คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2447/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของโจทก์ ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นเสมือนผู้เอาประกันภัยเองตามข้อกำหนดในกรมธรรม์ประกันภัย ผู้รับประกันจึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ด้วยส่วนการที่ผู้ต้องเสียหายไม่ได้ฟ้องหรือเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู้คดีด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 887 วรรคสอง นั้นก็มีผลเพียงทำให้ผู้ต้องเสียหายไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ยังขาดจากผู้เอาประกันภัยได้เท่านั้น ไม่มีผลทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อผู้ต้องเสียหายและทำให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดไปด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายสันติ์ เทวาหุดี ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก-2810 เพชรบุรี ของโจทก์จากกรุงเทพมหานครมุ่งหน้าไปจังหวัดนครปฐมตามถนนสายปิ่นเกล้า-นครชัยศรี เมื่อถึงสี่แยกพุทธมณฑลสาย 2 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 1ป-5170 กรุงเทพมหานครของจำเลยที่ 2 มุ่งหน้าไปทางทิศใต้โดยไม่มองดูรถตรงทางแยกจึงแล่นตัดหน้ารถยนต์ของโจทก์ในระยะกระชั้นชิด เป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันชนกันรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายบริเวณส่วนหน้ารถรวม 17 รายการ ต้องเสียค่าจ้างซ่อมเป็นเงิน38,800 บาทและเสียเวลาซ่อม 45 วัน ทำให้ขาดประโยชน์ในการใช้งาน ขอค่าเสียหายอีกวันละ 200 บาท จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 เหตุเกิดในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปปฏิบัติงานให้แก่จำเลยที่ 2จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวจึงต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน48,285 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 38,800 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นรายจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 มิใช่ผู้ครอบครองและใช้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1ป-5170 กรุงเทพมหานคร จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 รับประกันรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1ป-5170 กรุงเทพมหานคร ไว้ในขณะเกิดเหตุจริง แต่รับประกันภัยไว้จากผู้อื่นมิใช่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะโจทก์มิได้ฟ้องหรือร้องผู้เอาประกันภัยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 44,800 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 38,800 บาท นับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2534จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 3 ฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่าตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.2 ข้อ 2.3 โจทก์ไม่ได้ฟ้องผู้เอาประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ป-5170กรุงเทพมหานคร เข้ามาในคดีด้วย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย และตามข้อ 2.8ในกรณีที่ผู้รับประกันภัยจะถือว่าผู้ขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเองนั้นเป็นเรื่องการคุ้มครองความเสียหายของรถยนต์ที่เอาประกันภัยเท่านั้น พิเคราะห์แล้วศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ป-5170 กรุงเทพมหานครซึ่งจำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้โดยประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนกับรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ขณะเกิดเหตุนายเจริญ ช้าเบ็ญจา ได้เช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 เจ้าของรถและได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.2 จำเลยที่ 2จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับรถยนต์คันดังกล่าว ไม่ต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ก่อนฟ้องผู้แทนจำเลยที่ 3เคยตกลงที่จะชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หากโจทก์ยอมลดค่าเสียหายลง แต่โจทก์ไม่ยอมจำเลยที่ 3 จึงปฏิเสธไม่ยอมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.10 และ จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวโดยได้รับความยินยอมจากนายเจริญผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาต้องถือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนให้รับผิดเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย ด้วยความประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นเสมือนผู้เอาประกันภัยเองตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.8 ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย ทั้งนายกฤษณา อัมพรทิวานนท์ผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 3 ก็เบิกความยอมรับว่าหากผู้เอาประกันภัยยินยอมให้ผู้ใดขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้แล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้น จำเลยที่ 3 ก็จะยอมรับผิดชอบด้วย นอกจากนี้ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคสองบัญญัติว่า “บุคคลผู้ต้องเสียหายที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย” ก็เพื่อจะได้พิจารณาความรับผิดของผู้เอาประกันและผู้รับประกันภัยไปพร้อมกันถ้าผู้ต้องเสียหายไม่ได้ฟ้องหรือเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู้คดีด้วย จะมีผลเพียงทำให้ผู้ต้องเสียหายไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ยังขาดจากผู้เอาประกันภัยได้เท่านั้นหาได้มีผลถึงกับทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อผู้ต้องเสียหายและทำให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1675/2516 ระหว่างกรมชลประทาน โจทก์ บริษัทเมืองไทยขนส่ง จำกัด กับพวกจำเลย และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 87/2521 ระหว่างนางจินตนา เกตุสัมพันธ์ กับพวก โจทก์ นายทวีสิน วงษาเมธินทร์กับพวก จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยที่ 3ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ใช่ค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share