คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1454/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ธนาคารจำเลยมีระเบียบและคำสั่งเรื่องการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าชัดแจ้งว่าลูกค้าที่ขอสินเชื่อตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ผู้จัดการสาขาไม่มีอำนาจอนุมัติเอง ต้องส่งเรื่องไปขออนุมัติจากสำนักงานใหญ่ เมื่อสำนักงานใหญ่อนุมัติแล้วจึงจะจดทะเบียนจำนองให้แก่ลูกค้าได้ การที่จำเลยวางระเบียบไว้เช่นนั้นเพื่อให้สำนักงานใหญ่ได้กลั่นกรองให้ละเอียดรอบคอบอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันความเสี่ยงหรือความเสียหายของจำเลย จึงต้องถือว่าระเบียบและคำสั่งนี้มีความสำคัญแก่การดำเนินกิจการธนาคาร ของจำเลยการที่โจทก์รีบดำเนินการจดทะเบียนจำนองให้แก่ บริษัทด. ในวงเงิน 162 ล้านบาท ก่อนได้รับอนุมัติจากจำเลย ทั้งที่ส. รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลยมีคำสั่งว่ากรณีจำเป็นเร่งด่วนก็ต้องขออนุมัติจากสำนักงานใหญ่ก่อน จะดำเนินการจดทะเบียนจำนองให้แก่ลูกค้าไม่ได้ แสดงให้เห็นว่าการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของจำเลย และเป็นเหตุให้จำเลยขาดเงินฝากอันเป็นหลักประกันถึง 39 ล้านบาท ทั้งโจทก์ยังเปลี่ยนแปลงลักษณะของสินเชื่อโดยเปลี่ยนแปลงจากวงเงินหนังสือค้ำประกันมาเป็นวงเงินรับรองตั๋วแลกเงินและวงเงินรับซื้อตั๋วเงินให้แก่บริษัทด. อีกด้วย อันเป็นผลทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างมาก และความเสียหาย นี้หาใช่ความเสียหายที่เกิดจากจำเลยมีคำสั่งให้ระงับสินเชื่อไม่ การกระทำของโจทก์ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือ คำสั่งเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการ บอกกล่าวล่วงหน้า และการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุ ดังกล่าวมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ประมาณปี 2526 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยต่อมาจำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ อ้างว่าโจทก์ปล่อยสินเชื่อลูกค้ารายบริษัทดงช้างปิโตรเลียม จำกัด ไม่เป็นไปตามคำสั่งของจำเลยอนุมัติ ทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรงซึ่งไม่เป็นความจริง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และไม่ได้บอกกล่าวให้โจทก์ทราบล่วงหน้า จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เท่ากับค่าจ้าง 6 เดือน ในอัตราเดือนละ 27,495 บาท เป็นเงินค่าชดเชย 164,970 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 27,495 บาท เงินบำนาญสำหรับลูกจ้างที่ทำงานกับจำเลยตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป คิดจากค่าจ้างอัตราสุดท้ายบวกค่าครองชีพจำนวน 22,950 บาท คูณกับอายุงานของโจทก์ 14 ปี เป็นเงินบำนาญ 321,300 บาท นอกจากนี้จำเลยต้องจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2539 ประจำไตรมาส ที่ 2 ซึ่งจะต้องจ่ายในเดือนมิถุนายน 2539 อีกจำนวน 56,125 บาท แก่โจทก์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายอีก 500,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงินที่จำเลยต้องจ่ายให้โจทก์ทั้งสิ้น 1,069,890 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันฟ้องสำหรับค่าชดเชย นับแต่เดือนมิถุนายน 2539 จนถึงวันฟ้องสำหรับเงินโบนัส ส่วนเงินอื่น ๆนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินทุกจำนวนพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงหรือไม่เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่าจำเลยมีระเบียบและคำสั่งเรื่องการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าชัดแจ้งว่า ลูกค้าที่ขอสินเชื่อตั้งแต่ 10 ล้านบาท ขึ้นไป ผู้จัดการสาขาไม่มีอำนาจอนุมัติเอง ต้องส่งเรื่องไปขออนุมัติจากสำนักงานใหญ่ เมื่อสำนักงานใหญ่อนุมัติแล้วจึงจะจดทะเบียนจำนองให้แก่ลูกค้าได้ การที่จำเลยวางระเบียบไว้เช่นนั้นเพื่อให้สำนักงานใหญ่ได้กลั่นกรองให้ละเอียดรอบคอบอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันความเสี่ยงหรือความเสียหายของจำเลย จึงต้องถือว่าระเบียบและคำสั่งนี้มีความสำคัญแก่การดำเนินกิจการธนาคารของจำเลย การที่โจทก์รีบดำเนินการจดทะเบียนจำนองให้แก่บริษัทดงช้างปิโตรเลียม จำกัด ในวงเงิน 162 ล้านบาท ก่อนได้รับอนุมัติจากจำเลย ทั้งที่นายสมชาย สกุลสุรรัตน์รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ของจำเลยมีคำสั่งว่ากรณีจำเป็นเร่งด่วนก็ต้องขออนุมัติจากสำนักงานใหญ่ก่อนจะดำเนินการจดทะเบียนจำนองให้แก่ลูกค้าไม่ได้ แสดงให้เห็นว่าการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยเป็นเหตุให้จำเลยขาดเงินฝากอันเป็นหลักประกันถึง 39 ล้านบาท ทั้งโจทก์ยังเปลี่ยนแปลงลักษณะของสินเชื่อโดยเปลี่ยนแปลงจากวงเงินหนังสือค้ำประกันมาเป็นวงเงินรับรองตั๋วแลกเงินและวงเงินรับซื้อตั๋วเงินให้แก่บริษัทดงช้างปิโตรเลียม จำกัด อีกด้วยอันเป็นผลทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างมาก และความเสียหายนี้หาใช่ความเสียหายที่เกิดจากจำเลยมีคำสั่งให้ระงับสินเชื่อดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ การกระทำของโจทก์ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากับเงินอื่นตามฟ้องและกรณีจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4692/2538ที่โจทก์อ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้”
พิพากษายืน

Share