คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4975/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงการสนับสนุนการกระทำความผิดหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง จำเลยที่ 1 ก็ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, วรรคสอง, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 10 ริบเทปพันสายไฟและเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 ให้การรับว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยกรดพัฒนา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาทจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 (ที่ถูกไม่ต้องปรับบทพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ด้วย) ให้ลงโทษประหารชีวิต ริบเมทแอมเฟตามีนและเทปพันสายไฟของกลาง สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
โจทก์ และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) หนึ่งให้สามแล้ว คงจำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 6 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจนำหมายค้นตรวจค้นเมทแอมเฟตามีนที่บ้านจำเลยที่ 2 ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย ต่อมาเวลาประมาณ 8 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจนำหมายค้นตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 1 พบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 19,416 เม็ด กับลักษณะแตกเป็นผงจำนวน 1 ถุง ในถุงย่ามซุกซ่อนอยู่ในยุ้งข้าว จึงยึดไว้เป็นของกลางและจับกุมจำเลยที่ 1 ดำเนินคดีในข้อหาว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จากนั้นได้จับกุมจำเลยที่ 2 ตามหมายจับในข้อหาร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดดังกล่าว ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พฤติการณ์กระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงการสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ใช่เป็นตัวการและขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงการสนับสนุนการกระทำความผิดหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง จำเลยที่ 1 ก็ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ปัญหานี้ได้ความตามคำเบิกความของพันตำรวจโทศักดิ์ ชัยเรือนภู่ และจ่าสิบตำรวจจักรชัย สิงหรัตน์ พยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 1 ว่าในการไปตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 1 พบจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 แจ้งว่าจำเลยที่ 2 กับสามีนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาฝากโดยบอกว่า หากจำหน่ายได้แล้วจะให้เงินเป็นค่าตอบแทน เมทแอมเฟตามีนของกลางใส่ไว้ในถุงย่ามซุกซ่อนอยู่ในยุ้งข้าวในบ้านจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าจำเลยที่ 2 กับสามีนำมาฝากไว้ แต่จำเลยที่ 1 ก็ทราบดีว่าเป็นเมทแอมเฟตามีน เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 เป็นเวลาหลายวัน และมีจำนวนมาก คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ 324.361 กรัม เกินกว่า 100 กรัม ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นตัวการในการกระทำความผิดไม่ใช่ผู้สนับสนุนดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา เมทแอมเฟตมีนของกลางจำนวนมากเช่นนี้ หากนำออกจำหน่ายแพร่หลายสู่ประชาชนย่อมก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม เป็นภัยต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศชาติอย่างร้ายแรง ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายรักษาความสงบในหมู่บ้านที่เกิดเหตุ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้นนับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทศักดิ์ชัยและจ่าสิบตำรวจจักร์ชัยเบิกความว่าในวันเกิดเหตุได้มีการตรวจค้นที่บ้านจำเลยที่ 2 ก่อน แต่ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย ระหว่างเดินทางกลับได้พบกับสายลับอีกคนหนึ่งแจ้งว่าจำเลยที่ 2 นำเมทแอมเฟตามีนไปฝากไว้ที่บ้านจำเลยที่ 1 พันตำรวจโทศักดิ์ชัยจึงดำเนินการออกหมายค้นบ้านจำเลยที่ 1 เมื่อไปถึงบ้านจำเลยที่ 1 พบจำเลยที่ 1 พันตำรวจโทศักดิ์ชัยสอบถามจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 2 กับสามีนำเมทแอมเฟตามีนมาฝากไว้จริงหรือไม่ จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าจำเลยที่ 2 กับสามีมาหาจำเลยที่ 1 ที่บ้าน นำเมทแอมเฟตามีนมาฝากไว้ โดยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ยังคงให้การรับว่าจำเลยที่ 2 กับสามีนำเมทแอมเฟตามีนฝากไว้เช่นเดิม เห็นว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางตรวจค้นพบซุกซ่อนไว้ในยุ้งข้าวในบ้านจำเลยที่ 1 โดยพยานโจทก์ทั้งสองอ้างว่ามีสายลับอีกคนหนึ่งมาบอกว่า จำเลยที่ 2 กับสามีนำเมทแอมเฟตามีนไปฝากไว้ที่บ้านจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ก็ไม่ได้นำสายลับมาสืบ ทำให้จำเลยที่ 2 เสียเปรียบเพราะไม่มีโอกาสถามค้านสายลับ เพื่อให้ข้อเท็จจริงกระจ่างชัดว่าสายลับผู้นี้ทราบหรือรู้เห็นได้อย่างไรว่าจำเลยที่ 2 นำเมทแอมเฟตามีนไปฝากจำเลยที่ 1 ไว้ และแม้จำเลยที่ 1 จะแจ้งแก่พยานโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยที่ 2 กับสามีนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาฝากไว้ดังกล่าวก็เป็นคำซัดทอดของผู้กระทำความผิดเพื่อให้ตนเองพ้นจากการเป็นผู้ต้องหา จึงมีน้ำหนักน้อยที่จะนำมาใช้ยันจำเลยที่ 2 ซึ่งให้การปฏิเสธตลอดมาหาได้ไม่ พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่ชัดแจ้งที่จะฟังว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share