คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3879/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “ผู้ขนส่ง” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 610 หมายถึงผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการขนส่งของหรือสินค้า ซึ่งผู้ส่งหรือผู้ตราส่งตกลงให้ผู้ขนส่งนำของหรือสินค้าไปส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่ง และมีหน้าที่จะต้องเป็นผู้ทำหรือออกใบตราส่งให้ในกรณีที่ผู้ส่งเรียกเอาใบตราส่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดังกล่าว จำเลยจึงเป็นผู้ขนส่ง ซึ่งต่างกับผู้ทำหน้าที่ขนหรือแบกหามสินค้าจากเรือขึ้นท่าเรือและจากท่าเรือลงบรรทุกในเรือ
หมายเหตุ ตามแนวฎีกาที่ 1665/2525 และฎีกาที่ 3630/2525

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยเยื่อไม้จำนวน ๕,๐๔๘ มัดไว้ต่อบริษัทสยามคราฟท์ เปเปอร์ จำกัด ระหว่างขนส่งจากท่าเรือเมืองแอลเบอนีรัฐบริติชโคลัมเบีย แคนาดา จนกว่าสินค้าจะถึงมือผู้เอาประกันภัยที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และจำเลยร่วมกับบริษัทฟาร์อีสเทอร์น ชิปปิ้ง คัมปะนี ขนส่งสินค้านั้น โดยบริษัทดังกล่าวขนจากต้นทางใช้เรือเดินทะเลชื่อ”อเล็คแซนด์ เซราฟิโมวิช” มาจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา จำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดที่ ๒ จากเรือไปยังบริษัทสยามคราฟท์ เปเปอร์ จำกัด ผู้รับตราส่ง และเป็นผู้ออกใบออกของซึ่งเรียกว่า “ดีลิเวอรี่ ออร์เดอร์” ปรากฏว่าจำเลยส่งมอบสินค้าขาดไป ๖๖๑ มัด และเปียกน้ำอีก ๒๒๑ มัด คิดเป็นค่าเสียหาย๘๖๙,๙๐๓.๕๙ บาท ซึ่งผู้ขนส่งจะต้องรับผิด ขอให้พิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ร่วมกับบริษัทฟาร์อีสเทอร์น ชิปปิ้งคัมปะนี ขนส่งสินค้าตามฟ้อง จำเลยมีหน้าที่ทำเพียงพิธีการเพื่อให้ของออกได้เท่านั้น บริษัทสยามคราฟท์ เปเปอร์ จำกัด ผู้รับตราส่งเป็นผู้ดำเนินการออกของเอง การขนถ่ายสินค้าลงจากเรือเดินทะเลเป็นเรื่องของบริษัทอื่น จำเลยไม่เคยออกใบออกของหรือดีลิเวอรี่ ออร์เดอร์ให้แก่บริษัทสยามคราฟท์ เปเปอร์ จำกัด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความว่าบริษัทฟาร์อีสเทอร์น ชิปปิ้ง คัมปะนีเป็นผู้ขนส่งกระดาษเยื่อไม้หรือเยื่อกระดาษจำนวน ๕,๐๔๘ มัด โดยเรืออเล็คแซนด์ เซราฟิโมวิช จากท่าเรือในประเทศแคนาดาซึ่งเป็นประเทศต้นทางมาส่งให้แก่บริษัทสยามคราฟท์ เปเปอร์ จำกัด ผู้ซื้อในประเทศไทย อันเป็นประเทศปลายทาง แต่เนื่องจากบริษัทฟาร์อีสเทอร์น ชิปปิ้ง คัมปะนี ไม่มีสาขาในประเทศไทย เมื่อเรืออเล็คแซนด์ เซราฟิโมวิช มาถึงประเทศไทยแล้วการขนส่งสินค้าจากเรือเพื่อส่งให้แก่บริษัทสยามคราฟท์ เปเปอร์ จำกัดจึงต้องกระทำโดยบุคคลอื่น ซึ่งโจทก์จำเลยนำสืบโต้เถียงกัน โดยฝ่ายโจทก์นำสืบว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดที่สอง รับผิดชอบในการขนสินค้าจากเรือเพื่อส่งมอบให้แก่บริษัทสยามคราฟท์ เปเปอร์ จำกัด ฝ่ายจำเลยนำสืบว่าผู้ขนส่งทอดที่สองคือห้างหุ้นส่วนจำกัดอัมพรแอนด์ซันส์ ปัญหาวินิจฉัยจึงมีว่า จำเลยหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดอัมพรแอนด์ซันส์ เป็นผู้ขนส่งสินค้าทอดที่สองจากเรืออเล็คแซนด์ เซราฟิโมวิช เพื่อส่งมอบให้แก่บริษัทสยามคราฟท์ เปเปอร์ จำกัด ปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า “ผู้ขนส่ง” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๑๐ นั้น หมายถึงผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการขนส่งของหรือสินค้าซึ่งผู้ส่งหรือผู้ตราส่งตกลงให้ผู้ขนส่งนำของหรือสินค้าไปส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่ง ซึ่งต่างกับผู้ทำหน้าที่ขนหรือแบกหามสินค้าจากเรือขึ้นท่าเรือ หรือจากท่าเรือลงบรรทุกในเรือ คำว่า “ผู้ขนส่ง” ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับภาษาอังกฤษใช้คำว่า “CARRIER” ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่ขนหรือแบกหามสินค้าขึ้นจากเรือหรือลงเรือ ณ ที่ท่าเรือนั้น หาใช่ผู้ขนส่งตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ ดังจะเห็นได้จากในหนังสือสัญญาซึ่งบริษัทโซวินฟลอตทำกับห้างหุ้นส่วนจำกัดอัมพรแอนด์ซันส์ และจำเลยเป็นผู้อ้างตามเอกสารหมาย ล.๓ ในหนังสือสัญญาดังกล่าวเรียกห้างหุ้นส่วนจำกัดอัมพรแอนด์ซันส์ว่า “STEVEDORES” ในคำแปลตามเอกสารหมาย ล.๔ ก็ใช้คำว่า “ผู้ขนสินค้า” หาใช่ “ผู้ขนส่ง” ไม่ และเมื่อพิเคราะห์ถึงหน้าที่ของห้างหุ้นส่วนจำกัดอัมพรแอนด์ซันส์ ตามสัญญาข้อ ๑ ก. ก็จะเห็นได้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดอัมพรแอนด์ซันส์มีหน้าที่เพียงการขนหรือแบกหามสินค้าขึ้นจากเรือไปยังที่ไว้ของบนท่าเรือ และขนสินค้าลงสู่ท้องเรือเท่านั้น นอกจากนั้นลักษณะหรือหน้าที่สำคัญของผู้ขนส่งอีกประการหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๑๓ ก็คือถ้าผู้ส่งเรียกเอาใบตราส่ง ผู้ขนส่งจะต้องเป็นผู้ทำหรือออกใบตราส่งให้การขนสินค้าขึ้นลงเรือที่ท่าเรือของห้างหุ้นส่วนจำกัดอัมพรแอนด์ซันส์หาจำต้องออกใบตราส่งไม่ ดังนั้นห้างหุ้นส่วนจำกัดอัมพรแอนด์ซันส์จึงไม่ใช่ผู้ขนส่ง คงแต่เพียงผู้ขนส่งสินค้าขึ้นจากเรือหรือลงบรรทุกในเรือ (STEVEDORES) เท่านั้น ในทางตรงกันข้ามจะเห็นได้ว่าผู้ที่รับผิดชอบในการขนส่งสินค้าทอดที่สองเพื่อส่งมอบให้แก่บริษัทสยามคราฟท์ เปเปอร์จำกัด ก็คือจำเลยนั่นเอง ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเรืออเล็คแซนด์ เซราฟิโมวิชมาถึงกรุงเทพ จำเลยก็เป็นผู้แจ้งต่อบริษัทสยามคราฟท์ เปเปอร์ จำกัดให้นำใบตราส่งมามอบต่อจำเลย และจำเลยเป็นผู้ออกใบส่งสินค้าหรือใบดีลิเวอรี่ ออร์เดอร์ เพื่อให้ผู้ขนสินค้าคือห้างหุ้นส่วนจำกัดอัมพรแอนด์ซันส์ ส่งมอบสินค้า ถ้าหากไม่มีใบปล่อยสินค้าที่จำเลยเป็นผู้ออกแล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัดอัมพรแอนด์ซันส์ ก็จะขนสินค้าส่งมอบให้แก่บริษัทสยามคราฟท์ เปเปอร์ จำกัด ไม่ได้ ค่าจ้างในการขนสินค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดอัมพรแอนด์ซันส์ จำเลยก็เป็นผู้จ่าย นอกจากนั้นยังปรากฏจากคำเบิกความของนายพินิจกรรมการผู้จัดการของจำเลยว่าจำเลยทำหน้าที่เป็นผู้ขนสินค้าลงเรือให้แก่เรืออเล็คแซนด์ เซราฟิโมวิชและเป็นผู้ออกใบตราส่งด้วย แสดงว่าในกรณีที่ต้องมีการขนส่งสินค้าหลายทอดนั้น จำเลยและบริษัทฟาร์อีสเทอร์น ชิปปิ้ง คัมปะนี ได้ร่วมกันเป็นผู้ขนส่ง กล่าวคือ ถ้าเป็นสินค้านำเข้าบริษัทฟาร์อีสเทอร์น ชิปปิ้งคัมปะนี เป็นผู้ออกใบตราส่ง ถ้าเป็นสินค้าส่งออกจำเลยจะเป็นผู้ออกใบตราส่ง ดังนั้นผู้ขนส่งสินค้าทอดสองคือจำเลย หาใช่ห้างหุ้นส่วนจำกัดอัมพรแอนด์ซันส์ไม่
สำหรับประเด็นเรื่องค่าเสียหายซึ่งยังมิได้วินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีเยื่อกระดาษสูญหายไปจำนวน ๖๖๑ มัด โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทสยามคราฟท์ เปเปอร์จำกัด ไปเป็นเงิน ๙๕๔,๐๘๔.๙๖ บาท จึงย่อมเข้ารับช่วงสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๘๐ แต่ปรากฏจากคำฟ้องว่าค่าเสียหายดังกล่าวผู้ขนส่งจะต้องรับผิดเพียง ๘๖๙,๙๐๓.๕๙ บาทโจทก์จึงรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยจากจำเลยเพียง ๘๖๙,๙๐๓.๕๙ บาท
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๘๖๙,๙๐๓.๕๙ บาทให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย ฯลฯ

Share