คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4744/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) ที่ให้ถอนสัญชาติไทยแก่บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายและขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็นผู้ที่มาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองนั้น ข้อความที่ว่า”ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย” ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าหมายถึงคนต่างด้าวที่มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไทย เพราะเป็นข้อความที่ใช้ถ้อยคำติดต่อกันตลอดไม่มีลักษณะที่จะให้เข้าใจได้ว่าต้องการจะให้แยกความหมายของคำว่า “เข้ามา” กับคำว่า “อยู่”ออกจากกันเหมือนดังที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ที่ใช้คำว่า “เข้ามาหรืออยู่” ซึ่งเห็นได้ชัดว่าต้องการให้มีผลบังคับถึงคนต่างด้าวทั้งที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร กับที่อยู่ในราชอาณาจักรอยู่แล้วโดยมิได้เดินทางมาจากนอกราชอาณาจักรด้วย โดยที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3)เป็นกฎหมายที่มีลักษณะถอนสิทธิของบุคคลจึงต้องแปลความโดยเคร่งครัดดังนั้น กรณีของนาง ท. มารดาโจทก์ทั้งสามเกิดในราชอาณาจักรไทยแม้จะถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ข้อ 1(3) กลายเป็นคนต่างด้าวและอยู่ในราชอาณาจักรไทยต่อมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็มิใช่เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามความหมายแห่งประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรนาง ท. และเกิดในราชอาณาจักรไทยจึงมิใช่บุคคลตามข้อ 1แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 แม้โจทก์ทั้งสามจะเกิดภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ใช้บังคับแล้วก็ไม่ต้องด้วยกรณีที่จะไม่ได้สัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ข้อ 2 โจทก์ทั้งสามจึงได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7(3) และไม่ถูกถอนสัญชาติไทยโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) แม้จะปรากฏตามคำฟ้องว่าโจทก์ระบุชื่อนาย ส. เป็นจำเลยโดยไม่ได้ระบุตำแหน่งของจำเลยในฐานะเป็นนายอำเภอบึงกาฬมาด้วยก็ตามแต่การจะพิจารณาว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะใดนั้น จะต้องพิจารณาถึงข้อความในฟ้องประกอบกันด้วย ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าจำเลยเป็นข้าราชการมีตำแหน่งเป็นนายอำเภอบึงกาฬจังหวัดหนองคาย เมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้จดทะเบียนให้โจทก์เป็นคนสัญชาติไทยต่อจำเลย จำเลยมีหน้าที่จดทะเบียนสัญชาติไทยให้แก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย จึงถือว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยในฐานะเป็นนายอำเภอบึงกาฬแล้ว โจทก์หาได้ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวไม่ ปรากฏว่าเมื่อบิดาของโจทก์ทั้งสามได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยให้จดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสามเป็นคนสัญชาติไทย แต่จำเลยเพิกเฉยการกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในเรื่องสัญชาติแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะนายอำเภอบึงกาฬให้จดทะเบียนสัญชาติไทยให้แก่โจทก์ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นข้าราชการมีตำแหน่งเป็นนายอำเภอบึงกาฬจังหวัดหนองคาย สังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีหน้าที่จดทะเบียนสัญชาติไทยให้แก่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรของนายวัลคำ นางทำ เพ็งทองบิดาโจทก์เป็นคนไทย แต่มารดาเป็นบุตรคนญวนที่เกิดในประเทศไทยที่อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย นามสกุลเดิมเหงียนถิ มีบัตรประจำตัวคนญวนอพยพ ได้ทำการสมรสกันตามประเพณีพื้นเมืองที่จังหวัดหนองคายเมื่อ พ.ศ. 2518 มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือโจทก์ทั้งสาม โจทก์ที่ 1อายุ 8 ขวบ โจทก์ที่ 2 อายุ 5 ขวบ โจทก์ที่ 3 อายุ 3 ขวบ ทุกคนเกิดที่อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย ต่อมาได้จดทะเบียนสมรสกันวันที่ 6 กรกฎาคม 2526 โจทก์ทั้งสามจึงมิใช่บุคคลประเภทหนึ่งประเภทใดที่จะต้องไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2528 บิดาโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยขอให้จดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสามเป็นคนสัญชาติไทย แต่จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยรับจดทะเบียนสัญชาติไทยให้แก่โจทก์ทุกคนในเอกสารต่าง ๆ ตามกฎหมาย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นการส่วนตัวจำเลยกระทำการต่าง ๆ ตามฟ้องในฐานะนายอำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคายจำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะจดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสามเป็นคนสัญชาติไทยเพราะไม่มีกฎหมายหรือระเบียบราชการให้อำนาจไว้นางทำ เหงียนถิ มารดาโจทก์ทั้งสามจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทยจำเลยไม่อาจรับรองได้ หากศาลฟังว่าเกิดนอกราชอาณาจักรไทยก็ถือว่าเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โจทก์ทั้งสามจึงเป็นบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่โจทก์ทั้งสามเกิดมารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1 และโจทก์ทั้งสามเกิดภายหลังประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับแล้ว โจทก์ทั้งสามจึงไม่ได้สัญชาติไทย หากศาลฟังว่า มารดาโจทก์เกิดในราชอาณาจักรไทย บิดามารดาของมารดาโจทก์ก็เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองมารดาโจทก์จึงถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวมารดาโจทก์ทั้งสามจึงเป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติญวน สัญชาติญวนตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2515 การที่ยังคงอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่วันที่ถูกถอนสัญชาติไทย จนถึงปัจจุบันอันเป็นการอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองโจทก์ทั้งสามจึงไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ข้อ 2 จำเลยในฐานะนายอำเภอบึงกาฬไม่สามารถจดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสามเป็นคนสัญชาติไทยเพราะขัดต่อกฎหมายและระเบียบของทางราชการ โจทก์ฟ้องจำเลยโดยยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะนายอำเภอบึงกาฬ ขอให้พิพากษายกฟ้องศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยในฐานะนายอำเภอบึงกาฬจดทะเบียนสัญชาติไทยแก่โจทก์ทั้งสามในเอกสารต่าง ๆ ตามกฎหมายส่วนคำขอที่ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาของจำเลยแทนหากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงคงฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์โดยคู่ความมิได้โต้เถียงกันว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรนายวัล คำเพ็งทองกับนางทำ เพ็งทอง (หรือเหงียนถิ) โดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2526 ภายหลังที่โจทก์ทั้งสามเกิดแล้ว นายวัลคำเป็นคนไทย ส่วนนางทำเกิดในราชอาณาจักรไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 เนื่องจากบิดามารดานางทำเป็นคนเชื้อชาติญวน สัญชาติญวน และเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โจทก์ทั้งสามเกิดที่อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย โจทก์ที่ 1 เกิดวันที่ 20 มีนาคม2520 โจทก์ที่ 2 เกิดวันที่ 29 พฤษภาคม 2523 โจทก์ที่ 3 เกิดวันที่ 12 ตุลาคม 2525 ส่วนจำเลยรับราชการในตำแหน่งนายอำเภอบึงกาฬจังหวัดหนองคาย มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการที่วางไว้ มีปัญหาวินิจฉัยในข้อแรกว่า โจทก์ทั้งสามต้องด้วยกรณีไม่ได้สัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 2 หรือไม่จำเลยฎีกาว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) ที่ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายและในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองข้อความว่า “เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย” ตามความในประกาศของคณะปฏิวัตินั้น คำว่า “เข้ามา” กับคำว่า “อยู่” เป็นคำกริยาที่สามารถแยกออกจากกันได้เป็นอิสระและมีความหมายสมบูรณ์ในตัวเองดังนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 จึงมิได้มุ่งจะถอนหรือไม่ให้สัญชาติไทยแก่บุตรของคนต่างด้าวซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทย แต่เดินทางเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงการถอนหรือไม่ให้สัญชาติไทยแก่บุตรของคนต่างด้าวที่มิได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย แต่อยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองด้วย โจทก์ทั้งสามเกิดภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ใช้บังคับแล้ว โดยมีมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายและในขณะที่เกิดนั้นมารดาเป็นผู้ที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองโจทก์ทั้งสามจึงไม่ได้สัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 2 ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) ที่ให้ถอนสัญชาติไทยแก่บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย และขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองนั้น ข้อความที่ว่า “ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย” ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าหมายถึงคนต่างด้าวที่มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไทย แต่เดินทางเข้ามาเพื่อจะอยู่อาศัยในราชอาณาจักรไทยเพราะเป็นข้อความที่ใช้ถ้อยคำติดต่อกันตลอด ไม่มีลักษณะที่จะให้เข้าใจได้ว่าต้องการจะให้แยกความหมายของคำว่า “เข้ามา” กับคำว่า “อยู่” ออกจากกัน หากจะให้มีความหมายดังที่จำเลยฎีกาก็น่าจะแยกถ้อยคำโดยใช้ข้อความว่า “เป็นผู้ที่เข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรไทย” ซึ่งจะแยกความหมายออกเป็นสองกรณีให้เห็นได้อย่างชัดแจ้ง และตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันก็ได้บัญญัติข้อความที่มีความหมายตามที่จำเลยฎีกาขึ้นมาอยู่แล้วในมาตรา 54 ว่า “คนต่างด้าวผู้ใดเข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่รับอนุญาต…” ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า บทบัญญัติมาตรานี้ต้องการให้มีผลบังคับถึงคนต่างด้าวทั้งที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร กับที่อยู่ในราชอาณาจักรอยู่แล้วโดยมิได้เดินทางมาจากนอกราชอาณาจักรกฎหมายจึงบัญญัติโดยใช้คำว่า”เข้ามาหรืออยู่” มิฉะนั้นคงไม่ใช่ถ้อยคำแยกกันเช่นนั้น โดยเหตุนี้ความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลักษณะเป็นการถอนสิทธิของบุคคลจำต้องแปลความโดยเคร่งครัดมิใช่แปลขยายความให้กว้างออกไปดังเช่นที่จำเลยฎีกา ดังนั้นกรณีของนางทำซึ่งเกิดในราชอาณาจักรไทย แม้จะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) กลายเป็นคนต่างด้าวและอยู่ในราชอาณาจักรไทยต่อมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็มิใช่เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามความหมายแห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรของนางทำ และเกิดในราชอาณาจักรไทยจึงมิใช่บุคคลตามข้อ 1 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 แม้โจทก์ทั้งสามจะเกิดภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ใช้บังคับแล้ว ก็ไม่ต้องด้วยกรณีที่จะไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 2 โจทก์ทั้งสามจึงได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) และไม่ถูกถอนสัญชาติไทยโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3)ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวมิใช่ฟ้องในฐานะเป็นนายอำเภอบึงกาฬ จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้จะปรากฏตามคำฟ้องว่าโจทก์ระบุชื่อนายสุริยนหมั่นอุตส่าห์ เป็นจำเลยโดยไม่ได้ระบุตำแหน่งของจำเลยในฐานะเป็นนายอำเภอบึงกาฬ มาด้วยก็ตาม แต่การจะพิจารณาว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะใดนั้นจะต้องพิจารณาถึงข้อความในฟ้องประกอบกันด้วยซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องไว้อย่างชัดเจนในข้อ 3 แล้วว่า จำเลยเป็นข้าราชการมีตำแหน่งเป็นนายอำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย เมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้จดทะเบียนให้โจทก์เป็นคนสัญชาติไทยต่อจำเลย จำเลยมีหน้าที่จดทะเบียนสัญชาติไทยให้แก่โจทก์ จำเลยเพิกเฉย จึงถือว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยในฐานะเป็นนายอำเภอบึงกาฬ แล้ว โจทก์หาได้ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวไม่ สำหรับฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิ และจำเลยไม่มีหน้าที่จดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสามเป็นคนสัญชาติไทยนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า บิดาของโจทก์ทั้งสามได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยในฐานะนายอำเภอบึงกาฬ ให้จดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสามเป็นคนสัญชาติไทย แต่จำเลยเพิกเฉย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในเรื่องสัญชาติแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะเป็นนายอำเภอบึงกาฬ ให้จดทะเบียนสัญชาติไทยให้แก่โจทก์ได้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share