แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 125 วรรคสาม กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่า ในกรณีที่นายจ้างไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง และนายจ้างประสงค์จะนำคดีไปสู่ศาลแรงงานเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งนั้น นายจ้างจะต้องวางเงินตามจำนวนที่นายจ้างประสงค์จะโต้แย้งต่อศาลซึ่งอาจเป็นจำนวนทั้งหมดตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานหรือเพียงบางส่วนก็ได้ และในกรณีที่เป็นการโต้แย้งคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเพียงบางส่วน นายจ้างจะต้องชำระเงินส่วนที่ไม่ติดใจโต้แย้งแก่ลูกจ้างเสียก่อนนายจ้างจึงจะมีอำนาจฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินให้แก่ ฐ. กับพวกรวม 43 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์เป็นเงิน 6,505,487 บาท โจทก์เพียงแต่อ้างว่าโจทก์ควรจ่ายเงินให้แก่ ฐ. กับพวกเพียง 497,801 บาท เท่านั้น แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ ฐ. กับพวกแต่อย่างใด ดังนั้น หากโจทก์ต้องการนำคดีไปสู่ศาลแรงงานเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 โจทก์ต้องวางเงินจำนวน 6,505,487 บาท มิใช่จำนวน 497,801 บาท
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน ที่ให้โจทก์จ่ายค่าจ้าง ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าคอมมิชชัน และค่าชดเชยให้แก่นางสาวฐิติภา โตบัญชาพร กับพวกรวม 43 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์เป็นเงินรวม 6,505,487 บาท โดยโจทก์กล่าวอ้างโดยสรุปว่าโจทก์ต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่นางสาวฐิติภากับพวกเป็นเงินเพียง 497,801 บาท ตามที่โจทก์เคยเสนอไว้เท่านั้น และโจทก์ขอวางเงินจำนวน 497,801 บาท ต่อศาล
ศาลแรงงานกลางไม่อนุญาตและมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินค่าจ้าง ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าคอมมิชชัน และค่าชดเชยให้แก่นางสาวฐิติภากับพวกรวม 43 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์เป็นเงินรวม 6,505,487 บาท โจทก์อ้างว่าโจทก์ควรจ่ายเงินให้แก่นางสาวฐิติภากับพวกเป็นเงินเพียง 497,801 บาท เท่านั้น และโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้โดยจะขอวางเงินต่อศาลจำนวน 497,801 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ในการยื่นฟ้องคดีนี้โจทก์จะต้องวางเงินต่อศาลเพียงใด เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง” และวรรคสามบัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้” ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่า ในกรณีที่นายจ้างไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง และนายจ้างประสงค์จะนำคดีไปสู่ศาลแรงงานเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งนั้น นายจ้างจะต้องวางเงินตามจำนวนที่นายจ้างประสงค์จะโต้แย้งต่อศาลซึ่งอาจเป็นจำนวนทั้งหมดตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน หรือเพียงบางส่วนก็ได้ และในกรณีที่เป็นการโต้แย้งคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเพียงบางส่วน นายจ้างจะต้องชำระเงินส่วนที่ไม่ติดใจโต้แย้งแก่ลูกจ้างเสียก่อน นายจ้างจึงจะมีอำนาจฟ้อง คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินให้แก่นางสาวฐิติภากับพวกรวม 43 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์เป็นเงินรวม 6,505,487 บาท โจทก์เพียงแต่อ้างว่าโจทก์ควรจ่ายเงินให้แก่นางสาวฐิติภากับพวกเพียง 497,801 บาท เท่านั้น แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่นางสาวฐิติภากับพวกแต่อย่างใด ฉะนั้นหากโจทก์ต้องการนำคดีไปสู่ศาลแรงงานเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว โจทก์ต้องวางเงินจำนวน 6,505,487 บาท ต่อศาลแรงงานกลางก่อน โจทก์จึงจะมีอำนาจฟ้อง มิใช่วางเงินจำนวน 497,801 บาท ตามที่โจทก์อ้าง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน