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสิบสามสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยสำนวนที่ 1 ถึงที่ 10 จำเลยที่ 2 สำนวนที่ 11 และจำเลยสำนวนที่ 12 และที่ 13 ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ตามลำดับ ส่วนจำเลยที่ 1 สำนวนที่ 11 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยดังกล่าวจากสารบบความ
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสิบสามสำนวนและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสามและบริวารออกจากที่ดินพิพาท และห้ามจำเลยทั้งสิบสามและบริวารเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทของโจทก์อีก ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ชดใช้ค่าเสียหายต่อไปนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสิบสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10, ที่ 12 และที่ 13 ฟ้องแย้งว่าจำเลยแต่ละคนและบริวารได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดโดยสุจริต สงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โจทก์ไม่เคยเกี่ยวข้องหรือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เอกสารสิทธิของที่ดินพิพาทที่โจทก์อ้าง โจทก์ได้มาโดยปราศจากสิทธิตามกฎหมาย เป็นการออกโดยไม่ชอบ ขอให้พิพากษาว่าจำเลยแต่ละคนได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4220 ถึง 4224, 4256, 4260, 4261, 4374 ถึง 4378 ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ยกฟ้องโจทก์ทั้งสิบสามสำนวน คำขอตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 ส่วนอื่นให้ยก ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสิบสามสำนวนโดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จำเลยที่ 10 ถึงแก่กรรม นายสมควร ทายาทของจำเลยที่ 10 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4220 ถึง 4224, 4224, 4256, 4260, 4261, 4374 ถึง 4378 ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร เฉพาะส่วนที่พิพาทตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.31 และ จ.54 ถึง จ.66 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์สำหรับฟ้องแย้งในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในส่วนฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสิบสามมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทรวม 13 แปลง จำเลยทั้งสิบสามและบริวารทำนาในที่ดินพิพาทในส่วนที่ระบายสีชมพูเอกสารหมาย จ.31 และ จ.54 ถึง จ.66 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยแต่ละคนและบริวารได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมานานตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายโดยสุจริต สงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ส่วนโจทก์ไม่เคยเกี่ยวข้องหรือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่โจทก์อ้างว่ามีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในที่ดินพิพาทเป็นการอ้างและได้มาโดยปราศจากสิทธิตามกฎหมาย หากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ดังกล่าวมีอยู่จริงก็เป็นการออกโดยไม่ชอบนั้น เป็นการบรรยายให้เข้าใจได้แล้วว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาอย่างไร ตั้งแต่เมื่อใด และมีสิทธิดีกว่าหรือเหนือกว่าโจทก์ด้วยเหตุผลใด เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 มิได้ยอมรับถึงความถูกต้องของหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของที่ดินพิพาทที่โจทก์อ้างแล้ว เอกสารดังกล่าวจะมีอยู่จริงหรือไม่จึงมิใช่ข้อสำคัญ การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 มิได้ให้การยอมรับหรือปฏิเสธโดยชัดแจ้งถึงความมีอยู่จริงของเอกสารดังกล่าวจึงไม่มีผล ทั้งมิใช่เป็นการตั้งประเด็นเป็นสองนัยดังที่โจทก์เข้าใจ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 ถือว่าได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว จึงไม่เป็นฟ้องแย้งที่เคลือบคลุม ส่วนเรื่องที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 และ ที่ 13 เสียค่าธรรมเนียมศาลอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์อันเนื่องมาจากการให้การและฟ้องแย้งก็ดี จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 จะนำสืบพยานหลักฐานตรงตามคำให้การและฟ้องแย้งหรือไม่ก็ดี และการวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องมีการตีความคำให้การและฟ้องแย้งหรือไม่ก็ดี ล้วนมิใช่ข้อที่จะนำมาพิจารณาว่าฟ้องแย้งเคลือบคลุมหรือไม่ เพราะการพิจารณาว่าฟ้องแย้งเคลือบคลุมหรือไม่ ต้องพิจารณาจากคำให้การและฟ้องแย้งเป็นสำคัญ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 12 และที่ 13 มิได้เป็นผู้เสียหายโดยตรงและโดยชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการออกเอกสารสิทธิของที่ดินพิพาท จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิดังกล่าวซึ่งโจทก์ฎีกาพัวพันมากับเรื่องเคลือบคลุมนั้นเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสิบสามและบริวารบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของโจทก์ซึ่งมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) รวม 13 แปลง จำเลยทั้งสิบสามให้การว่าจำเลยแต่ละคนและบริวารต่างเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยสุจริต สงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของและได้ครอบครองเป็นส่วนสัดมานานแล้ว โจทก์ไม่เคยเกี่ยวข้องหรือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เอกสารสิทธิของที่ดินพิพาทออกโดยไม่ชอบ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยทั้งสิบสาม แม้จำเลยทั้งสิบสามจะให้การว่าจำเลยแต่ละคนและบริวารทั้งชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกับชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งมีเนื้อที่หลายพันไร่มานานตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ก็ไม่อาจแปลได้ว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นที่สาธารณะ การที่จำเลยทั้งสิบสามนำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะจึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะหรือไม่นั้นจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานนอกข้อต่อสู้ในคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ ไม่เกี่ยวกับที่คู่ความจะต้องนำสืบหรือมีกฎหมายบังคับให้ต้องแสดง ศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยไม่ได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 ที่ศาลล่างทั้งสองนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา แม้คดีนี้จะขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะในส่วนฟ้องแย้ง และคดีตามฟ้องเดิมของโจทก์ทั้งสิบสามสำนวนจะต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานนอกข้อต่อสู้ในคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้อันเป็นประเด็นข้อสำคัญในคดีตามฟ้องเดิม ซึ่งมีผลทำให้การวินิจฉัยคดีในส่วนฟ้องแย้งที่ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงจึงเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในข้อที่จะมุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา แต่เมื่อความปรากฏแก่ศาลฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยและเห็นสมควรที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ถูกต้องในส่วนของฟ้องเดิมและฟ้องแย้งเสียทั้งหมด แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 เพราะข้อเท็จจริงตามฟ้องเดิมและฟ้องแย้งเป็นเรื่องเดียวกัน”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ทั้งคดีตามฟ้องเดิมและฟ้องแย้ง ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยทั้งสิบสาม แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งทั้งสามศาล ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่