แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พฤติการณ์แห่งคดีมีน้ำหนักน่าเชื่อว่า สินค้าสูญหายไปเพราะจำเลยทั้งสองปล่อยให้ลูกจ้าง ตัวแทนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทุจริตลักขโมยสินค้าไป ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะมีข้อตกลงยกเว้นและจำกัดความรับผิดในความสูญหายของสินค้าจากการขนส่งทางอากาศ ก็ไม่อาจนำข้อตกลงยกเว้นและจำกัดความรับผิดในการขนส่งทางอากาศดังกล่าวมาใช้บังคับได้ มิฉะนั้นจะเป็นการขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 373 ที่ว่า “ความตกลงทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้ลูกหนี้ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนนั้น ท่านว่าเป็นโมฆะ” สำหรับจำนวนค่าสินไหมทดแทนนั้น เมื่อโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยไป ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงิน 3,240,520.78 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 3,208,218.85 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 200 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยหากชำระเป็นเงินไทยให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงิน แต่ไม่เกินอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 39.17 บาท ตามที่โจทก์ขอ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าสินค้าทั้งหมดได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่งของจำเลยทั้งสองโดยจำเลยทั้งสองปล่อยให้ลูกจ้าง ตัวแทน หรือผู้เกี่ยวข้องทุจริตลักขโมยสินค้าดังกล่าวไปทั้งหมดหรือไม่ และข้อตกลงยกเว้นและจำกัดความรับผิดของจำเลยทั้งสองในกรณีสิ่งของสูญหายหรือบุบสลายจากการขนส่งทางอากาศ สำหรับสินค้าประเภทเพชรพลอยอัญมณีและของมีค่า โดยจำกัดมูลค่าสำแดงเพื่อการขนส่งหรือจำกัดความรับผิดในการสูญหายหรือเสียหายไม่เกิน 500 ดอลลาร์สหรัฐ ตามใบรับขนทางอากาศ ครอบคลุมถึงกรณีที่เกิดขึ้นหรือไม่ เพียงใด โจทก์มีนายประดล ผู้จัดการฝ่ายกฎหมายของโจทก์ กับนางทีรญา พนักงานฝ่ายรับประกันภัยของโจทก์ เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงในทำนองเดียวกันว่า สินค้าที่เอาประกันภัยไม่มีการส่งมอบถึงปลายทาง น่าเชื่อว่าลูกจ้างตัวแทนจำเลยทั้งสองทุจริตลักขโมยสินค้าไปเพราะไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง เมื่อนายประพล พนักงานของจำเลยที่ 2 ตำแหน่งผู้จัดการแผนกให้บริการลูกค้า ซึ่งเป็นพยานของจำเลยทั้งสองได้เบิกความตอบคำถามค้านว่า สินค้าสูญหายที่ใดไม่ทราบ แต่ข้อมูลสุดท้ายจากการตรวจสอบทราบว่าสินค้าได้ไปอยู่ในประเทศอังกฤษ ซึ่งจากการพิจารณาแล้วเป็นไปได้ว่าพนักงานของฝ่ายจำเลยที่ประเทศอังกฤษขโมยสินค้าไป อันเป็นการเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าว จนทำให้พฤติการณ์แห่งคดีมีน้ำหนักน่าเชื่อว่า สินค้าสูญหายไปเพราะจำเลยทั้งสองปล่อยให้ลูกจ้าง ตัวแทนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทุจริตลักขโมยสินค้าไป ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะมีข้อตกลงยกเว้นและจำกัดความรับผิดในความสูญหายของสินค้าจากการขนส่งทางอากาศ ก็ไม่อาจนำข้อตกลงยกเว้นและจำกัดความรับผิดในการขนส่งทางอากาศดังกล่าวมาใช้บังคับได้ มิฉะนั้นจะเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 373 ที่ว่า “ความตกลงทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้ลูกหนี้ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนนั้น ท่านว่าเป็นโมฆะ” สำหรับจำนวนค่าสินไหมทดแทนนั้นได้ความตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนายประดล พยานโจทก์ว่า โจทก์ตกลงรับประกันภัยสินค้าของบริษัทมิกิ ไซมีช อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยให้พนักงานคำนวณเบี้ยประกันภัยจากสำเนาใบรายการส่งสินค้าและใบกำกับสินค้า ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยมีทุนประกัน 39,355 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 1,541,535.35 บาท และกรมธรรม์ประกันภัยมีทุนประกัน 42,550 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 1,666,683.50 บาท เมื่อโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวจำนวน 3,208,218.85 บาท ให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2548 ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวตามฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์เพียง 200 ดอลลาร์สหรัฐ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องบางส่วน โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์เต็มตามฟ้อง คดีจึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นนี้เท่ากับจำนวนเงินตามที่โจทก์ฟ้อง 3,240,520.78 บาท หักด้วยจำนวนเงินที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระให้แก่โจทก์จำนวน 200 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องโดยให้คิดเป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้แก่ลูกค้าในวันที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นนี้จากทุนทรัพย์ 3,240,520.78 บาท จึงเป็นการเสียเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาให้แก่โจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,208,218.85 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จ คืนค่าขึ้นศาลในชั้นนี้ส่วนที่เสียเกินมาให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้นอกจากที่ศาลสั่งคืนให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง