คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำสั่งของศาลที่จะเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 จะต้องเป็นกรณีที่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมหรือแยกทรัพย์สิน หรือขอให้ขายทรัพย์สินนั้นตามลำดับที่กำหนดไว้ หรือร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่สั่งให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินตามมาตรา 309(1)(2) และ (3) และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยอมปฏิบัติตามคำร้องหรือคำคัดค้านเช่นว่านั้น ผู้ร้องได้ยื่นคำขอต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องภายใน 2 วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิเสธเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งชี้ขาดในเรื่องนั้น คำสั่งชี้ขาดของศาลจึงจะเป็นที่สุดแต่คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 972 รวมกับที่ดินแปลงอื่นรวม10 โฉนด ในคราวเดียวกันต่อศาลชั้นต้นโดยตรงก่อนการขายทอดตลาดกรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 309 คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งคำร้อง ของ โจทก์จึงยังไม่เป็นที่สุด

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยไม่ชำระหนี้เงินให้โจทก์ตามคำพิพากษาที่พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยจำนวน 20 แปลง เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดที่ดินที่ยึดในวันที่ 18 สิงหาคม 2529 ถึงวันนัด เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานต่อศาลว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์และจำเลยมาศาล และมีผู้ประสงค์จะมาทำการซื้อทรัพย์ประมาณ 15 คน แต่โจทก์ยื่นคำแถลงขอเลื่อนการขายไปสัก นัด อ้างว่าสำนักงานใหญ่ของโจทก์ได้กำหนดราคาในการสู้ราคาในการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองโฉนดเลขที่ 972,2286, 2287, 2288, 2289, 2290, 2291, 2292, 2293 และ2285 รวม 10 โฉนดคราวเดียวกัน แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้กำหนดให้ขายแยกเป็นแปลงซึ่งผู้รับมอบอำนาจโจทก์จำเป็นที่จะต้องเสนอขออนุมัติสำนักงานใหญ่ของโจทก์เสียก่อน จึงขอให้เลื่อนการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปในวันที่ 16 กันยายน 2529 ศาลชั้นต้นสั่งในรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า ทรัพย์ที่ยึดไว้ในคดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายแยกเป็นแปลง ๆ แล้ว เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2529 เป็นเวลา 1 เดือนเศษมาแล้ว โจทก์มิได้มาร้องขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้รวมขายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 แต่เพิ่งมาร้องขอในวันนี้ โดยทำเป็นคำแถลง จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมายและตามคำแถลงของโจทก์อ้างว่าจะให้เลื่อนการขายไปเพื่อรออนุมัติจากสำนักงานใหญ่ซึ่งเป็นเรื่องภายในของโจทก์เอง นำมาอ้างต่อศาลไม่ได้และวันนี้มีผู้ซื้อทรัพย์มาพร้อม หากเลื่อนการขายไปอาจเป็นการเสียหายแก่จำเลย จึงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทรัพย์ไปตามที่ประกาศไว้ ยกคำแถลงของโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องในวันเดียวกันในเวลาต่อมาว่า โดยเหตุที่ที่ดินโฉนดดังกล่าวรวม 10 แปลงนั้นเป็นที่ดินซึ่งมีการแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยมาจากที่ดินแปลงใหญ่คือที่ดินโฉนดเลขที่ 972 ดังนั้นจึงจะต้องขอให้ขายที่ดินที่แบ่งแยกดังกล่าวรวม 10 แปลง รวมกันไป เพราะหากขายเป็นรายแปลงจะมีปัญหาเรื่องทางเข้าออกของที่ดินแต่ละแปลงซึ่งไม่สามารถออกสู่ถนนได้ จึงจำเป็นต้องขอให้ขายรวมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินบางแปลงและทำให้ได้ราคา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ได้สั่งไปในรายงานของเจ้าหน้าที่แล้ว และเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 309 ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้นและได้เสนอรายงานผลการประมูลซื้อทรัพย์ว่า ในการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ดิน 20 แปลงนั้น ขายได้เพียง 4 แปลง คือ ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 972 บริษัทเรือขุดแร่บุญสูง จำกัด เป็นผู้ให้ราคาสูงสุด 685,000 บาท ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1555, 1556 และ 1557นายไมตรี เอี่ยมวรกุล เป็นผู้ให้ราคาสูงสุดแปลงละ 50,000 บาทแต่โจทก์และจำเลยต่างคัดค้านว่า ราคาที่ผู้ประมูลซื้อในราคาสูงสุดสำหรับการขายครั้งนี้ยังอยู่ในราคาต่ำมาก ศาลชั้นต้นสั่งว่าที่ดินทั้งสี่แปลงที่ขายทอดตลาดนี้ปรากฏว่าขายได้ราคาสูงกว่าราคาที่ประเมินไว้ทั้งสิ้น ที่โจทก์จำเลยคัดค้านว่าราคายังต่ำไปนั้นเห็นว่าไม่มีเหตุผล จึงอนุญาตให้ขายแก่ผู้สู้ราคาสูงสุดที่ดินที่เหลืออยู่ประกาศขายใหม่ เมื่อโจทก์และจำเลยลงชื่อรับทราบคำสั่งศาลแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องและจำเลยยื่นคำแถลงต่อศาลในวันเดียวกันนี้ โดยโจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองดังกล่าวว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 972, 2285, 2286, 2287,2288, 2289, 2290, 2291, 2292 และ 2293 รวม 10 โฉนด เป็นที่ดินแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยจากที่ดินแปลงใหญ่คือ โฉนดเลขที่ 972หากขายเป็นรายแปลงแล้ว แปลงย่อยจะมีปัญหาในเรื่องทางเข้าออกของที่ดินซึ่งไม่สามารถออกสู่ถนนได้ โจทก์เห็นว่าจะเป็นการเสียหายเพราะทำให้ราคาต่ำเนื่องจากแปลงที่แบ่งแยกเป็นแปลงย่อยไม่ติดถนนหากมีผู้ซื้อที่ดินแปลงใหญ่ซึ่งอยู่ติดถนนไปแล้วจะทำให้แปลงอื่น ๆ ไม่มีผู้สนใจจะซื้อ ศาลชั้นต้นสั่งว่าที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายไปได้ราคาสูงกว่าราคาประเมินแล้วทั้งสิ้น ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าหากขายไปบางแปลงแล้วจะมีปัญหาสำหรับแปลงอื่นนั้น เห็นว่าโจทก์มิได้แสดงให้เห็นว่าจะมีผู้ใดหรือโจทก์เองจะซื้อที่ดินทั้งหมดได้ในคราวเดียวกัน หากเลื่อนการขายไป ครั้งต่อไปอาจไม่มีผู้ซื้อเลยก็ได้ คำคัดค้านของโจทก์ไม่มีเหตุผลเพียงพอ ยกคำร้อง และจำเลยยื่นคำแถลงคัดค้านการขายว่าที่บริษัทเรือขุดแร่บุญสูง จำกัด ให้ราคาสูงสุดสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 972 เป็นเงิน 685,000 บาท และนายไมตรีเอี่ยมวรกุล ให้ราคาสูงสุดสำหรับที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1555,1556 และ 1557 แปลงละ 50,000 บาท นั้น ยังต่ำกว่าราคาที่แท้จริงมาก เช่น ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 972 เนื้อที่ 77 ไร่58 6 ส่วน 10 ตารางวา เฉลี่ยไร่ละไม่ถึง 10,000 บาทที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวตั้งอยู่ในตลาดท้ายเหมือง ประชาชนอยู่กันหนาแน่น ศาลชั้นต้นสั่งว่า ที่ดินโฉนดที่ 972 มีราคาประเมิน680,000 บาท ส่วนโฉนดเลขที่ 1555, 1556 และ 1557 ราคาประเมินแปลงละ 26,000 บาท แต่ผู้ซื้อให้ราคาตามโฉนดเลขที่ 972 เป็นเงิน685,000 บาท และแปลงอื่น ๆ แปลงละ 50,000 บาท ตามลำดับเห็นว่าสูงกว่าราคาประเมินแล้วทั้งสิ้น สมควรขายให้ผู้สู้ราคาสูงสุดไป ให้ยกคำแถลง วันที่ 26 สิงหาคม 2525 โจทก์และจำเลยต่างยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ดินทั้งสี่แปลง แล้วประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ใหม่ทั้งหมดศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของโจทก์ว่า เห็นว่าการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการขายโดยชอบแล้ว ไม่มีเหตุจะสั่งเพิกถอนยกคำร้อง และสั่งคำร้องของจำเลยว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการขายโดยชอบแล้ว ไม่มีเหตุจะสั่งเพิกถอน ยกคำร้องโจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งขายที่ดินโฉนดเลขที่ 972 ของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นประกาศขายใหม่โดยให้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 972รวมกับที่ดินโฉนดเลขที่ 2285 ถึง 2293 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น โจทก์จำเลย และผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามฎีกาของผู้ร้องที่ว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งในคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 18 สิงหาคม 2529ที่ขอให้ขายที่ดิน 10 แปลงรวมกันไป เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 นั้น เห็นว่า คำสั่งของศาลที่จะเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 จะต้องเป็นกรณีที่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมหรือแยกทรัพย์สิน หรือขอให้ขายทรัพย์สินนั้นตามลำดับที่กำหนดไว้หรือร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่สั่งให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินตามมาตรา 309(1)(2) และ (3) และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยอมปฏิบัติตามคำร้องหรือคำคัดค้านเช่นว่านั้น ผู้ร้องได้ยื่นคำขอต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องภายใน 2 วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิเสธเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งชี้ขาดในเรื่องนั้น คำสั่งชี้ขาดของศาลจึงจะเป็นที่สุดแต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 972 รวมกับที่ดินแปลงอื่นรวม 10 โฉนดในคราวเดียวกันต่อศาลชั้นต้นโดยตรงก่อนการขายทอดตลาด กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 309 ดังกล่าว คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งคำร้องของโจทก์จึงยังไม่เป็นที่สุด ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น ปัญหาต่อไปมีว่าสมควรให้ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดที่ 972รวมกับที่ดินอีก 9 โฉนด ดังที่ปรากฏในคำร้อง ของ โจทก์ตามฎีกาของโจทก์จำเลย ผู้ร้องหรือไม่ ได้ความตามฎีกาของจำเลยโดยคู่ความอื่นไม่ได้โต้แย้งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 972 มีเนื้อที่ 77 ไร่เศษจำเลยทำผังแบ่งแยกเป็นแปลงเล็ก ๆ เพื่อแบ่งขายหรือทำเป็นที่ดินจัดสรรที่แบ่งแยกแล้วมีโฉนดเลขที่ 2285-2293 รวม 9 โฉนด ปรากฏตามแผนที่สังเขปยึดทรัพย์ของจำเลยของเจ้าพนักงานบังคับคดี ประกอบกับได้ความตามฎีกาของโจทก์โดยคู่ความอื่นไม่ได้โต้แย้งเช่นกันว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2285-2293 เป็นที่ดินรวมอยู่ในที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 972 และไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ นอกจากจะผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 972 เมื่อเป็นเช่นนี้เป็นที่เห็นได้ชัดว่าถ้าจะให้แยกขายเป็นรายแปลง ที่ดินโฉนดเลขที่ 2285-2293 จะขายได้ในราคาต่ำ น่าจะได้ขายรวมกันไปกับที่ดินโฉนดเลขที่ 972 ดังนั้นคำขอของโจทก์ที่ขอให้รวมขายที่ดินโฉนดเลขที่ 972 กับเลขที่2285-2293 จึงมีเหตุผลสมควร และน่าที่จะดำเนินการให้ตามที่โจทก์ขอ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 1555-1557 รวม 3 แปลง ยังไม่สมควรขายให้แก่ผู้ซื้อเพราะราคาต่ำไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยหรือไม่ ได้ความตามฎีกาของจำเลยประกอบกับแผนที่สังเขปยึดทรัพย์ของจำเลยว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1555-1557 ตั้งอยู่ริมถนนไปชายทะเลท้ายเหมือง เป็นที่ดินอยู่ในทำเลดีเหมาะแก่การปลูกบ้านพักอาศัยตากอากาศหรือทำการค้า จำเลยติดต่อผู้มีชื่อและตกลงจะซื้อแล้วราคาไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 3,000 บาท แต่ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายแก่นายไมตรี เอี่ยมวรกุล ตกราคาตารางวาละ 1,602 บาทเท่านั้นเห็นว่า ถึงแม้การขายที่ดินทั้งสามแปลงนี้จะขายได้ในราคาสูงกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ก็ตาม แต่ก็น่าเชื่อว่ายังเป็นราคาที่ต่ำไป และตามฎีกาของจำเลยก็ทักท้วงว่าผู้ประมูลสู้ราคาในวันนั้นก็มีเพียงกลุ่มผู้ประมูลราคาสูงสุดเพียงกลุ่มเดียว ราคาย่อมถูกกดให้ต่ำได้และโจทก์จำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการขายทอดตลาดโดยตรง ก็คัดค้านต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีตั้งแต่ต้นแล้วว่าราคาที่ผู้ประมูลซื้อให้ราคาสูงสุดสำหรับการขายครั้งนี้ยังอยู่ในราคาต่ำมาก นอกจากนั้นยังเป็นการขายครั้งแรก กับทั้งไม่ปรากฏว่านายไมตรี เอี่ยมวรกุลผู้ประมูลซื้อได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์หรือคำแก้ฎีกาคัดค้านแต่ประการใดจึงสมควรที่จะสั่งเพิกถอนการขายที่ดินทั้งสามแปลงนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ฎีกาข้ออื่นของโจทก์และจำเลยไม่จำเป็นแก่คดีจึงไม่วินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1555,1556 และ 1557 ของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการขายใหม่นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share