แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ส่งเอกสารสัญญากู้ไปให้กองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ ตรวจพิสูจน์ ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งในเรื่องนี้ คงมีคำสั่งในคำร้องของจำเลยฉบับเดียวกันนี้เพียงว่า ให้นำสำนวนคดีที่จำเลยอ้างมาผูกรวมไว้ เมื่อศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานจำเลยจนจำเลยแถลงหมดพยานไม่ติดใจสืบพยานต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีเสร็จการพิจารณาและนัดฟังคำพิพากษา โดยไม่มีฝ่ายใดหยิบยกเรื่องการตรวจพิสูจน์เอกสารขึ้นเพื่อการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นอีกเลยดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้สละแล้วซึ่งการขอให้มีการตรวจพิสูจน์เอกสารและการนำสืบโดยผู้ชำนาญการพิเศษ ทั้งถือได้ว่าการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้เสร็จสิ้นแล้ว การที่จำเลยยกเอาข้อที่ตนได้สละ และมิได้เป็นข้อที่ว่ากันมาแต่ในศาลชั้นต้นมาเป็นข้ออุทธรณ์เพื่อขอให้มีการสืบพยานจำเลยในข้อนี้ จึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ที่แก้ไขใหม่ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
การตรวจบุคคล วัตถุ สถานที่ หรือตั้งผู้เชี่ยวชาญ ย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาลเมื่อเห็นเป็นการสมควร ซึ่งย่อมขึ้นอยู่แก่พฤติการณ์ของคดีแต่ละกรณี มิใช่เป็นการบังคับให้จำต้องกระทำเสมอไป ดังที่บัญญัติไว้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 99 และมาตรา 129 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลจังหวัดนครราชสีมาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑/๒๕๐๘ หมายเลขแดงที่ ๒๒๘๙/๒๕๒๐ ว่าโจทก์กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ (ก) โจทก์ได้ทำเอกสารสัญญากู้เงินปลอมขึ้นทั้งฉบับมีข้อความว่าจำเลยได้กู้เงินโจทก์ไป ๙๐,๐๐๐ บาท และปลอมลายมือชื่อจำเลยลงในช่องผู้กู้ (ข) โจทก์เอาความเท็จฟ้องจำเลยต่อชั้นต้นเดียวกันตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๓๙๐/๒๕๑๕ โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ ๙๐,๐๐๐ บาท แล้วโจทก์ได้เบิกความในประเด็นสำคัญแห่งคดีว่าจำเลยกู้เงิน ๙๐,๐๐๐ บาท และได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าโจทก์ ความจริงจำเลยไม่เคยกู้เงินจากโจทก์ และ (ค) โจทก์ได้ส่งเอกสารสัญญากู้อันเป็นข้อสำคัญในคดีต่อศาลว่าจำเลยได้กู้และเป็นหนี้เงินกู้โจทก์ กับได้นำสืบและแสดงพยานหลักฐานสัญญากู้อันเป็นเท็จต่อศาล ศาลชั้นต้นเชื่อตามหลักฐานการนำสืบอันเป็นเท็จของโจทก์ จึงพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี ขอให้ลงโทษโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘, ๑๗๗ และ ๑๘๐ ซึ่งคำฟ้องของจำเลยดังกล่าวในข้อ (ก) (ข) และ (ค) นั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดและเป็นความเท็จทั้งสิ้นความจริงคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๓๙๐/๒๕๑๕ ของศาลชั้นต้นโจทก์มิได้กระทำความผิด แต่ได้เบิกความไปตามความจริง ทั้งนำสืบและแสดงหลักฐานสัญญากู้ตามความจริง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๗๕
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๗๕ ให้ลงโทษจำคุก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นส่งเอกสารฉบับพิพาทไปตรวจพิสูจน์ความแท้จริงของลายมือชื่อผู้กู้แล้วพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่ส่งเอกสารสัญญากู้ฉบับพิพาทเพื่อการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อผู้กู้ในเอกสารดังกล่าว จะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบหรือไม่ เกี่ยวกับปัญหาข้อนี้ ข้อเท็จจริงได้ความตามท้องสำนวนว่า เมื่อศาลชั้นต้นทำการสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว ได้กำหนดวันนัดสืบพยานฝ่ายจำเลยในนัดต่อไป แต่ก่อนจะถึงวันนัดสืบพยานจำเลยจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเรียกเอกสารสำนวนคดีอื่นที่จำเลยอ้างตามบัญชีระบุพยาน กับขอให้ศาลชั้นต้นส่งเอกสารสัญญากู้และเอกสารบางอย่างไปเพื่อการตรวจพิสูจน์ดังปรากฏตามคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ สารบาญสำนวนอันดับ ๔๙ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าแม้จำเลยจะได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ส่งเอกสารสัญญากู้ไปเพื่อการตรวจพิสูจน์โดยกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ ก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นก็มิได้มีคำสั่งในเรื่องนี้อย่างใด คงมีคำสั่งในคำร้องของจำเลยฉบับเดียวกันนี้เพียงว่าให้นำสำนวนคดีตามที่จำเลยอ้างมาผูกรวมไว้กับสำนวนคดีนี้ และเมื่อศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานของจำเลยจนจำเลยแถลงหมดพยานไม่ติดใจสืบพยานต่อไป ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งว่าคดีเสร็จการพิจารณา และกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาในเวลาต่อมา ดังปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๒๔ โดยไม่มีฝ่ายใดที่จะหยิบยกเอาเรื่องนี้เพื่อการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นอีกเลย ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยแถลงต่อศาลว่าหมดพยานจำเลยไม่ติดใจที่จะสืบพยานต่อไปนั้น ถือได้ว่าจำเลยได้สละแล้วซึ่งการที่จะให้มีการตรวจพิสูจน์หลักฐาน และการนำสืบโดยผู้ชำนาญการพิเศษ อีกทั้งถือได้ว่าการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้เสร็จสิ้นแล้ว การที่จำเลยยกเอาข้อที่ตนได้สละและมิได้เป็นข้อที่ว่ากันมาแต่ในศาลชั้นต้นมาเป็นข้ออุทธรณ์ เพื่อขอให้มีการนำสืบพยาจำเลยในข้อนี้จึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ ที่แก้ไขใหม่ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ ไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ให้ ส่วนข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เป็นทำนองว่า การตรวจพิสูจน์เอกสารมีความจำเป็นที่ศาลชั้นต้นต้องกระทำนั้น เห็นว่า การตรวจบุคคล วัตถุ สถานที่ หรือตั้งผู้เชี่ยวชาญย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาลเมื่อเห็นเป็นการสมควร ดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๙ และมาตรา ๑๒๙ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ มิใช่เป็นการบังคับให้จำต้องกระทำเสมอไป ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่แก่การพฤติการณ์ของคดีแต่ละกรณีมิฉะนั้นแล้วศาลจะไม่อาจที่จะทำการพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ได้
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์ดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานเท่าที่โจทก์และจำเลยนำสืบ แล้วพิพากษาคดีเสียใหม่