คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4731/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ครอบครองทำกินในที่พิพาทตลอดมา โจทก์เคยบอกจำเลยว่าได้ซื้อที่พิพาทมาจากผู้อื่นจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง กรณีถือได้ว่าโจทก์ได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังจำเลยว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่พิพาทโดยสุจริตโดยครอบครองเพื่อตนแล้ว เมื่อเป็นเวลาเกินกว่า1 ปี และจำเลยไม่ได้ฟ้องเอาคืนภายในเวลาดังกล่าว ที่พิพาทจึงตกเป็นของโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณ 40 ปี มานี้นางสี สีหาบุญทอง มีที่ดิน 1 แปลง ปี 2515 นางสีได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ปี 2522 นางสีได้ยกที่ดินดังกล่าวให้นางจอม สีหาบุตรโต และได้จดทะเบียนโอนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ปี 2523 นางจอมได้ขายที่ดินที่ได้รับการยกให้แก่โจทก์ในราคา 40,000 บาท โดยทำสัญญาและจดทะเบียนซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย และจำเลยทราบดีแต่ไม่ได้คัดค้าน นับแต่ซื้อโจทก์ได้ครอบครองที่ดินโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เป็นเวลา 5 ปีเศษแล้ว ปี 2529จำเลยได้บุกรุกเข้ามาในที่ดินของโจทก์ โดยอ้างว่าเป็นมรดกของนางทองซึ่งตกทอดแก่จำเลย ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินเนื้อที่พิพาท ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องต่อไป
จำเลยให้การว่า เดิมที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสี และเมื่อปี 2515 นางสีได้โอนที่ดินให้นางทอง หลังจากนางทองถึงแก่กรรมแล้วมีนายวิชิต นายจันทร์ และนางสีเป็นผู้ครอบครองที่ดินแทนจำเลยและทายาทของนางทอง ปี 2521 นายวิชิตและนางสี โดยความรู้เห็นของโจทก์ ได้ร่วมกันฉ้อฉลกับเจ้าพนักงานที่ดิน ออก น.ส.3 ก.ให้นางสีและนางสีโอนที่ดินให้นางจอม และต่อมานางจอมโอนขายให้โจทก์โดยรู้อยู่แล้วว่านางจอมได้ที่ดินมาโดยการฉ้อฉล ที่ดินยังเป็นของนางทอง จำเลยไม่ได้เข้าไปโต้แย้งการครอบครองของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นบุตรนางทองและนางทองเป็นบุตรนางสี เดิมที่ดิน 1 แปลงเนื้อที่ประมาณ 61 ไร่เป็นของนางสีและในวันเดียวกันนั้นเองนางสีได้ยกที่ดินให้นางทองนางทองถึงแก่กรรมเมื่อปี 2521 และในปีเดียวกันนั้นเองนางสีนำที่ดินแปลงที่กล่าวข้างต้นไปออก น.ส.3 ก. เป็นของนางสีเนื้อที่ 58 ไร่ 5 ตารางวา ปรากฏตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 3396 ต่อมานางสียกให้นางจอม เนื้อที่ 21 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา และหลังจากนั้นวันที่ 14 มีนาคม 2523 นางจอมขายให้โจทก์ซึ่งเป็นที่พิพาท วันที่29 สิงหาคม 2526 ทางราชการมีคำสั่งให้เพิกถอน น.ส.3 ก. คดีมีประเด็นว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลยแล้ววินิจฉัยต่อไปว่า”แม้นางสีจะขอให้ออก น.ส.3 ก. ตามเอกสารหมาย จ.ล.2 โดยไม่ชอบแต่จำเลยก็ไม่ได้นำสืบให้สมตามคำให้การว่า โจทก์รู้เห็นในการกระทำดังกล่าวด้วย ดังนั้นแม้จะฟังได้ว่านางสีนำที่พิพาทซึ่งเป็นของนางทองมารดาจำเลยไปยกให้นางจอมโดยไม่มีสิทธิ และต่อมานางจอมได้จดทะเบียนโอนขายให้แก่โจทก์ ถือว่าโจทก์ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ซึ่งเท่ากับโจทก์ครอบครองที่พิพาทแทนนางทองมารดาจำเลยก็ตาม แต่เมื่อจำเลยเบิกความตอบโจทก์รับว่าเมื่อปี 2524โจทก์บอกกับจำเลยว่าได้ซื้อที่พิพาท จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ครอบครองทำกินที่พิพาทตลอดมาเช่นนี้ กรณีถือได้ว่าโจทก์ได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังจำเลยผู้เป็นทายาทของนางทองเจ้าของที่พิพาท ผู้ถึงแก่กรรมว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่พิพาทโดยสุจริต โดยครอบครองเพื่อตนแล้ว เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ครอบครองที่พิพาทตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เป็นต้นมาซึ่งเป็นเวลาเกินกว่า1 ปี และจำเลยไม่ได้ฟ้องเอาคืน ซึ่งการครอบครองภายในเวลาดังกล่าวที่พิพาทจึงตกเป็นของโจทก์ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ที่พิพาทตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องต่อไป.

Share