คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 81/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำเบิกความของพยานที่หูหนวกและเป็นใบ้ให้ถือว่าเป็นคำเบิกความของพยานบุคคล ส่วนวิธีถามหรือตอบนั้นอาจจะกระทำโดยวิธีเขียนหนังสือหรือโดยวิธีอื่นที่สมควรได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 96

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276, 288,289, 91 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276, 289 ลงโทษตามมาตรา 289 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90 ให้ประหารชีวิตจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาว่าโจทก์มีประจักษ์พยานเพียงคนเดียวคือนางสาวสุพลซึ่งเป็นใบ้และหูหนวกแต่กำเนิด จึงเป็นพยานที่หย่อนสมรรถภาพในการเข้าใจสื่อความหมาย ไม่อาจรับฟังได้อย่างสนิทใจว่าพยานจะเข้าใจความหมายตรงกันกับที่ล่ามแปล เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 96 ให้ถือว่าคำเบิกความของพยานที่หูหนวกและเป็นใบ้เป็นคำเบิกความของพยานบุคคล ส่วนวิธีถามหรือตอบนั้นอาจจะกระทำโดยวิธีเขียนหนังสือหรือโดยวิธีอื่นใดที่สมควรได้ ปรากฏจากบันทึกของศาลในคำเบิกความของนางสาวสุพลว่าโจทก์ได้นำนายบุญโฮม จันทร์สมดี กับนายนิรันดร์ อุปนันท์อาจารย์โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทรจังหวัดเชียงใหม่มาเป็นผู้ถามโดยใช้กระดานดำเป็นอุปกรณ์ช่วยในการถาม ดังนั้นจึงต้องถือว่าคำเบิกความของนางสาวสุพลเป็นคำเบิกความของพยานบุคคลตามปกติปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจะเชื่อคำเบิกความของนางสาวสุพลได้เพียงไรหรือไม่เท่านั้น
ได้ตรวจสอบคำเบิกความของนางสาวสุพลในชั้นศาลและชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.15 จ.16 แล้ว ข้อที่นางสาวสุพลอ้างว่าได้อยู่กับผู้ตายขณะที่ผู้ตายถูกคนร้ายข่มขืนกระทำชำเราและใช้มีดฟันเมื่อคนร้ายหนีไปแล้วจึงเข้าไปพยุงและลากผู้ตายซึ่งขณะนั้นยังไม่ตายออกมาจากที่เกิดเหตุนั้นรับฟังได้ว่าเป็นความจริง เพราะนายพร นิทะโน ซึ่งเป็นพี่ชายของผู้ตายเบิกความว่า วันเกิดเหตุประมาณ 17 นาฬิกาขณะที่นายพรออกติดตามหาผู้ตายนั้น ได้พบนางสาวสุพลอยู่ห่างที่เกิดเหตุประมาณ 1 กิโลเมตร นางสาวสุพลกำลังอยู่ในอาการตกใจเหมือนคนผวาที่ข้อแขนมีเลือดเปื้อนและเมื่อพากันย้อนกลับเข้าไปในป่าก็พบผู้ตายถูกฟันนอนหมดสติอยู่ตรงกับที่นางสาวสุพลส่งภาษาใบ้บอก
สำหรับตัวคนร้ายนั้น พันตำรวจโทบุญมี มูลสาร เบิกความว่าได้ให้นายมิ่ง ใจมูล พี่ชายของนางสาวสุพลถามนางสาวสุพลถึงตัวคนร้ายโดยวิธีส่งภาษาใบ้ในคืนที่เกิดเหตุนั้นเอง นางสาวสุพลก็ตอบด้วยภาษาใบ้โดยยกมือขึ้นสูงเหนือศีรษะ หมายความว่าคนร้ายเป็นคนรูปร่างสูง ใช้นิ้วชี้ที่ใต้จมูกหมายความว่าคนร้ายมีหนวดใช้มือยกจดที่ริมคิ้วหมายความว่า คนร้ายเป็นทหาร ใช้นิ้วทั้งห้าดีดที่บริเวณหน้าท้องหมายความว่าคนร้ายเล่นซึงหรือดนตรี และใช้มือกำที่ปากหมายความว่าคนร้ายดูดกัญชา เดิมพันตำรวจโทบุญมีเข้าใจว่าคนร้ายเป็นทหารพรานเพราะที่หมู่บ้านนั้นมีทหารพรานอยู่1 กองร้อย วันรุ่งขึ้นจึงจัดทหารพรานและผู้ชายในหมู่บ้านมาให้นางสาวสุพลชี้ตัว แต่นางสุพลก็ไม่ชี้ใคร จึงให้นายมิ่งส่งภาษาใบ้สอบถามเพิ่มเติม นางสาวสุพลก็เอาดินมาแปะหรือทาที่หน้าแข้งทั้งสองข้างหมายความว่า คนร้ายมีแผลเป็นที่ขา ขยับมือเหมือนคนขี่รถจักรยานยนต์ และแสดงท่าทางว่าคนร้ายเคยมาพักที่บ้านนายมิ่ง นายมิ่งจึงนึกถึงจำเลยที่เคยเป็นชาวเขาอาสาสมัครซึ่งมีเครื่องแบบคล้ายทหารชุดสีเขียวมีหมวก ดังนั้นพันตำรวจโทบุญมีจึงพานางสาวสุพลมาที่บ้านจำเลย เมื่อถึงบ้านจำเลยพอนางสาวสุพลเห็นรถจักรยานยนต์อยู่ใต้ถุนบ้านก็ชี้มือไปที่รถร้องเย้ ๆ หมายความว่าเป็นรถของคนร้าย เมื่อขึ้นไปบนเรือนนางสาวสุพลก็ไปชี้ที่เสื้อแขนสั้นสีน้ำเงิน และกางเกงผ้ายีนสีน้ำตาลเก่า ๆ ซึ่งตากอยู่ส่งภาษาใบ้บอกว่าเป็นเสื้อผ้าของคนร้าย เมื่อเห็นซึงที่แขวนอยู่ข้างฝานางสาวสุพลก็ชี้และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจค้นพบบัตรประชาชนของจำเลยนางสาวสุพลก็ชี้ที่ภาพถ่ายติดบัตรประชาชนส่งภาษาใบ้บอกว่าเป็นคนร้าย ยิ่งไปกว่านั้นขณะอยู่ใต้ถุนนางสาวสุพลก็ได้หยิบไม้ไผ่ซึ่งมีรอยตัดมาใหม่ ๆ ให้ดูไม้ไผ่ดังกล่าวปรากฏจากคำเบิกความของนายมิ่งว่า มีเฉพาะที่ป่าห้วยแม่เขียงอันเป็นที่เกิดเหตุ ป่ารอบ ๆ บ้านจำเลยจะไม่มีไม้ไผ่ชนิดนี้ ในที่สุดเมื่อได้ตัวจำเลยมานางสาวสุพลก็ชี้ตัวจำเลยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจถ่ายภาพไว้ โดยเฉพาะภาพถ่ายภาพที่ 22เอกสารหมาย จ.10 เห็นได้ชัดเจนว่าจำเลยเป็นโรคผิวหนังตั้งแต่ใต้หัวเข่าลงมาถึงข้อเท้าทั้งสองข้าง
จากการบอกลักษณะของคนร้ายด้วยวิธีส่งภาษาใบ้ดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าตรงกับลักษณะของจำเลยเกือบทั้งสิ้นตั้งแต่รูปร่างหนวด เครื่องดนตรี รถจักรยานยนต์ โรคผิวหนังที่เห็นได้ชัดจากภาพถ่ายที่ขาทั้งสองข้าง รวมทั้งเรื่องการเป็นทหารจำเลยก็เบิกความยอมรับว่าเคยเป็นชาวเขาอาสาสมัคร ดังนั้นคำเบิกความของนางสาวสุพลโดยวิธีตอบคำถามด้วยการส่งภาษาใบ้ที่ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ข่มขืนกระทำชำเราและฆ่าผู้ตายจึงรับฟังได้ว่า เป็นความจริง
ข้อที่ศาลชั้นต้นตำหนิว่า ในชั้นศาลนางสาวสุพลเบิกความไม่ละเอียดเหมือนชั้นสอบสวนนั้น เห็นว่า การที่เบิกความในชั้นศาลแม้จะไม่ละเอียดเหมือนในชั้นสอบสวนแต่ความสำคัญตรงกัน นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับผู้ถามว่าจะถามละเอียดเพียงใด ดังจะเห็นได้ว่าชั้นสอบสวนมีการสอบถามโดยละเอียด 2 ครั้งโดยใช้ผู้ถามต่างกันแต่ก็ปรากฏว่านางสาวสุพลก็ให้การตรงกันเกือบหมดดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.15 จ.16 ส่วนข้อที่ว่า เมื่อศาลอ่านคำให้การที่ศาลจดบันทึกมาถึงตอนที่ว่า “ระหว่างทางพบชายคนหนึ่งคือจำเลย”ล่ามได้ให้พยานดูรอบ ๆ ห้องพิจารณา 3 ครั้ง พยานจึงชี้ไปที่นายหมอก แจ้งสว่าง พี่ชายของจำเลยซึ่งสวมเสื้อสีเหลืองคล้ายกับเสื้อของจำเลยและชี้จำเลยด้วยนั้น อาจจะเป็นเพราะนางสาวสุพลไม่เข้าใจความหมายของคำถามก็ได้ เพราะไปชี้ให้ดูรอบ ๆ ห้องพิจารณาหาใช่เป็นข้อที่จะแสดงว่าการชี้ตัวคนร้ายอาจจะสับสนดังที่อ้างไม่
จากเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์โดยเฉพาะคำเบิกความของนางสาวสุพลรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ข่มขืนกระทำชำเราและฆ่าผู้ตายดังฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share